๕๙๖ .ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ปลุกพลังสตรี สร้างมูลค่าเพิ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เข้มแข็ง ยกระดับบริหารจัดการหนี้ ตามแนวทาง “Change for good” สร้างความสุข สร้างรายได้สู่ชุมชน อย่างยั่งยืน
วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน บรรยายพิเศษหัวข้อ “การสร้างมูลค่าเพิ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและการบริหารจัดการหนี้” ในโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างพลัง สร้างความสุข สร้างรายได้สู่ชุมชน โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางทรงลักษณ์ วรภัย ผู้ตรวจราชการกรม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมด้วย ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัด หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ระดับจังหวัด/ตำบล/เทศบาล และสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจาก ภาคกลาง และภาคใต้ จำนวน ๑,๐๐๐ คน โดยโครงการในครั้งนี้เป็น รุ่นที่ ๒ ดำเนินการระหว่างวันที่ ๒๒-๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า “นับเป็นมิ่งมงคลยิ่งของสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกรมการพัฒนาชุมชน ในโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ประจำปีการศึกษา 2559-2560 โดยกำหนดการเริ่มจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 15-20 ตุลาคม 2563 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เขตภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 8-11 ธันวาคม 2563 ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม และเขตภาคใต้ ระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2563 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ด้วยพระเมตตาของทั้งสองพระองค์ที่ทรงปรารถนาให้พสกนิกรชาวไทยที่ใช้ภูมิปัญญารวมกลุ่มกันผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผ้าไทยได้มีช่องทางการตลาด จึงได้มีพระบรมราชานุญาตให้เปิดพื้นที่ ให้พี่น้อง OTOP ทุกจังหวัดในภาคพื้นที่ ที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ และทอดพระเนตรบูธผลิตภัณฑ์ OTOP โครงการจัดแสดงและจำหน่ายภูมิปัญญา OTOP เชิงบูรณาการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ภาคเหนือ และทรงร่วมกิจกรรมสาธิตของกลุ่มอาชีพ เป็นประจำทุกวัน ทุกคนต่างชื่นชมในพระจริยวัตรที่งดงามและพระเมตตาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นแบบอย่างในการฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทย ทรงลงพระนามาภิไธย ทรงลงอักษรชื่อร้าน ตลอดจนทรงร่วมในกิจกรรมการสาธิตอย่างไม่ถือพระองค์ ยังความรู้สึกภาคภูมิใจ ปลาบปลื้ม และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ มาสู่ผู้ประกอบการทุกคนที่ได้รับโอกาสอันดีนี้ สร้างรายได้เป็นมูลค่ากว่าล้านบาท
มิ่งมงคลยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่งนั้น คือ พระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่จะรักษาและสานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และพัฒนาผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดการประกอบพระราชกรณียกิจกว่า 60 ปี ผ้าไทยจึงสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่มั่นคง ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นพี่น้องสตรีมาจนถึงปัจจุบัน เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ทรงมีโอกาสเสด็จฯไปทรงเยี่ยมชมผ้าไทย และงานหัตถกรรมพื้นบ้านตามภูมิภาคต่างๆ ทอดพระเนตรผลงานที่ถ่ายทอดมาแต่บรรพบุรุษ 3 ภูมิภาค นำมาสู่นิทรรศการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทยเพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค โดยนิทรรศการจัดแสดงผลงานการรังสรรค์ผ้าไทยที่ทรงมีพระวินิจฉัย ในการออกแบบสี ลวดลาย และการตัดเย็บบนผ้าย้อมครามลวดลายพระราชทาน และเสื้อผ้าที่ทรงร่วมกับดีไซน์เนอร์ชั้นนำของประเทศไทย ทั้งหมด 18 ชุด จึงขอเชิญชวนทุกท่านชื่นชมในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ซึ่งจัดแสดงในงาน OTOP City 2020 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี และทรงพระราชทานของขวัญปีใหม่แก่วงการผ้าไทยและพี่น้องชาวไทย คือ ลายมัดหมี่พระราชทาน ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่ทุกลวดลายเปี่ยมไปด้วยความหมาย อาทิ ลาย S หมายถึง Sirivannavari ลาย S จำนวน 10 แถว หมายถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักของพระองค์ที่มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน Eternity Love โดยเป็นผลงานจากพระราชวินิจฉัยเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปยังกลุ่มทอผ้าครามบ้านดอนกอย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ทรงร่วมทอด้าย ปั่นด้าย ย้อมคราม ทอผ้ากับประชาชนอย่างใกล้ชิด และทรงออกแบบโดยไม่ละอัตลักษณ์ประจำถิ่นเดิม เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้ร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากลเพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวต่อไปว่า เรื่องน่ายินดีประการต่อมา คือ ผลงานความสำเร็จชิ้นโบว์แดง ที่สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้สนองงานสืบสานพระราชปณิธาน ดำเนินโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ซึ่งได้จับมือกับกรมการพัฒนาชุมชน ลงนาม MOU ร่วมกับ 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ ในการสวมใส่ผ้าไทย และผลักดันรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย จนเป็นมติคณะรัฐนมตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยใช้และสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวัน ทั้งนี้จึงเป็นการสร้างคุณค่าผ้าไทย กระตุ้นให้เกิดการใส่การใช้ผ้าไทย ผ้าไทยที่ต้องการมากขึ้น จากความสำเร็จนี้สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกรมการพัฒนาชุมชน จะร่วมการขับเคลื่อนรณรงค์เรื่องราวผ้าอัตลักษณ์ประจำถิ่นให้เกิดรูปธรรมในระยะต่อไป
ดร.วันดี ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทุน” ในภาษาธุรกิจ คือ “เงินตั้งต้น” โดยวันนี้ในเรื่องของทุน ทุนที่ดี คือ การนำทุนไปประกอบกิจกรรมใดๆ จากความเชี่ยวชาญ ความรู้ที่มีไปต่อยอดประกอบอาชีพ แต่ขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จึงเปรียบเสมือนแสงสว่าง ความหวังให้กับพี่น้องสตรีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นกองทุนที่เกิดขึ้นเพื่อให้สตรีเข้าถึงแหล่งทุนหรือเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มละ 3 คน ด้วยวงเงินสูงสุดโครงการละ 200,000 บาท ดอกเบี้ย 0.1% ต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้โจทย์สำคัญในการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอย่างไรให้มีความยั่งยืน สามารถช่วยเหลือลูกหลานต่อไปในอนาคต โดยปัจจุบันพบว่า มีการกู้เงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั้งหมด 14,369,365,292.75 บาท ชำระคืน 9,849,695,838.30 บาท ซึ่งแบ่งกองทุนออกเป็น 2 ส่วน คือ กองทุนเดิมตั้งแต่ปี 2556-2559 มีหนี้เกินกำหนดชำระจากหนี้คงเหลือทั้งหมด 52.51 % และกองทุนใหม่ปี 2560 – 2563 มีหนี้เกินกำหนดชำระจากหนี้คงเหลือทั้งหมด 12.99% รวมทั้งหมด 29.29 % (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2563)
จากข้อมูลที่ปรากฎปัจจุบันในรายภาคพบว่า ภาคกลาง จังหวัดเพชบุรีและภาคใต้ จังหวัดตรัง มีการบริหารจัดการหนี้ได้เป็นอันดับ 1 ทำให้หนี้ลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อยอดให้กับพี่น้องสตรีสร้างงาน สร้างอาชีพต่อไป โดยตัวแทนสตรี จังหวัดเพชรบุรี ของภาคกลางมีการบริหารจัดการหนี้ลดลง 4.61 % เนื่องจากเพชรบุรีมีหนี้ไม่มากนัก เป็นหนี้เก่าในระหว่างปี 2555-2556 ประมาณ 13% ในขณะที่ไม่มีหนี้ใหม่ และได้รับความกรุณาจากคณะทำงานจังหวัดได้ให้แนวทางการดำเนินงาน ได้แก่ พิจารณาอายุมีความเหมาะสมต่อการกู้หรือไม่ ตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้กู้ลักษณะของสถานที่ประกอบการมีลักษณะเป็นการเช่าหรือเป็นเจ้าของ โครงการมีความซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่นๆ มีความเป็นไปได้หรือไม่ โดยต้องมีการวางแผนงานงบประมาณที่ชัดเจน ในความดูแลของเครือข่ายส่วนราชการต่างๆ และสร้างความช่วยเหลืออย่างครบวงจร ในส่วนของจังหวัดตรัง มีการบริหารจัดการหนี้ลดลงได้เป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ 7.39 % โดยอาศัยการบริหารงานด้วยการวางแผนร่วมกันระหว่างพัฒนาการจังหวัดและคณะทำงานขับเคลื่อนสตรีในทุกระดับ ต่อการบริหารจัดการกลุ่มหนี้เสีย โดยการเข้าไปสอบถามปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากอะไร แล้วจึงนำปัญหาเหล่านั้นมาพูดคุย วางแผน ร่วมกันเพื่อเร่งติดตาม และประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องที่สำคัญที่สุดต่อการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้อย่างยั่งยืน พวกเราต้องรวมพลัง จับมือกัน สร้างเครือข่ายในแต่ละจังหวัด เพิ่มพูนความรู้ พัฒนาศักยภาพกลไกการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและเครือข่ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในการสร้างพลังสตรีสู่การพัฒนาชุมชน เพื่อนำความรู้ไปช่วยในการสร้างจุดแข็ง เสริมจุดอ่อนในการบริหารจัดการหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในแต่ละจังหวัดให้มีประสิทธิภาพเกิดความยั่งยืน และร่วมกันให้คำมั่นต่อพี่น้องสตรีในการติดตามการบริหารจัดการหนี้ค้างชำระสู่เป้าหมายร้อยละ 10 เพื่อยกระดับการบริหารจัดการหนี้ ตามแนวทาง “Change for good” ต่อไป
แหล่งที่มา: กองประชาสัมพันธ์ กรมการพัฒนาชุมชน
เรียบเรียงข้อมูล: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๕๙๕ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ เชิญชวนองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ และภาคีเครือข่าย อุดหนุนให้กำลังผู้ประกอบการ สินค้า OTOP วันสุดท้ายในงาน “ OTOP City ๒๐๒๐ “
วันที่ ๒๖ ธํนวาคม ๒๕๖๓ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ขอเชิญชวนองค์กรสมาชิก และคนไทยที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหาณคร ร่วมงาน “OTOP City 2020 “ ที่เป็นการรวมงานหัตถศิลป์ทรงคุณค่า มรดกภูมิปัญญาจากท้องถิ่น แพรพรรณงานผ้า ผลิตภัณฑ์สินค้าจากชุมชน มาจัดแสดงและจำหน่ายให้พี่น้องประชาชน เป็นของขวัญปีใหม่ ล้ำค่าจากชุมชน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนจากภูมิปัญญาของคนไทย ที่คัดสรรจาก ๗๖ จังหวัด เพื่อประชาชนคนไทย สุขใจทั้งผู้ผลิต ผู้ให้ ผู้ที่ได้รับมอบของขวัญ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความเข้มแข็งตามนโยบายของรัฐบาล
ในโอกาสนี้ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ขอขอบคุณ คณะกรรมการอำนวยการสมัยที่ ๒๖ คณะกรรมการบริหารสมัยที่ ๒๖ ท่านนายกองค์กร และสมาชิก สภาสตรีแห่งชาติฯ รวมทั้งภาคีเครือข่าย ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน มาสนับสนุนให้กำลังใจผู้ประกอบการ ในงาน” OTOP City ๒๐๒๐ “ พบกับของขวัญปีใหม่ ล้ำค่าถูกใจ จากทุกภูมิภาค ราคาเดียวกันกับที่ท่านเดินทางไปในจังหวัดนั้นๆ อีกทั้งในงานได้รวมงานหัตถศิลป์ทรงคุณค่า มรดกภูมิปัญญาจากท้องถิ่น แพรพรรณงานผ้า ผลิตภัณฑ์สินค้าจากชุมชน มาจัดแสดงให้ได้ช้อปกันเป็นของขวัญปีใหม่ ล้ำค่าจากชุมชน
นอกจากนี้ สำหรับมาตรการป้องกันโควิด-๑๙ ภายในงานได้ปฎิบัติตามกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้น ตามข้อสั่งการของ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กำชับให้คุมเข้มป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ โดยใช้มาตรการในการดูแล คัดกรอง ตามหลักเกณฑ์ ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙(ศบค.) และสาธารณสุข พร้อมขอให้องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ และประชาชน สวมหน้ากากอนามัยตลอดงานอีกด้วย
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๕๙๔. ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ เยี่ยม ให้กำลังใจผู้ประกอบการ ร้านค้าชุมชน ในงาน “OTOP City 2020 “
วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๘.๐๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคงจุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์เยี่ยมให้กำลังใจผู้ประกอบการ สินค้า Otop ในงาน” OTOP City 2020 “ ณ อาคาร Challenger ๑ - ๓ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ในโอกาสนี้ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ขอเชิญชวนพ่อแม่พี่น้องประชาชน และองค์กรสมาชิกของสภาสตรีแห่งชาติฯ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร มาสนันสนุนสินค้าในงาน” OTOP City 2020 “ พบกับของขวัญปีใหม่ ล้ำค่าถูกใจ จากทุกภูมิภาค ราคาเดียวกันกับที่ท่านเดินทางไปในจังหวัดนั้นๆ อีกทั้งในงานได้รวมงานหัตถศิลป์ทรงคุณค่า มรดกภูมิปัญญาจากท้องถิ่น แพรพรรณงานผ้า ผลิตภัณฑ์สินค้าจากชุมชน มาจัดแสดงให้ได้ช้อปกันเป็นของขวัญปีใหม่ ล้ำค่าจากชุมชน
” OTOP City 2020 “ วันที่ : ๑๙ – ๒๗ ธันวาคม 2563
เวลา : ๑๐.๐๐.- ๒๐.๐๐ น. สถานที่ : Challenger ๑ - ๓
อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๕๙๓.สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมเป็นเกียรติ พิธีเปิดงานกาล่าไนท์ตามโครงการสืบสานภูมิปัญญา OTOP ผ้าไทย และเผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าแห่งสยาม
วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๙.๐๐ น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานกาล่าไนท์ตามโครงการสืบสานภูมิปัญญา OTOP ผ้าไทย และเผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าแห่งสยาม โดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ฯ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ ได้รับเกียรติร่วมในพิธีเปิดงานฯ พร้อมด้วย นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ รองประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ อาจารย์ศรีวรรณ สายฟ้า รองประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ นางมลสุดา ชำนิประศาสน์ รองประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ และคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร พร้อมด้วยองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานกาล่าไนท์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญา การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ในการพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สามารถขยายตลาดเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น และเพื่อส่งเสริมสนับสนุน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ให้มีช่องทางการตลาด มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ณ ห้อง Royal Jubilee Ballroom อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
ในโอกาสนี้ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ฯ ขอเชิญเที่ยวงาน otop city ๒๐๒๐ จัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ ณ อาคารชาเลนเจอร์ ๑-๓ อิมแพค เมืองทองธานี ทั้งนี้ มีองค์กรสมาชิก ของสภาสตรีแห่งชาติฯ จากทุกภาคทั่วประเทศ นำสินค้ามาจำหน่ายในงานอีกด้วย ดังนั้นท่านจะได้พบกับสินค้าดี มีคุณภาพ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความเข้มแข็งเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สู่หมู่บ้านชุมชนทั่วประเทศ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ
๕๙๒. ข่าวพิธีพระราชทานปริญญาฯ มรภ.ภาคใต้ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ประจำวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๓
Link Clip ข่าวพิธีพระราชทานปริญญาฯ มรภ.ภาคใต้ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ประจำวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๓
๕๙๑. สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ จัดประชุมใหญ่สามัญ ชู สตรีมีความรู้ช่วยเหลือผู้อื่น ยามฉุกเฉิน ควบคู่โครงการ“สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
อาทิตย์ที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๓ ดร.อัจฉรา พรสีมา ประธานสมาคมสตรีอาสาสมัคร รักษาดินแดน(ส.อ.ร.ด )ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูภัมถ์ ร่วมกับนายก/ประธานสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนจังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาชิกของสมาคมสตรีอาสาสมัคร รักษาดินแดน(ส.อ.ร.ด )ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน ๑๔๔ คน จาก ๑๑ จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม เลย นครราชสีมา อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และจังหวัดยโสธ ร่วมกันจัดประชุมใหญ่ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๙ ประจำปี ๒๕๖๓ โดยได้รับเกียรติจาก พลตรี สวราชย์. แสงผล รองแม่ทัพภาคที่ ๒ เป็นประธานเปิด การประชุม ณ อาคารยุทธไชย กองพลทหารราบที่ ๓ กองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
ดร.อัจฉรา พรสีมา กล่าวว่าสมาคมสตรีอาสาสมัคร รักษาดินแดน(ส.อ.ร.ด)ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ขานรับนโยบายสภาสตรีแห่งชาติฯ ในการส่งเสริมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เทิดทูนสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สร้างสรรค์สามัคคี ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี มุ่งมั่นทำความดี นำพาสตรีไทยก้าวไกลสู่สากล โดยการประชุมใหญ่ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๙ ประจำปี ๒๕๖๓ มีการรายงานผลงาน และทบทวน แผนกิจกรรมที่ดำเนินการใน ปี ๒๕๖๔ ทั้งนี้ทุกกิจกรรม เป็นการทำงานให้กับสังคมโดยรวม และเป็นการกระชับมิตรความสามัคคีในกลุ่มสตรี อีกทั้งฝึกฝนให้สตรีมีความสามารถที่จะป้องกันตนเองเมื่อยามคับขัน และยังฝึกให้สตรีมีความรู้ในการช่วยเหลือผู้อื่น ในการพยาบาลยามฉุกเฉิน รู้จักการสื่อสาร การรู้จักใช้อาวุธ สามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครอง แพทย์ พยาบาล
นอกจากนี้ สมาคมสตรีอาสาสมัคร รักษาดินแดน(ส.อ.รอด)ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้หล่อหลอมให้กรรมการและสมาชิกทุกท่าน สนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในสังคม ควบคู่โครงการ“สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ของสภาสตรีแห่งชาติฯ กับการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยจิตสำนึก สามารถส่งต่อคุณค่าของมรดกทางสังคมและทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในการดำรงชีวิตให้ลูกหลานได้สืบสานต่อไป
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๕๙๐. สภาสตรีแห่งชาติฯ เข้าร่วมประชุมกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดประชุมคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกสตรีทำงานดีเด่น ในโอกาสจัดงานวันสตรีสากลฯ เตรียมความพร้อมการจัดงานวันสตรีสากล ประจำปี ๒๕๖๔
วันพุธที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๓๐ น..นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖ (๒๕๖๑ – ๒๕๖๔) มอบหมายให้ ดร.อรุณศรี จงเจียมจิตต์ กรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖ (๒๕๖๑ – ๒๕๖๔) และประธานคณะกรรมการบริหาร ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมัยที่ ๒๖ (๒๕๖๑ – ๒๕๖๔) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกสตรีทำงานดีเด่น ในโอกาสจัดงานวันสตรีสากลฯ เตรียมความพร้อมการจัดงานวันสตรีสากล ประจำปี ๒๕๖๔ โดยมี นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกสตรีทำงานดีเด่น เพื่อพิจารณาคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การคัดเลือกสตรีทำงานดีเด่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔ โดยมีคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น ๕ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๕๘๙. สภาสตรีแห่งชาติฯ เข้าร่วมประชุม คณะกรรมการจัดงานวันสตรีสากลฯ เตรียมความพร้อมการจัดงานวันสตรีสากล ประจำปี ๒๕๖๔
วันอังคารที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ น.นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖ (๒๕๖๑ – ๒๕๖๔) มอบหมายให้ ดร.อรุณศรี จงเจียมจิตต์ กรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖ (๒๕๖๑ – ๒๕๖๔) และประธานคณะกรรมการบริหาร ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมัยที่ ๒๖ (๒๕๖๑ – ๒๕๖๔) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการจัดงานวันสตรีสากล ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม และมี นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการจัดงานวันสตรีสากล ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณากำหนดการจัดงานและกิจกรรมในงานวันสตรีสากลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ รวมถึงแนวคิดหลัก (Theme) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการจัดงาน ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น ๕ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
การจัดงานสตรีสากล ประจำปี ๒๕๖๔ กำหนดจัดงานในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๓ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนแวนชั่น สำหรับในปีนี้ แนวคิดหลัก (Theme) งานวันสตรีสากล ประจำปี ๒๕๖๔ มติที่ประชุมได้สรุปดังนี้ .”แรงงานสตรี รวมพลังฝ่าวิกฤต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ให้ยั่งยืน” แบ่งเป็นประเภท สตรีทำงานดีเด่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ (๘ ประเภท) (รวม ๓๒ รางวัล) ประกอบด้วย
๑. สตรีนักนักบริหารดีเด่น (จำนวน ๙ คน)
๒. สตรีผู้ปฎิบัติการดีเด่น รวม ๙ คน
๓. สตรีเครือข่ายด้านแรงงานดีเด่น รวม ๖ คน
๔. สตรีผู้ประกอบการอาชีพอิสระดีเด่น รวม ๔ คน
๕. ศิลปินสตรีดีเด่น รวม ๑ คน
๖. สื่อมวลชนสตรีดีเด่น รวม ๑ คน
๗. สตรีนักวิชาการด้านแรงงานดีเด่น รวม ๑ คน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๕๘๘.ข่าวโทรทัศน์พิธีพระราชทานปริญญาหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๓
Link Clip ข่าวพิธีพระราชทานปริญญาฯ มรภ.ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ 10 ธันวาคม 2563 (วันที่ 3)
๕๘๗.ข่าวโทรทัศน์พิธีพระราชทานปริญญาหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓
Link Clip ข่าวพิธีพระราชทานปริญญาฯ มรภ.ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ 9 ธันวาคม 2563 (วันที่ 2)