๓๘๓. สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมจัดงานวันสตรีสากล ประจำปี ๒๕๖๓ รายได้สนันสนุนสาธารณประโยชน์ในพื้นที่
วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๓ นายธีระ พรชูตรง นายอำเภอบางปะกง เป็นประธานพิธีเปิดงานวันสตรีสากล ประจำปี ๒๕๖๓ จัดโดยคณะกรรมการพัฒนาสตรี ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย นางสุรวดี เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา นางอนันตยา พรชูตรง นายกกิ่งกาชาดอำเภอบางปะกง นางสาวกุญพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ผู้บริหารโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มสตรีอำเภอบางปะกง เข้าร่วมกิจกรรมกว่า ๑,๐๐๐ คน ณ บริเวณลานหน้าที่ว่าการอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
นางบุญรอด จอกแก้ว ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอบางปะกง กล่าวว่า การจัดงาน "วันสตรีสากล" เพื่อร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทย ศิลปะอันล้ำค่าของชาติ ให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจ ของคนไทยรวมถึงจัดหารายได้สำหรับการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอบางปะกง เพื่อช่วยเหลือ สตรี เด็ก เยาวชนและผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่อำเภอบางปะกง ที่สำคัญ รวมถึงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้เกิดกระแสความนิยม การแต่งกายผ้าไทย แก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยเน้นในกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ ให้ใช้ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นการสืบสานอนุรักษ์ ผ้าท้องถิ่นไทยให้คงคู่ อยู่ในแผ่นดินสืบไป ตลอดจนส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ เสริมสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่นอีกด้วยที่บริเวณลานหน้าที่ว่าการอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ
๓๘๒. สมาคมสตรีไทยแห่งประเทศไทย ฯ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ชวนกรรมการและสมาชิกตัดเย็บหน้ากากอนามัยแบบผ้า แก้วิกฤตขาดแคลนหน้ากากอนามัย
วันนี้ (๙ มีนาคม ๒๕๖๓) เวลา ๑๐.๐๐ น. นางสาวเบญจมาศ รุจิรวงศ์ นายกสมาคมสมาคมสตรีไทยแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดการจัดอบรมผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้า ครั้งที่ ๑ ประจำปี ๒๕๖๓ และได้รับเกียรติจาก นางสาวพูนทรัพย์ พิทักษ์นคร เป็นวิทยากรให้ความรู้ในการตัดเย็บหน้ากากอนามัยแบบผ้า มีกรรมการ และสมาชิก จำนวน ๓๐ คน ให้ความสนใจร่วมเรียนรู้การตัดเย็บหน้ากากอนามัยที่ผลิตด้วยผ้าในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ในเบื้องต้นเพื่อให้กรรมการและสมาชิกนำความรู้ การตัดเย็บหน้ากากอนามัยผ้า ไปถ่ายทอดให้ความรู้การตัดเย็บหน้ากากอนามัยชนิดผ้าแก่สมาชิกในครอบครัว และบุคคลใกล้ชิด เพื่อแก้วิกฤตการขาดแคลนหน้ากากอนามัยอีกทางหนึ่ง ณ สมาคมสตรีไทยแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรุงเทพฯ
นางสาวเบญจมาศ รุจิรวงศ์ กล่าวว่าจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID – ๑๙ รัฐบาลประกาศ เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ( COVID-๑๙ ) สมาคมสตรีไทยแห่งประเทศไทย ฯซึ่ง เป็นองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดกิจกรรมการเย็บหน้ากากอนามัยแบบผ้า ให้กับกรรมการและสมาชิกของสมาคมสตรีไทยแห่งประเทศไทย ฯ เพื่อให้สามารถตัดเย็บหน้ากากอนามัยแบบผ้าไว้ใช้เองได้ ที่บ้าน ทั้งนี้ การเลือกใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้า มีข้อดี สามารถนำมาซัก นำกลับมาใช้ซ้ำได้ ลดการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง เพราะหลังจากการใช้แล้ว จะกลายเป็นขยะติดเชื้อ จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกัน ใช้หน้ากากอนามัยป้องกันการสัมผัสกับไวรัส ปกป้องฝุ่นละอองและฝุ่นควันได้ในระดับหนึ่ง
ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์
๓๘๑. สมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรีและภาคีเครือข่ายสตรีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ” มอบถุงผ้า หน้ากากอนามัย แบ่งปันความห่วงใย ในโอกาสวันสตรีสากลประจำปี ๒๕๖๓
วันนี้ (๖ มีนาคม ๒๕๖๓) เวลา ๐๙.๐๐ น. นางนวลจันทร์ แย้มศรี ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันสตรีสากล ปี ๒๕๖๓ จัดโดยสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จ.พระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และภาคีเครือข่ายสตรีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์พลังสตรีศรีอยุธยาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและช่วยเหลือสังคม”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สตรีได้มีโอกาสแสดงออก และมีส่วนร่วมในการรณรงค์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ร่วมถึงกิจกรรมการกุศลและสาธารณประโยชน์ภายในชุมชน โดย นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ ประธานสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับและภาคีเครือข่ายสตรีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สนับสนุนมอบถุงผ้าแก่โรงพยาบาลทุกอำเภอ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมจำนวน ๙,๙๙๙ ใบ และ มอบ หน้ากากอนามัย ป้องกันไวรัสโควีท ๑๙ จำนวน ๗,๐๐๐ ชิ้น ให้กับ นางนวลจันทร์ แน้มศรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ ห้องประชุมอาคารอยุธยาพาวิเลียนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ “COVID-19″ (Coronavirus disease that was discovered in ๒๐๑๙) ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมไทย โดยเฉพาะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้ สตรีทุกอำเภอ รวมถึงผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ การสนับสนุนมอบถุงผ้าแก่โรงพยาบาลทุกอำเภอ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมจำนวน ๙,๙๙๙ ใบ และ มอบ หน้ากากอนามัย ป้องกันไวรัสโควีท ๑๙ จำนวน ๗,๐๐๐ ชิ้น ผ่าน นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อ ส่งมอบต่อให้ประธานสตรีทุกอำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสมาชิก เพื่อเป็นกำลังใจ จากสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรีและภาคีเครือข่ายสตรีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการแสดงพลังสตรีศรีอยุธยาร่วมแรงร่วมใจ แบ่งปัน ความรัก ความห่วงใย เพื่อผ่านพ้นวิกฤต ไปด้วยกัน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๓๘๐. สภาสตรีแห่งชาติฯ กรมการพัฒนาชุมชน และการประปาส่วนภูมิภาค ประกาศเจตจำนง รณรงค์ "สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน" ด้วยการสวมใส่ผ้าไทยทุกวัน สร้างเอกลักษณ์ไทย และหนุนเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เผยว่า “ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระปรีชาชาญ พระวิริยะ พระอุตสาหะ ในการรื้อฟื้นผ้าทอไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทย ส่งเสริมให้การทอผ้าเป็นอาชีพของชาวบ้านให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ที่ว่างเว้นจากการทำไร่ทำนาในอดีต โดยปัจจุบันผ้าไทยได้รับความนิยมจากทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ร่วมสวมใส่ผ้าไทย จนกระทั่งผ้าไทยได้รับเสียงชื่นชมในความเป็นไทย อนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยของคนท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีความสวยงาม มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ทำให้การทอผ้ากลายเป็นอาชีพหลักของกลุ่มสตรีในหลายจังหวัด ดังนั้น เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย
วันนี้ (๕ มีนาคม ๒๕๖๓) เวลา ๑๐.๐๐ น. กรมการการพัฒนาชุมชน สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดร.นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมลงนามฯ และมีนายบำรุงศักดิ์ ฉิ่งวังตะกอ รองผู้ว่าการ (บริหาร) การประปาส่วนภูมิภาค นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนางสาวนันทนา หวังธงชัยเจริญ ผู้ตรวจราชการกรม ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องโถง การประปาส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
ดร.นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การอนุรักษ์ ส่งเสริม ศิลปะผ้าไทย เพื่อสืบสานพระราชปณิธาณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อันเป็นสมบัติ วัฒนธรรมที่ล้ำค่าของประเทศ และด้วยพื้นที่การให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาค ที่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ การรณรงค์ให้ผู้บริหาร และพนักงานทั่วประเทศ สวมใส่ผ้าไทย อีกทั้งจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้น้ำได้เห็นถึงความสวยงามของผ้าไทย และกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม ที่จะรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความภาคภูมิใจของคนไทยให้คงอยู่ต่อไป รวมถึงการร่วมมือครั้งนี้ จะนำไปสู่การส่งเสริมการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้แก่กลุ่มสตรี และพี่น้องประชาชนในส่วนภูมิภาคอีกด้วย
นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว ในนามของกรมการพัฒนาชุมชน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือจากการประปาส่วนภูมิภาค และสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในการร่วมกันสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ครั้งนี้ ซึ่งเป็นการรวมพลังการสืบสาน อนุรักษ์ผ้าไทย ที่เป็นภูมิปัญญาคนไทย และรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทย และผ้าพื้นเมืองให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
ดร.วันดี กุลชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ดำเนินโครงการตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน เป็นโครงการแรก ซึ่งเราได้เดินทางไปศึกษาดูภูมิปัญญาผ้าไทยในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ก็ทำให้รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มากยิ่งขึ้นสุดหัวใจ มีความรู้สึกว่าท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ กับองค์กรสตรีไทย ของประเทศ ไม่รู้จะทดแทนได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของการดำเนินงานโครงการ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน ซึ่งได้มีพิธีลงนามฯ แล้วกว่า 70 จังหวัดทั่วประเทศ และ “ผ้าไทย” ถือเป็นเครื่องนุ่งหุ่มในปัจจัยสี่ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และผ้าทอแต่ละผืนล้วนแล้วแต่มีความงดงาม เป็นผ้าทอที่มีมูลค่า สวมใส่ในโอกาสสำคัญ โดยปัจจุบันผ้าทอไทยได้รับความนิยมจากทั้งคนไทยและคนต่างชาติ และหลายครอบครัวมีการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก ประกอบกับการออกแบบที่ทันสมัย ผ้าทอไทย จึงสามารถสวมใส่ได้ทุกโอกาส อีกทั้งการร่วมมือกันรณรงค์สวมใส่ผ้าไทยทุกวัน และหากทุกคนหันมาสวมใส่ผ้าไทยกันทุกคน จะทำให้เกิดการซื้อผ้าเพิ่มอย่างน้อยคนละ 10 เมตร หากสตรี 35 ล้านคน ใส่ผ้าไทยคนละ 10 เมตร รวม 350 ล้านเมตร เมตรละ 300 บาท เราจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนทันที 1 แสนล้านบาท มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง และยังรักษาภูมิปัญญาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของไทยไว้ ลูกหลานก็จะมีงานทำ จึงอยากขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย เพราะเงินทุกบาทจะช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และอยากให้การลงนามครั้งนี้ เป็นการลงนามที่มาจากใจของทุกท่าน และขอให้ทุกท่านเริ่มด้วยหัวใจ เริ่มจากคนใกล้ชิด เริ่มที่ตัวเรา สวมใส่ผ้าไทยเป็นประจำทุกวัน”
นอกจากนี้ การประปาส่วนภูมิภาค ได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่มาใช้บริการ และเจ้าหน้าที่ของการประปาส่วนภูมิภาค ได้เลือกช้อปผ้าไทยขึ้นชื่อจากหลากหลายจังหวัด อาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้าขวัญตา จ.หนองบัวลำภู ผ้าไหมแพรวา จ.กาฬสินธุ์ ผ้าย้อมสีธรรมชาติ จ.อุดรธานี ผ้าทอ จ.น่าน ผ้าไหม จ.นครราชสีมา และผ้าลายอย่างอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น รวมทั้ง ยังได้นำ OTOP ชวนชิมสุดยอดของดีจังหวัด มาเสิร์ฟความอร่อย อาทิ ข้าวแกงชาวเล จ.ระยอง ครัวทะเลแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม อู๊ดไก่บ้านย่างเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ข้าวมันไก่พนัส จ.ชลบุรี ปาท่องโก๋ จ.นนทบุรี ขนมไทยแม่แฉล้ม จ.พระนครศรีอยุธยา คลองท่อมค๊อฟฟี่ จ.กระบี่ ลอดช่องสยาม จ.สมุทรสาคร กระเพาะปลายอดมะพร้าว จ.นนทบุรี เป็นต้น อันจะช่วยทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน สร้างความเข้มแข็งแก่ครอบครัวและชุมชน
“มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยการเลือกชมเลือกซื้อผ้าถิ่นไทยอันงดงามซึ่งเป็นเอกลักษณ์ความภาคภูมิใจของคนไทย และเลือกชิมอาหาร OTOP สุดยอดของแต่ละจังหวัด ระหว่างวันที่ 5 – 6 มีนาคม 2563 เวลา 08.00 – 17.00 น. ณ ห้องโถง การประปาส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเชิญชวน
ขอบคุณภาพข่าว:กรมการพัฒนาชุมชน
ภาพ/ข่าว:คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๓๗๙. สภาสตรีแห่งชาติฯ กรมการพัฒนาชุมชน จับมือ จังหวัดฉะเชิงเทรา และสตรีฉะเชิงเทรา รวมพลังกับ สืบสาน รณรงค์ใส่ผ้าไทย เชิดชูอัตลักษณ์ คุณค่าผ้าท้องถิ่น สร้างรายได้สู่ชุมชน
วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ
จังหวัดฉะเชิงเทราโดยนายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา มอบหมายให้นายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ปฏิบัติราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และมี นางสุรวดี เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา นางจิรพรรณ คงเคารพธรรม รักษาการแทนนายกเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา นายฐากูร ชวนะพงศ์ ปลัดจังหวัดฉะเชิงเทรา นางสาวฉัตรประอร นิยม พัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสักขีพยาน และหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กร ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมลงนาม จำนวน ๓๐ หน่วยงาน ก่อนพิธีลงนามได้ร่วมร้องเพลง “มาร์ชพัฒนาชุมชน”โดยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา ณ โรงแรมซันไรส์ ลากูน โฮเทลแอนด์กอล์ฟ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า วันนี้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาจังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยความที่เป็นลูกหลานจังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นเพอยู่ที่ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงมีความผูกพันกับ หลวงปู่ยงค์ พระธรรมมังคลาจารย์ (ประยงค์ ปิยวัณโณ) เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร ขณะนี้ สิริอายุ ๙๕ พรรษา เมื่อวานนี้ได้ไปร่วมลงนาม ในโครงการฯ ที่จังหวัดนครราชสีมา และวันนี้ได้สอบถามจาก พัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา นางสาวฉัตรประอร นิยม ในเรื่องของผ้าทอจังหวัดฉะเชิงเทราว่า มีผ้าอะไรบ้าง ที่เป็นผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้ทราบว่า มีกลุ่มสตรีตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ ที่มีกลุ่มทอผ้า เป็นการทอผ้าที่ได้รับสืบทอดภูมิปัญญามาจากภาคอีสาน มีลวดลายผ้าที่คล้ายกับจังหวัดของทางภาคอีสาน เช่น ผ้ามัดหมี่ ผ้าสาเกต ผ้าไหมสาเกตนคร ซึ่งเป็นผ้าไหมพื้นเมืองของชาวจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผ้าไหมที่งดงาม เป็นผ้าที่มีอยู่เพียงอำเภอเดียว ในจังหวัดฉะเชิงเทรา
การดำเนินงานโครงการ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน เป็นโครงการต่อเนื่อง ที่ทางสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โครงการแรกที่ได้ดำเนินการ คือ ตามรอยผ้าไทยลมหายใจแม่ของแผ่นดิน ได้เดินทางไปศึกษาดูภูมิปัญญาผ้าไทยของทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ ก็ทำให้รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มากยิ่งขึ้นสุดหัวใจ มีความรู้สึกว่าท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ กับองค์กรสตรีไทย ของประเทศ ไม่รู้จะทดแทนได้อย่างไร ที่ทรงได้รื้อฟื้นผ้าไทย ตั้งแต่ปี 2507 นับแต่ตามเสด็จครั้งแรก ๆ ที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ พระปรีชาชาญ ทรงมีความอดทนอย่างยิ่ง ที่ทรงทอดพระเนตรผ้า และจะนำมาพัฒนาผ้าไทย ทรงสนพระทัยในทุก ๆ ผืน เพื่อให้ประชาชนได้มีรายได้ เพื่อให้เกิดเม็ดเงินที่จะกลับมาสู่ครอบครัว ชุมชน พระองค์ยังเป็นแบบอย่างในการฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทยทุกภูมิภาค ตั้งแต่นั้นมา ในทุกพระพระราชกรณียกิจ การทอผ้าเปรียบเสมือนลมหายใจของผู้หญิง กว่าจะได้ผ้าผืนสวยงาม ต้องอดทนนั่งถักทอ ต้องเกิดจากกระบวนการ เริ่มต้นจากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ต้องสาวไหม ต้องสาวมาเป็นเส้น และนำมาถักทอเป็นผ้า หนึ่งผืน ใช้เวลา นานถึง ๖ เดือน และลวดลายผ้า ล้วนมากจากภูมิปัญญาของพี่น้องสตรีทั่วประเทศ มีความชื่นชอบผ้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ้าไหมพุมเรียง มีผู้เฒ่า ผู้แก่ อายุ ๙๐ ปี เป็นผู้ทอใช้เวลานาน ๖ เดือน ได้ ๑ ผืน เป็นผ้าที่ใช้ในราชสำนัก ผืนละ ๓๕,๐๐๐ บาท โดยแจ้งว่าจะให้เงินคุณยายผู้ทอผ้านั้นก่อน ท่านบอกว่า ไม่รับเนื่องจากเกรงว่าจะทอไม่เสร็จกลัวจะอยู่ไม่ถึงจนทอผ้าให้เสร็จได้ จะรับเงินค่าทอเมื่อเสร็จแล้ว เป็นผ้าที่สวยงามมาก
ดร.วันดี กล่าวเพิ่มเติมต่อว่า ผ้าไทยเป็นชีวิตของลูกหลานเราด้วย หากเราช่วยกันสวมใส่ผ้าไทย นอกจากจะช่วยเหลือครอบครัวคนทอผ้า ได้มีรายได้ สมเด็จฯ มีพระประสงค์ให้การทอผ้าเป็นอาชีพเสริม ในปัจจุบันหลายครอบครัวการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก ผ้าที่มีมูลค่า เช่น ผ้าทอจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผ้าสวยงาม ราคาแพง ทอด้วยเส้นทองคำ ใส่ในโอกาสสำคัญ เมื่อได้มาแล้วอยากเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ดูและเก็บรักษาสืบทอดไว้ ซึ่งในวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่การจรดปากกาลงในกระดาษและมานั่งลงนามในบันทึกข้อตกลงเท่านั้น พวกเราทุกคนจะมาสัญญาซึ่งกันและกันด้วยใจ และไปปฏิบัติด้วยการกระทำ ในเรื่องของการรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย เชื่อว่าหากทุกคนหันมาสวมใส่ผ้าไทย จะมีการซื้อผ้าเพิ่มอย่างน้อยคนละ ๑๐ เมตร หากสตรี ๓๕ ล้านคน ใส่ผ้าไทยคนละ ๑๐ เมตร รวม ๓๕๐ ล้านเมตร เมตรละ ๓๐๐ บาท เราจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนทันที ๑ แสนล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานราก คือ เศรษฐกิจครัวเรือน เมื่อเศรษฐกิจครัวเรือนเข้มแข็ง รายได้กลับไปสู่องค์กรสตรี โดยหากเราสวมใส่ผ้าธรรมดา ที่ใช้เครื่องจักรในการทอ ก็ไม่เกิดรายได้ให้กับครอบครัว ชุมชน ของเรา ผ้าไทย ถือเป็นเครื่องนุ่งหุ่มในปัจจัยสี่ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เรามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง และยังรักษาภูมิปัญญาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของไทยไว้ ลูกหลานก็จะมีงานทำ และหากวันนี้คนฉะเชิงเทราไม่ใส่ผ้าท่าตะเกียบ ต่อไปคนทอผ้าก็จะไม่มีคนสืบสาน ทำให้หายไป แต่หากพวกเราช่วยกันซื้อ จะทำให้เกิดการต่อยอดการทอผ้าและสร้างรายได้ ยกตัวอย่าง การพัฒนาผ้าขาวม้า ของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จํากัด ที่ลงมาพัฒนาต่อยอดผ้าขาวม้า ซึ่งหายไปจากสังคมไทยในช่วยระยะเวลาหนึ่ง ให้กลับมากมีชีวิตอีกครั้ง ขอให้ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นผู้ชาย ได้ร่วมกันใช้ผ้าขาวม้าของไทยในชีวิตประจำวัน โดยขณะนี้ ได้มีการพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มของผ้าขาวม้า และอื่น ๆ ให้เกิดกระแสการใช้มากยิ่งขึ้น ขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันในการสวมใส่ผ้าไทย หากเราสตรี มีความมุ่งมั่นในการทำอะไรแล้ว จะไม่มีความล้มเหลวในสิ่งนั้น ในวันนี้ หากไทยไม่ช่วยไทย แล้วใครจะช่วยเรา ขอเชิญชวน องค์กรสตรีได้นำวิกฤติมาสร้างโอกาส ในการแปรรูปผ้าเป็น ผ้าปิดปาก หน้ากากอนามัย
ขอแนะนำ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาของ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีประธาน ที่ดำรงตำแหน่งมาแล้ว จำวน ๒๓ คน ๒๖ สมัย โดยข้าพเจ้าได้เป็นประธาน มา ๒ สมัย มีองค์กรสมาชิก มากกว่า ๒๐๐ องค์กร มีการจัดตั้งสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง ในทุกจังหวัด เพื่อเพิ่มบทบาทของสตรี ในปัจจุบัน สตรีมีบทบาท และมีการศึกษาเพิ่มมากขึ้น และมีตำแหน่งสำคัญในสังคม ควบคู่กับบทบาทของผู้หญิง จากนี้ เป็นต้นไปขอให้รณรงค์การใส่ผ้าไทยในทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าถูก แพง และ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน จัดประกวดผ้า อัตลักษณ์ ขอจังหวัดฉะเชิงเทราได้พัฒนาต่อยอดการทอผ้า ดังเช่น จังหวัดพิจิตร ที่ได้สร้างลวดลายผ้า และขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันสวมใส่ผ้าไทยตาม โครงการ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน
นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือและสนับสนุนการจัดทำโครงการเพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงอยู่และเพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทย และยังสนับสนุนส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีท้องถิ่นและกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมให้ข้าราชการในสังกัดใส่ผ้าไทยทุกวันด้วย
นายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้กล่าวว่าจังหวัดฉะเชิงเทรามีเจตจำนงและแจ้งส่วนราชการ กลุ่ม/องค์กร เครือข่ายในจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมกันแต่งกายชุดผ้าไทยทั่วทั้งจังหวัดในวันปฏิบัติราชการและตามโอกาสที่เหมาะสมรวมถึงสนับสนุนให้มีการขยายกลุ่มทอผ้าในหมู่บ้านที่สามารถทอผ้าได้เพื่อเป็นการร่วมสืบสาน สนับสนุนและเป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ทั้งนี้ได้นายสรายุทธ ยังได้กล่าวขอบคุณสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรมการพัฒนาชุมชน และส่วนราชการทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันจัดโครงการ”สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ด้วย
นางสุรวดี เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จะร่วมดำเนินการตามโครงการฯ จังหวัดฉะเชิงเทรามีสิ่งดี ๆ มากมาย ขอให้พวกเราได้สืบสาน และนำมาต่อยอด เพื่อให้ผ้าไหมของเราได้เป็นที่ประจักษ์ เป็นสิ่งที่พวกเราจะได้ภาคภูมิใจ
สุดท้าย นางสาวฉัตรประอร นิยม พัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ในส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทรานำโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาครัฐ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน คณะกรรมการพัฒนาสตรีและคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจาก ๑๑ อำเภอ เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน ๓๐๐ คน มีการจัดนิทรรศการผ้าไทย การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP และผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัด และการประกวดร้องเพลงมาร์ชพัฒนาชุมชน
ชอบคุณภาพ/ข่าว สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๓๗๘. ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน และ จังหวัดนครราชสีมา จับมือสืบสาน รณรงค์ใส่ผ้าไทย เชิดชูอัตลักษณ์ คุณค่าผ้าท้องถิ่น สร้างรายได้สู่ชุมชน
วันจันทร์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๓๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา พร้อมด้วย ประธานแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดนครราชสีมา นางณัฎฐินีภรณ์ จันทรโณทัย และหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กรสตรีซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ในจังหวัดนครราชสีมา ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย ในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมลงนาม จำนวน ๔๕ หน่วยงาน และมีนายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา และ นางอรุณรัตน์ ชิงชนะ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมเป็นพยาน โดยก่อนลงนามได้มีการแสดงโชว์อัตลักษณ์ผ้าไทยของจังหวัดนครราชสีมา ด้วยการเดินแฟชั่นโชว์ผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดนครราชสีมา จากหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ผู้นำกลุ่มองค์กรสตรี ภาคเอกชน ร่วมแสดงแบบอย่างสวยงาม ณ ศูนย์ประชุมโคราช ฮอลล์ ชั้น ๔ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า สภาสตรีแห่งชาติฯได้ดำเนินการโครงการสืบสานอนุรักษ์สินผ้ากฐินไทยดำรงไว้ในแผ่นดินโดยร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยโดยท่าน สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกันดำเนินโครงการตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา โดยมีความมุ่งหมายให้ทุกคนในประเทศนี้ ได้สืบสานรณรงค์ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานการใส่ผ้าไทย และได้ร่วมลงนามกับกรมการพัฒนาชุมชน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ได้ทรงมีเมตตาต่อปวงชนชาวไทย ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยพระปรีชาชาญ พระวิริยะอุตสาหะ ได้รื้อฟื้นผ้าไทยดังในวิดิทัศน์ที่ได้รับชมไป เรื่องของผ้าไทยเป็นวัฒนธรรมของไทย ชนชาติใดในโลกที่มีความเจริญก็จะมีวัฒนธรรมของตนเองโดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในยุคปัจจุบัน โดยทั่วโลกได้รับผลกระทบ ไวรัสโควิช ๑๙ เชื้อไวรัสโคโรน่าที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้พวกเราต้องมาพัฒนาสภาพศักยภาพของตนเองในทุกมิติ หากว่าพี่น้องประชาชนคนไทยเพียงแค่ครึ่งหนึ่ง ของประเทศจำนวน ๓๕,๐๐๐,๐๐๐ คน หันมาสวมใส่ผ้าไทยในทุกวันเหมือนอย่างเช่นจังหวัดนครราชสีมาในวันนี้ ทุกคนช่วยกันซื้อผ้าไทยเพิ่ม จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อลือนามในเรื่องของผ้าไหมสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าไหมจากปักธงชัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านจิมทอมสัน โดยได้เลือกอำเภอปักธงชัยเป็นที่ตั้ง โดยโครงการนี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกท่าน ซึ่งในวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่การจรดปากกาลงในกระดาษและมานั่งลงนามในบันทึกข้อตกลงเท่านั้น พวกเราทุกคนจะมาสัญญากันด้วยใจ และไปปฏิบัติด้วยการกระทำ ในเรื่องของการรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย
ในวันนี้หากไทยไม่ช่วยไทยแล้วใครจะช่วยเรา ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ โดยขอให้เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ เริ่มต้นจากคนในครอบครัว ทุกบ้านเชิญชวนรณรงค์ให้ลูกหลานได้สวมใส่ผ้าไทย ดังคำที่ท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้กล่าวไว้ว่า จะถูกหรือแพงขอให้เป็นผ้าไทย ก็ล้วนแต่เป็นกระบวนการผลิตที่เกิดจากประเทศของเราทั้งสิ้น เป็นฝีมือเป็นภูมิปัญญาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำเภอปักธงชัยซึ่งมีแหล่งผลิตผ้าไหมที่สวยงาม ได้เคยพาภริยาเอกอัครราชทูตจีนเข้ามาชมผ้าที่อำเภอปักธงชัย ตามคำกล่าวต้อนรับของท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาที่ได้กล่าวถึงเส้นทางสายไหมที่จะผ่านทางรถไฟฟ้า โดยได้ให้ทางอำเภอปักธงชัยทอผ้าลายดอกโบตั๋น ใช้ไหม เกิดการผลิตและจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก สิ่งสำคัญขอให้เริ่มจากตัวเราก่อน อยากให้สตรีจังหวัดนครราชสีมาทุกท่าน รักษาอัตลักษณ์ผ้าไทยของจังหวัดนครราชสีมา ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และใส่ผ้าไทยทุกวัน เชื่อว่าทุกคนจะต้องซื้อผ้าเพิ่มอย่างน้อยคนละ ๑๐ เมตร หากสตรี ๓๕ ล้านคน ใส่ผ้าไทยคนละ ๑๐ เมตร รวม ๓๕๐ ล้านเมตร เมตรละ ๓๐๐ บาท เราจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนทันที 1 แสนล้านบาท นอกจากเราจะช่วยรักษาวัฒนธรรมแล้ว เรายังช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก คือ เศรษฐกิจครัวเรือน เมื่อเศรษฐกิจครัวเรือนเข้มแข็งเศรษฐกิจ โดยรวมก็เข้มแข็งไปด้วย การลงนามในวันนี้ขอให้ทุกท่าน ขอให้จดความทรงจำหน้าที่ไว้ในใจ ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมในวันนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมของเรานั้น เป็นการถวายความจงรักภักดี สภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์กำหนดจัดงานวันสตรีไทยในทุกปีคือวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งสมเด็จพระราชินีพระบรมราชชินีพันปีหลวง ได้พระราชทานไว้ ซึ่งปีที่แล้วเป็นปีแรกที่สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ได้เสด็จเป็นองค์ประธาน พวกเราร่วมกันถวายพระเกียรติ โดยสวมใส่ผ้าไหมไทยสีม่วงทั้งงาน สิ่งสำคัญของเราคือการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และหวังว่าผ้าไหมของจังหวัดนครราชสีมา จะได้เผยแพร่ไปทั่วประเทศขอให้พวกเราช่วยรณรงค์ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุกบาททุกสตางค์ก็กลับมาอยู่กับครอบครัว ชุมชน ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ดังเจตนารมณ์ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยต่อไป
ด้านนางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในนามผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา วันนี้รู้สึกดีใจที่ได้กลับมาที่นี่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนหน้านี้ดิฉันเคยดำรงตำแหน่งพัฒนาการจังหวัดที่นี่ ทราบดีว่าจังหวัดนครราชสีมามีผ้าไทยที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละอำเภอ สิ่งที่อยากเห็นคือการที่ลูกหลานได้รับการถ่ายทอดฝีมือภูมิปัญญา ไม่ใช่แค่การนำมาสวมใส่ เราไม่จำเป็นต้องเป็นต้นน้ำเราเป็นกลางน้ำก็ได้ สิ่งที่สำคัญ คือ ปลายน้ำเราก็จะมีโอกาสที่สนับสนุนคนทอผ้า ซึ่งเป็นอาชีพที่สำคัญเพราะได้ช่วยสืบสานรักษาและต่อยอดมรดกให้อยู่คู่กับลูกหลานและช่วยสร้างความมั่นคงในเรื่องการทอผ้าด้วย เพราะวันหนึ่งไม่แน่อาจเกิดวิกฤต ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เสมอ หากเราสามารถทอผ้าได้เองก็ถือเป็นความมั่นคงของชาติ และขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและท่านประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย ให้ผ้าไทยของจังหวัดนครราชสีมามีให้เป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์
และรู้สึกยินดีกับชาวจังหวัดนครราชสีมาที่ทำให้ผ้าไทยไม่สูญหายไป และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในครั้งนี้
ในส่วนของนายศักดิ์สิทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ท่านประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลาย ในเรื่องผ้าพื้นเมืองซึ่งจะมีอัตลักษณ์ที่สวยงามแตกต่างกันไป เช่น ผ้าซิ่นยวน ของอำเภอสีคิ้ว ผ้าเงี่ยงนางดำของอำเภอสูงเนิน ผ้าไหมลายขอนากน้อยของอำเภอบัวลาย ผ้าลายไขว้ตาล่องของอำเภอลำทะเมนชัย ผ้าลายสีทาสาธรของอำเภอประทาย ผ้าทอซับระวิงของอำเภอครบุรี เป็นต้น ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาได้มีการรณรงค์เรื่องการแต่งกายด้วยผ้าไทยเป็นประจำทุกวันศุกร์ การลงนามจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการประสานความร่วมมือโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”จังหวัดนครราชสีมา ในครั้งนี้ จึงถือเป็นนิมิตรหมายอันดี ที่จะสร้างความร่วมมือให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันในการเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมโดยทั่วกัน
สุดท้าย นางอรุณรัตน์ ชิงชนะ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีการขับเคลื่อนโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ ในแผ่นดิน” จังหวัดนครราชสีมาได้ตอบรับนโยบายโดยดำเนินการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงตามทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ ในแผ่นดิน” เบื้องต้นเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ และได้ดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ครบทั้ง ๓๒ อำเภอแล้ว
ทำให้จำหน่ายผ้าไทยของจังหวัดนครราชสีมา มีรายได้เพิ่มขึ้น จำนวนทั้งสิ้น ๑๗๑,๔๘๑,๗๐๐ บาท คิดเป็นร้อยละ ๒๒ ของช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการนี้ นอกจากนี้ได้กำหนดจัดกิจกรรมการเดินแบบผ้าไทยการกุศล ในงานฉลองแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี ประจำปี ๒๕๖๒ ภายใต้ชื่อกิจกรรม “วิจิตรผ้าไทยล้ำค่า งามตระการตาผ้าไหมโคราช” ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๓ โดยมีผู้เดินแบบ ๕๕๐ คู่ และเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการสืบสาน อนุรักษ์ผ้าถิ่นไทย ให้มากยิ่งขึ้น
โอกาสนี้ ประธานสภาสตรีแหงชาติฯ ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดการอบรมโครงการ “ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาศักยภาพผู้นำสตรี ด้านการเรียนรู้ และเพิ่มทักษะการเขียนโครงการ” และบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสตรี “พลังสตรี สร้างสุขในชุมชน” และเยี่ยมชมนิทรรศการ และผลการดำเนินพัฒนาชุมชน ผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อเป็นกำลังใจให้กลุ่มผู้นำสตรีในจังหวัดนครราชสีมาอีกด้วย
ขอบคุณภาพ/ข่าว สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครราชสีมา
ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๓๗๗. สภาสตรีแห่งชาติฯ กรมการพัฒนาชุมชน จับมือ เครือข่ายโอทอป จังหวัดอุดรธานี จัดงาน “ฮักอุดร ออนซอนโอทอปทั่วไทย สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”
วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เวลา ๑๘.๐๐ น. นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะกรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติฯ คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน “ฮักอุดร ออนซอนโอทอปทั่วไทย สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานเปิดงาน และมีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมงานอย่างคับคั่ง ซึ่งก่อนเปิดงานรองอธิบดีฯ และคณะได้เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์พร้อมให้กำลังใจผู้ประกอบการโอทอป ที่นำมาจัดแสดงและจำหน่ายภายในงาน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๓ ณ สนามทุ่งศรีเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
สำหรับการจัดงานดังกล่าว เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริมและเชิดชูคุณค่าของผ้าไทยไว้ให้คงอยู่คู่แผ่นดิน และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าของจังหวัดอุดรธานี อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปริมาณและคุณค่าด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม บนพื้นฐานของการบริหารจัดการอย่างเป็นเลิศร่วมกัน เป็นการประชาสัมพันธ์จุดขายที่มีเอกลักษณ์และสนับสนุนการสร้างและเชื่อมโยงกลุ่มผู้ผลิตสินค้าและบริการอย่างเป็นรูปธรรม
ภายในงานนอกจากจะมีการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าโอทอปจากจังหวัดอุดรธานี และจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน ๒๕๐ บูท ยังมีกิจกรรมการประกวดผ้าไทย ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายมัดหมี่ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าขิดฝ้าย ผ้าขิดไหม และผ้าหมี่ขิด การเดินแบบผ้าไทย โดยนายแบบ นางแบบกิตติมศักดิ์ การประกวดทำลาบเป็ด อาหารรสเด็ดเมืองอุดร จากตัวแทนอำเภอ รวม ๒๐ อำเภอ ๆ ละ ๑ หมู่บ้าน จากหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง หรือหมู่บ้านสัมมาชีพชุมชน การประกวดอาหารว่างและเครื่องดื่ม หรือชุดเบรก สำหรับการฝึกอบรม จากตัวแทนอำเภอ รวม ๒๐ อำเภอ ๆ ๑ หมู่บ้าน โดยคัดเลือกมาจากหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง หรือหมู่บ้านสัมมาชีพชุมชน การประกวดร้องเพลงมาร์ชพัฒนาชุมชน อำเภอละ ๑ ทีม รวม ๒๐ ทีม และกิจกรรมส่งเสริมการขาย
สำหรับประชาชนที่อยู่ในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียง สามารถมาเที่ยวชมสินค้า และพบกับ นาทีทองซื้อสินค้าราคาถูก ลด แลก แจก แถม ทุกวัน ตั้งแต่วันนี้ ถึง ๑ มีนาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. ณ สนามทุ่งศรีเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
ขอบคุณภาพ/ข้อมูลข่าว : สำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดอุดรธานี กรมการพัฒนาชุมชน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๓๗๖. สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ จัดงาน “ราตรีรวมใจภักดิ์ อนุรักษ์ผ้าไทย” ชูโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน" กระตุ้นทุกภาคส่วน สร้างงาน สร้างรายได้ให้สตรีในท้องถิ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นายประสงค์ คงเคารพธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานเปิดงาน“ราตรีรวมใจภักดิ์อนุรักษ์ผ้าไทย” โดยมีนางสุรวดี เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ตามนโยบายสภาสตรีแห่งชาติฯ โครงการ "สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน" สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน โดยมีนายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา นางจิรพรรณ คงเคารพธรรม รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ผู้บริหารโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ ฉะเชิงเทรา คณะกรรมการสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง จังหวัดฉะเชิงเทรา และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆเข้าร่วมงาน ร่วมงาน จำนวน ๙๐๐ คน ณ อาคารราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
นางสุรวดี เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง จังหวัดฉะเชิงเทรา การจัดงาน ในวันนี้ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ิ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตาม โครงการ "สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน" ของสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่รณรงค์ให้องค์กรสมาชิกทั่วประเทศแต่งกายผ้าไทย โดยสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้กรรมการและสมาชิก จำนวน ๒๗๙ คน รณรงค์เป็นต้นแบบแต่งกายผ้าไทย ขยายผลไปยังภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และรวมพลังกันจัดงาน“ราตรีรวมใจภักด์ิ อนุรักษ์ผ้าไทย” ภายในงานได้รับเกียรติจากผู้แสดงแบบกิตติมศักด์ทุกภาคส่วน ร่วม เชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าไทยซึ่งเป็นศิลปะอันล้ำค่าของชาติโดยแสดงแบบชุดผ้าไทยหลากหลาย สร้างความตื่นตาตื่นใจและเสียงตอบรับชื่นชมอย่างท้วมท้น
นางสุรวดี เป้าเปี่ยมทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้น ให้ทุกภาคส่วน ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่นให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยภายในงานมีการแสดง ชุด “ลีลาผ้าไทย รวมใจ ๔ ภาค จากชมรมพุทธรักษา ชมรมผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา การร้องเพลงการกุศลจากนักร้องกิตติมศักดิ์ และการเต้นลีลาศ ทั้งนี้รายได้สมทบทุนสนับสนุนกิจการของสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และการช่วยเหลือสตรีที่มีปัญหาต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราต่อไป
นายประสงค์ คงเคารพธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่าการจัดงาน “ราตรีรวมใจภักดิ์ อนุรักษ์ผ้าไทย” สอดคล้องกับที่รัฐบาลได้รณรงค์ให้ สวมใส่ผ้าไทย เพื่อให้ประชาชนอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยผ่านการสวมใส่ผ้าท้องถิ่นไทย เป็นการส่งเสริมให้ตระหนักในคุณค่าและรักวัฒนธรรมไทย ตลอดจนมีส่วนร่วมอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าไทยให้คงอยู่สืบไป และนอกจากนี้ยังสร้างเสริมรายได้ให้ผู้ประกอบอาชีพทอผ้าอีกด้วย
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ
๓๗๕. นายกสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการ รณรงค์ "ใช้ถุงผ้า ถือตระกร้า หิ้วปิ่นโต” ทางเลือก ใช้แทนถุงพลาสติก ลดขยะ ลดภาวะโลกร้อน
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น.นายกิจจา ทองแดง พัฒนาการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดโครงการประชุมสัญจรก่อตั้งธนาคารขยะชุมชนกลุ่มสตรี อำเภอผักไห่ โดยมี นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ นายกสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และคณะกรรมการ และสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอำเภอผักไห่ จำนวน ๑๕๐ คน เข้าร่วมในพิธี และมีนางอภิญญา เอี่ยมอำภา นายอำเภอผักไห่ ให้การต้อนรับ และร่วมมอบผักสวนครัว เพื่อส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวลดรายจ่ายครัวเรือน ณ วัดบ้านอ้อ ตำบลอมฤต อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โครงการประชุมสัญจรก่อตั้งธนาคารขยะชุมชนกลุ่มสตรี อำเภอผักไห่ มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อตั้งธนาคารขยะชุมชน สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนในการลดขยะรักษาสิ่งแวดล้อม และรณรงค์การใช้ถุงผ้าลดการใช้ถุงพลาสติก ภายใต้สโลแกน "ใช้ถุงผ้า ถือตระกร้า หิ้วปิ่นโต" มีกลุ่มเป้าหมายเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอำเภอผักไห่ และภาคีเครือข่าย เพื่อเป็นต้นแบบขอความร่วมมือหลีกเลี่ยง หรืองดใช้ถุงพลาสติก
นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ กล่าวสนันสนุนการงดใช้ถุงพลาสติก ภายใต้สโลแกน "ใช้ถุงผ้า ถือตระกร้า หิ้วปิ่นโต" ซึ่งเป็นทางเลือก เพื่อใช้แทนถุงพลาสติก ช่วยลดขยะ ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย ในฐานะนายกสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ขอความร่วมมือให้คณะกรรมการทุกท่านของสมาคมฯ ร่วมกันรณรงค์เป็นปฎิบัติแบบอย่าง ใช้ถุงผ้า ถือตระกร้า หิ้วปิ่นโต นำติดตัว ติดรถพร้อมจะจับจ่ายซื้อของได้ทุกที่ ทุกเวลา ส่งผลให้เราภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนจัดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ
๓๗๔. สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน และ จังหวัดสมุทรสาคร รวมพลัง สตรีสมุทรสาคร และภาคีเครือข่าย รณรงค์สวมใส่ผ้าไทย เชิดชูอัตลักษณ์ ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์สินค้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๓๐ น ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี พร้อมด้วย ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดสมุทรสาคร นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี และหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กร ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย ในจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมลงนาม จำนวน ๔๐ หน่วยงาน โดยมี นางบุญทิวา วรรณประเวศ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ ๔ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ๒ ร่วมเป็นพยาน โดยก่อนลงนามได้มีการแสดงโชว์อัตลักษณ์ผ้าไทยของจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยการเดินแฟชั่นโชว์ผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดสมุทรสาคร จากหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ผู้นำกลุ่มองค์กรสตรี ภาคเอกชน ชาวไทรามัญ ร่วมแสดงแบบอย่างสวยงาม ณ หอประชุมศูนย์บริการวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ท่านประธานสภาสมาคมสตรีแห่งประเทศไทย มี ๓ จังหวัดที่ไม่มีผ้าไทยเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ จังหวัดสมุทรสาคร เดี๋ยวนี้จังหวัดสมุทรสาครมีผ้าไทยแล้ว สิ่งที่อยากเห็นคือการที่ลูกหลานได้รับการถ่ายทอดฝีมือไม่ใช่แค่การนำมาสวมใส่ ซึ่งในวันนี้มีน้องๆจากตำบลเจ็ดริ้วมาประดิดประดอยซึ่งถือว่าเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญา เราไม่จำเป็นต้องเป็นต้นน้ำเราเป็นกลางน้ำก็ได้ สิ่งที่สำคัญคือปลายน้ำเราก็จะมีโอกาสซึ่งสนับสนุนคนทอผ้าซึ่งเป็นอาชีพที่สำคัญเพราะได้ช่วยสืบสานรักษาและต่อยอดมรดกให้อยู่คู่กับลูกหลานและช่วยสร้างความมั่นคงในเรื่องการทอผ้าด้วยเพราะวันหนึ่งไม่แน่อาจเกิดวิกฤต ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เสมอ หากเราสามารถทอผ้าได้เองก็ถือเป็นความมั่นคงของชาติ และขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครและท่านประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสมุทรสาครที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงรื้อฟื้นให้ผ้าไทยของสมุทรสาครมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ที่สำคัญที่อยากจะกราบเรียนคือกระผมเคยเป็นศิษย์เก่าของสมุทรสาคร คือเคยเป็นปลัดอำเภอที่อำเภอกระทุ่มแบน ๘ เดือน ปลัดอำเภอบ้านแพ้ว ๒ เดือน จากนั้นก็ย้ายเข้ากรม และขอขอบคุณที่ปรึกษาส่วนตัวของอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนด้วย คือ ท่านพิภู สุโชคชัยกุล ทีมอาสาพัฒนาบ้านเกิดจังหวัดสมุทรสาครและท่านประธานหอการค้า คือ คุณอำไพ หาญไกรวิไลย์ ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้จัดงานของจังหวัดสมุทรสาครในครั้งนี้และผมก็รู้สึกตื้นตันใจกับชาวจังหวัดสมุทรสาครที่ทำให้ผ้าไทยไม่สูญหายไปและยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะการสวมใส่ผ้าปักลายปลาทูสมุทรสาคร หน้าเริด เชิดยิ้ม หรือใส่ผ้าสไบปัก ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในครั้งนี้
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า สภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาของ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สตรีทั่วประเทศ โดยหลัก คือ ภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ก่อตั้งสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงนี้ขึ้นมา เมื่อปี ๒๘๙๙ โดยเจตนาของท่านผู้หญิงละเอียด คือ อยพัฒนาสตรีกว่า ๒๐๐ องค์กรทั่วประเทศ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ยิกา สภาสตรีแห่งชาติเมื่อปี ๒๕๐๔ ท่านได้ทรงพระราชทานหน้าที่ของสภาสตรีไว้ 4 ประการดังนี้ ๑. เราต้องเป็นแม่บ้านที่ดีของครอบครัว ๒. เป็นแม่ที่ดีของลูก ๓. อนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย ให้ดำรงสืบไปชั่วลูกหลาน ๔. การพัฒนาตนเอง นอกจากมือจะไกวเปลเลี้ยงลูกแล้วจะต้องเป็นผู้รู้เท่าทัน ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ท่านได้พระราชทานให้วันที่ ๑ สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสตรีไทย ซึ่งสภาสตรีแห่งชาติจะจัดงานวันสตรีไทยทุกปี ปีที่ผ่านมาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ์ พระบรมราชินี พระองค์ท่านได้เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิดงานวันสตรีไทย ทรงพระราชทานเกียรติบัตรให้กับสตรีไทยดีเด่นและยุวสตรีทั่วประเทศนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ นอกจากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ยังได้พระราชทานดอกกล้วยไม้คือดอกแคทลียาเป็นดอกเป็นดอกไม้ของสตรีไทย ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ การรักษาวัฒนธรรมไทยจึงเป็นของการสื่อสารอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน ซึ่งนับเป็นสมัยที่ ๒ โดยสมัยแรกในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ คือ โครงการตามรอยผ้าไทยลมหายใจแม่ของแผ่นดิน หลังจากที่ได้ศึกษาพระราชกรณียกิจในเรื่องของผ้าไทย องค์กรสตรีเราก็ไม่สามารถที่จะหาอะไรมาเทียบกับพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้ การรื้อฟื้นผ้าไทยขึ้นมาทำให้หลายครอบครัวไม่ได้ทำอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพรองแต่เป็นอาชีพหลักที่ ทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทางสภาสตรีจึงได้สนับสนุนการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย จึงได้จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์สินค้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ขอชื่นชมนายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง คุณชุติพร วิจิตร์แสงศรี ที่ได้รื้อฟื้นเรื่องอัตลักษ์ผ้าทุกที่ที่ท่านไปอยู่ โดยเฉพาะผ้าลายดอกบุนนาคที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงชื่นชมเป็นอย่างมาก ครั้นเสด็จทอดพระเนตรการทอผ้าท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือ ที่จังหวัดลำพูน นอกจากนี้ยังได้รื้อฟื้นผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสาคร อยากให้สตรีจังหวัดสมุทรสาครทุกท่าน ช่วยกันคิดช่วยกันทำและใส่ผ้าไทยทุกวัน เชื่อว่าทุกคนจะต้องซื้อผ้าเพิ่มอย่างน้อยคนละ ๑๐ เมตร หากสตรี ๓๕ ล้านคนใส่ผ้าไทยคนละ ๑๐ เมตร รวม ๓๕๐ ล้านเมตร เมตรละ ๓๐๐ บาทเราจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนทันที ๑ แสนล้านบาท นอกจากเราจะช่วยรักษาวัฒนธรรมแล้ว เรายังช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากคือเศรษฐกิจครัวเรือนเมื่อเศรษฐกิจครัวเรือนเข้มแข็งเศรษฐกิจโดยรวมก็เข้มแข็งไปด้วย การบันทึกความร่วมมือในวันนี้ไม่ใช่แค่การจรดปากกาลงในกระดาษ แต่เป็นคำมั่นสัญญาที่เราจะร่วมกันทำจะช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งขึ้น และส่งเสริมให้คนใกล้ตัวได้สวมใส่ผ้าไทยในทุก ๆ วัน ขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และประธานชมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมทั่งหัวหน้าส่วนราชการทุกท่านที่ได้ให้ความสำคัญโดยเฉพาะองค์กรสตรีของเราจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจนี้
นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ท่านประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ชื่นชมจังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นจังหวัดเล็ก ๆ อยู่ติดกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครจะดำเนินการต่อไป วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้น เราจะดำเนินการต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
สุดท้าย นางรัชนี โพธิสัตยา. พัฒนาการจังหวัดสมุทรสาคร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดสมุทรสาครได้ให้ความสำคัญกับ โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” โดยได้ต่อยอดกิจกรรมการพัฒนาผ้าของชาวไทเชื้อสายรามัญ ในจังหวัดสมุทรสาคร ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีชาวรามัญ หรือชาวมอญอาศัยอยู่จำนวนมากจังหวัดหนึ่ง ทำให้วัฒนธรรมและประเพณีของชาวมอญเข้ามามีอิทธิพลและกลายเป็นวัฒนธรรมและประเพณีประจำจังหวัดสมุทรสาครได้ การแต่งกายของผู้ชายชาวมอญจะสวมเสื้อคอกลมแขนยาวบ้างสั้นบ้างตามโอกาสนุ่งลอยชายพาดผ้าขาวม้า การพาดผ้าขาวม้า การแต่งกายของผู้หญิงชาวมอญ เสื้อแขนกระบอก นุ่งผ้าถุงเกล้ามวยผมคล้องผ้าสไบ จะเห็นได้ว่าสไบ เป็นการแต่งกายหลักที่ยังคงอยู่ จึงได้นำผ้าสไบ มาสร้างมูลค่า ด้วยการนำเป็นสร้างลวดลาย ใหม่ คือ ลวดลายปลาทู ลายกล้วยไม้ และนำลวดลายจากผ้าสไบไปตกแต่งบนเสื้อผ้า เพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับยุคสมัย
ขอบคุณภาพ/ข่าว สพจ.สมุทรสาคร กรมการพัฒนาชุมชน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์