๔๒๑.คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยการรณรงค์เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวัน
๐๙ มิถุนายน ๒๕๖๓

นายกรัฐมนตรี ชวนคนไทยแต่งกายผ้าไทย สืบสานอัตลักษณ์ให้คงอยู่ อย่างน้อยสัปดาห์ละ  ๒  ครั้ง

            วันที่ ๙  มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๘. ๓๐ น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตร กระทรวงมหาดไทย นำโดย พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำคณะจัดแสดงนิทรรศการส่งเสริมและผลการดำเนินโครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน อาทินายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาขุมชน (พช.)เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อจัดแสดงนิทรรศการผ้าไทย และผลการดำเนินงานโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”พร้อมอุดหนุนผ้าคลุมไหล่แพรวา จากจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๒  ผืน กระเป๋าจักสานจากเตยตานีของจังหวัดตรัง จำนวน  ๒  ใบ กระเป๋าใส่เอกสารทำจากผ้าขาวม้า ของจังหวัดอำนาจเจริญอีก  ๒  ใบ

             พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเชิญชวนแต่งกายด้วยชุดผ้าไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่อัตตลักษณ์ผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่ และสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ แก่พี่น้องประชาชนในท้องถิ่นชุมชน ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเยี่ยมชมนิทรรศการ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ​ ได้อุดหนุนผ้าคลุมไหล่แพรวา จากจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน  ๒ ผืน กระเป๋าจักสานจากเตยตานีของจังหวัดตรัง จำนวน ๒ ใบ กระเป๋าใส่เอกสารทำจากผ้าขาวม้า ของจังหวัดอำนาจเจริญ  ๒ ใบ

            ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ ๙  มิถุนายน ๒๕๖๓ เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยการรณรงค์เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวัน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม อันล้ำค่า รากเหง้าจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่สะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ด้วยการถ่ายทอดหัตถกรรมผ่านผ้าทอจากบรรพชนสู่คนรุ่นปัจจุบัน ด้วยการส่งเสริมและเผยแพร่  ผ้าพื้นถิ่นไทยให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙  (COVID-๑๙) ทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อรายได้ของผู้ประกอบการผ้าในท้องถิ่นชุมชน  ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้น การรณรงค์กระตุ้นให้เกิดค่านิยมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก ผ้าทอพื้นเมืองซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทยจะก่อให้เกิดรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

            พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ประมาณการว่าหากมีคนไทยแต่งกายด้วยผ้าไทยเป็นประจำสัปดาห์ละ  ๒ วัน จำนวน ๓๕  ล้านคน จะทำให้มีการซื้อผ้าและใช้ผ้าคนละ ๑๐  เมตร ราคาเมตรละประมาณ  ๓๐๐ บาท จะทำให้เกิดความต้องการผ้าไทย จำนวน  ๓๕๐  ล้านเมตร คิดเป็นมูลค่า ๑๐๕,๐๐๐  ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินนี้จะกลับคืนสู่ชุมชนก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนช่วยให้หลุดพ้นจากความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

            ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามที่กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนนำเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญคือการกำหนดมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยเป็นนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมให้ข้าราชการ ประชาชน แต่งกายด้วยผ้าไทยตามความเหมาะสมของท้องถิ่นเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ  ๒ วันทั้งนี้ รวมทั้งให้ทุกกระทรวงพิจารณาจัดทำมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยสร้างการรับรู้และความเข้าใจผ่านกิจกรรมและสื่อต่างๆ ตลอดจนการจัดทำแผนรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทย และผ้าพื้นเมืองแก่ส่วนราชการในสังกัด และกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หน่วยงาน องค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

 

นอกจากนั้น รวมไปถึงจัดให้มีการอนุรักษ์ต่อยอดภูมิปัญญาเกี่ยวกับการแปรรูปผ้าไทย ผลิตเป็นสินค้าต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และสร้างเศรษฐกิจฐานรากในระดับจังหวัดและชุมชน ช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการขายผ้าไทยในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙รวมถึงยังให้ประกาศยกย่องหน่วยงานองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต้นแบบของจังหวัดที่รณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทย และผ้าพื้นเมืองที่เกิดผลเป็นรูปธรรมอีกด้วย

            นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยดังกล่าว ดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ได้ร่วมกันจัดทำ “โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย อย่างไรก็ตาม พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริให้นำภูมิปัญญาของราษฎรที่ได้ทอผ้าไว้ใช้กันอยู่มาพัฒนาเป็นอาชีพให้ก่อเกิดรายได้แก่ราษฎร รวมถึงเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่น อีกทั้งเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่น ให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทยแก่ประชาชนคนไทยทั่วประเทศ ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ภาพลักษณ์ความเป็นไทยสู่สายตาชาวต่างชาติอีกด้วย โดยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินการตามโครงการฯ กับ ๗๕ จังหวัด และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในส่วนกลาง ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เป็นต้นเรียบร้อยแล้ว

            ขณะเดียวกัน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ระบุว่า การดำเนินโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” เป็นการสนับสนุนการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในชุมชน อันเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และทำให้เกิดการหมุนเวียนในห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจระดับประเทศต่อไป ซึ่งผลการดำเนินโครงการ ณ ปัจจุบัน มียอดจำหน่ายประเภทผ้า ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจฐานราก จำนวน  ๑๓,๔๖๕,๑๖๖,๗๕๔ บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๓ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. ๒๕๖๒

            “หากข้าราชการ ประชาชน ร่วมมือร่วมใจแต่งกายด้วยผ้าไทยเป็นประจำ จำนวน  ๓๕  ล้านคน เฉลี่ยใช้ผ้าคนละ ๑๐ เมตร ราคาเมตรละประมาณ ๓๐๐  บาท ก็จะทำให้เกิดความต้องการผ้าไทยถึง 350 ล้านเมตร และก่อให้เกิดการสร้างรายได้แก่ชุมชนคิดเป็นเงินกว่า ๑๐๕,๐๐๐  ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้เฉพาะการดำเนินโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” นั้นมีผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการจำหน่ายผ้า จำนวน ๖๔,๕๓๒ ราย มีผู้ได้รับประโยชน์ จำนวน ๓๖๓,๘๗๖ ราย ดังนั้นการร่วมสวมใส่ผ้าไทย นอกจากจะช่วยร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ นำไปสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้อย่างมั่นคงอีกด้วย” ดร.วันดีกล่าว

 

ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ

ดาวน์โหลด