๖๘๘. สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน จังหวัดนครราชสีมา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมเป็นกำลังใจ มอบอาหารและเครื่องดื่ม ให้นายกเหล่ากาชาด ส่งมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยจากการติดเชื้อ โควิด - ๑๙ ในพื้นที่จังหวัดนครราชส
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ดร.นรินทิพย์ กาญจนศิริ นายกสมาคม สตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน จังหวัดนครราชสีมา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อม คณะกรรมการสมาคม เดินทางไปมอบอาหารและเครื่องดื่ม ให้นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา เพื่อมอบส่งให้เป็นกำลังใจ ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙ อย่าเข้มแข็ง โดยมอบอาหาร ขนมและเครื่องดื่ม ประกอบด้วย ผัดหมี่โคราช ๑๒๐ กล่อง นม ขนม น้ำ รวม ๑๒๐ ชุด ข้าวเหนียวไก่ทอด ๑๒๐ ชุด ขนม กระหรี่ปัฟ ๑๒๐ ชุด น้ำส้มคั้นสดใหญ่ ๑๒๐ ขวด และน้ำดื่ม จำนวน ๒๒๔ ขวด ณ ครัวสนาม สำนักงานเหล่ากาชาด จังหวัดนครราชสีมา
ดร.นรินทิพย์ กาญจนศิริ กล่าวว่าสมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน จังหวัดนครราชสีมา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติภารกิจของท่านนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา ด้วยการส่งมอบอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด ปลอดภัย เพื่อเป็นการขอขอบคุณและเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ได้เสียสละทั้งแรงกายและแรงใจ รวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพื่อก้าวข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
รายงานภาพข่าว : สตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน จังหวัดนครราชสีมา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ
๖๘๗. สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ เดินหน้าต่อเนื่อง มอบเงินอีก ๑ แสนบาท ให้โรงพยาบาลศูนย์จังหวัดอุดรธานี สู้ภัยวิกฤตโควิด-๑๙ โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ร่วมเป็นสักขีพยาน
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๓๐ น.นางกอบแก้ว คงน้อย นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายทะนะเทพ วิบูล ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานีและคณะกรรมการสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี เดินทางไปมอบเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้กับแพทย์หญิงฤทัย วรรธนวินิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดอุดรธานี และในโอกาสนี้ สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี ได้รับเกียรติจาก นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วย นายศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.จังหวัดอุดรธานี ร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบให้โรงพยาบาลศูนย์จังหวัดอุดรธานี ในการสนับสนุนการดำเนินงานของบุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์จำเป็นที่ใช้รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-๑๙ เพื่อให้พี่น้องประชาชน ร่วมกันก้าวผ่านวิกฤติโควิด-๑๙ นี้ได้อย่างปลอดภัย ณ ตึกอำนวยการชั้น ๗ โรงพยาบาลศูนย์จังหวัดอุดรธานี
นางกอบแก้ว คงน้อย นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-๑๙ ถือว่ามีการแพร่ระบาดอยู่ ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และคณะแพทย์ ยังต้องมีการตรวจหาเชิงรุกในชุมชนต่าง ๆ และจากการแพร่ระบาดระลอกนี้สังเกตพบว่ามีผู้ป่วยที่อาการหนักเพิ่มมากขึ้นกว่ารอบก่อน ซึ่งสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วย ที่ปรึกษาสมาคม และกรรมการในสมาคมฯ ได้ช่วยกันสนับสนุน ทั้งด้านงบประมาณ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร และกำลังใจ อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีกำลังใจในการทำงานที่จะดูแลคนไข้ต่อไป
นางกอบแก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า ขออนุญาตกล่าวถึงความรู้สึกจริงๆ ถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชน จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของ COVID-๑๙ จากการรายงานทางการแพทย์มีคนไข้เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ในหลายๆพื้นที่ แพทย์และพยาบาลทำงานกันอย่างเต็มที่ เพื่อทุกคน ดังนั้นจึงอยากให้ทุกท่านได้ดูแลสุขภาพตนเอง ด้วยการอยู่บ้านให้มากที่สุดในช่วงนี้ อย่าลืมสวมหน้ากาก เมื่อมีความจำเป็นออกจากบ้านมาทำงาน หรือปฏิบัติภารกิจต่างๆ หลี่กเลี่ยงอย่าไปในพื้นที่แออัด ระมัดระวังตัว ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนจะรับประทานอาหารหรือก่อนสัมผัสใบหน้า ซึ่งจะทำให้ทุกท่านปลอดภัย พ้นจากการติดเชื้อ เมื่อไม่ป่วยก็ไม่ต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ดิฉันเชื่อว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทุกท่านสามารถทำได้เพื่อตัวท่านเองและครอบครัว สิ่งเหล่านี้ยังทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีกำลังใจในการทำงานที่จะดูแลคนไข้ต่อไป
รายงานข่าว : สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๖๘๖. ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการฯ บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) กรมประชาสัมพันธ์ ถนนวิภาวดีรังสิต
วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำคณะกรรมการสภาสตรีแห่งชาติฯ ประกอบด้วย ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี รองประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางรัศรินทร์ ลัดใหม่กุลวัฒน์ กรรมการบริหาร นางจงชนก พัชรประภากร กรรมการบริหาร ธัญพักตร์ สุรศักดิ์นิธิกุล อุปนายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดร้อยเอ็ด บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) กรมประชาสัมพันธ์ ถนนวิภาวดีรังสิต
ภาพ/ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๖๘๕. ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการฯ บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕
วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำคณะกรรมการสภาสตรีแห่งชาติฯ ประกอบด้วย ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี รองประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดร.สมจิตร ศิริเสนา เลขาธิการ นางณัฏฐ์ปภาณ จันทร์ละมูล รองประธานคณะกรรมการบริหาร นางธัญพักตร์ สุรศักดิ์นิธิกุล อุปนายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดร้อยเอ็ด บันทึกเทปรายการพิเศษ ถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕
ภาพ/ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๖๘๔. สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชนพช. จับมือ มรภ.กำแพงเพชร ลงนามบันทึกข้อตกลง พัฒนานวัตกรรมทอผ้าด้วยใยจากต้นกล้วยไข่ ยกระดับคุณค่าภูมิปัญญา ชู บูรณาการ "สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน"
วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และรองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วงษ์บุญมาก อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” และนางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน โดยมี นายเชาวลิต แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร และ นางนวลจันทร์ แสงอุทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดกำแพง ให้การต้อนรับ และมีผู้ร่วมงานประกอบด้วย พล.อ.สุรพล ตาปนานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก นายปริญญา ฤกษ์หร่าย นางณิชเบญญา จันทนจุลกะ ฤกษ์หน่าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกำแพงเพชร ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี รองประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ดร.สมจิตร ศิริเสนา เลขาธิการสภาสตรีแห่งชาติฯ ดร.อรุณศรี จงเจียมจิตต์ กรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติฯ นางเยาวมาลย์ วัชระเรืองศรี กรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติฯ นางนันทิยา วงศ์วานิชย์ กรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ และคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ณ พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
ในการนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวขอบคุณ นายเชาวลิตแสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรที่เห็นความสำคัญและเป็นกำลังสนับสนุนขับเคลื่อนโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน" ซึ่งนับเป็นระยะเวลากว่า ๖๐ ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์แห่งศิลปาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาผ้าไทยให้ทรงคุณค่า จนเกิดรูปธรรมของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพสกนิกรชาวไทย รวมทั้งกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้สนองแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระทัยตั้งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานสมเด็จพระพันปีหลวง เพื่อสืบสานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของคนไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทยว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อให้ทุกเพศทุกวัย สามารถสวมใส่ได้ทุกวัน รวมถึงพระองค์ได้เสด็จเปิดงาน OTOP City ๒๐๒๐ ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่พสกนิกร จึงได้พระราชทานแบบลายผ้าแก่ช่างทอผ้า ชื่อลาย“ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ในการสื่อความหมายถึง การส่งมอบความรักและความสุขให้แก่ชาวไทย และพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบ พัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามเอกลักษณ์ประจำถิ่น ให้เกิดความทันสมัย เพื่อให้รายได้ กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค เสมือนเป็นน้ำทิพย์ชะโลมใจแก่พี่น้องประชาชนคนไทยอย่างทั่วถึง รวมถึงรัฐบาลนำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นความสำคัญของการสวมใส่ผ้าไทยออกเป็นมติคณะรัฐมนติเห็นชอบในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ ให้ถือมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เป็นนโยบายของรัฐบาล ส่งเสริมให้ข้าราชการ ประชาชน แต่งกายด้วยผ้าไทย ตามความเหมาะสมอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ วัน เพื่อสร้างค่านิยมและการตระหนัก รับรู้ รักษามรดก อัตลักษณ์ภูมิปัญญาของไทย การลงนามในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมีอาชีพในการทอผ้า ทั้งเป็นอาชีพเสริม และอาชีพหลักได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง นับได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ จากการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวทำให้กลุ่มทอผ้าจังหวัดกำแพงเพชร จำนวน ๓๔ กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับมอบลายผ้าพระราชทาน จำนวน ๒๑ กลุ่ม สามารถเพิ่มยอดจำหน่าย ยกระดับคุณภาพชีวิต
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวขอบคุณคณะสภาสตรีแห่งชาติ และกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนขับเคลื่อนโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ ในแผ่นดิน" อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีสมเด็จพระพันปีหลวง ทรงเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงาน พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญา ในการพลิกฟื้นผ้าไทย จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายให้กลับมาเป็นอาภรณ์ที่สวมใส่ให้คนทั่วโลกยอมรับถึงคุณค่าและความงดงามอันประเมินค่ามิได้ ทำให้สตรีไทยเกิดอาชีพเสริม จนปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลัก โดยการสืบสานต่อยอดในพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี ที่พระราชทานพระราชดำรัสในงานวันสตรีไทย เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ มีใจความสำคัญว่า พระองค์จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระพันปีหลวง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อปวงชนชาวไทย สืบสานมายังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระเมตตาในการที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมสิ่งที่สำคัญที่สุดของความเป็นไทย เรื่องหนึ่งคือ เรื่องของวัฒนธรรมการแต่งกาย สนับสนุน ส่งเสริม รื้อฟื้น ชีวิตผ้าไทย โดยพระองค์ท่านมองเห็นถึงจุดอ่อนของวงการผ้าไทย คือ ผ้าทอแบบเดิม ไม่มีความโดดเด่นตามยุคตามสมัย พระองค์ทรงได้แนะนำการประยุกต์พัฒนาลวดลายให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้วงการทอผ้าไทย มีความคึกคักเป็นอย่างมาก เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ด้วยลมหายใจของช่างทอ ซึ่งผ้าทุกผืนเกิดจากการถักทอด้วยลมหายใจของสตรี หากคนไทยพร้อมใจกันสวมใส่ผ้าไทยทุกวันทั้งประเทศ จะช่วยเป็นการส่งเสริมการทอผ้าในชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ ลดปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐาน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ อย่างน้อย หากคนไทย ๓๕ ล้านคน ร่วมใจกันสวมใส่ผ้าไทย ซื้อผ้าเพียงคนละ ๑๐ เมตร รวม ๓๕๐ ล้านเมตร ๆละ ๓๐๐ บาท เราจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนกลับคืนสู่พี่น้องประชาชนทันทีมากกว่า ๑ แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง อย่างยั่งยืน
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วงษ์บุญมาก อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร กล่าวว่า ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านบริการวิชาการ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การวิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนา การแปรรูป รวมถึงการตลาดและการประชาสัมพันธ์ ในการสนับสนุนให้การรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทยของรัฐบาลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวขอบคุณทุกท่านและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย รณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองจนเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะรองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วงษ์บุญมาก อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร ที่ช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นให้มีนวัตกรรม คิดค้นศึกษาวิจัย ด้วยการนำกาบกล้วยไข่มารีดเนื้อเยื้อออก โดยใช้ช้อนขูดเป็นเส้นใย นำเส้นใยกล้วยไข่ปั่นรวมกับใยฝ้าย เพื่อนำไปถักทอผ้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าทอให้มีความหลากหลาย และโดดเด่น แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ก่อให้เกิดวงจรธุรกิจมหาภาคอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาการย้อมเส้นฝ้ายจากผงศิลาแลง ซึ่งเดิมจังหวัดกำแพงเพชรที่ผ่านมาไม่มีผ้าพื้นเมืองประจำจังหวัด จึงได้ทำการคิดค้นกระบวนการย้อมผ้าจากผงศิลาแลง เพื่อให้ได้สีจากธรรมชาติ เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ เกิดกระตุ้นให้ชุมชนเห็นคุณค่าของการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และร่วมชมนิทรรศการหัตถกรรมผลิตภัณฑ์ OTOP ของดีของเด่นทั้ง ๑๑ อำเภอของจังหวัดกำแพงเพชร
สำหรับ การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการรักษา สืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ทำให้ผ้าทอไทยทุกผืนเกิดจากการถักทอด้วยลมหายใจของพี่น้องประชาชน เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจครัวเรือน และเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไปยังลูกหลานเพื่อรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ จึงขอเชิญชวนทุกท่านสวมใส่ผ้าไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนให้ยั่งยืนสืบไป
ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) ในแต่ละจุดโดยทุกคนต้องผ่านจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าเพื่อคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย พร้อมจัดบริการเจลล้างมือแอลกอฮอล์ใช้ทำความสะอาดและต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาอย่างเคร่งครัด
ขอบคุณภาพ/ข่าว : กองประชาสัมพันธ์ กรมการพัฒนาชุมชน
เรียบเรียงข้อมมูล : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
๖๘๓. “ดร.วันดี” ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ในฐานะซีอีโอ SPCG ได้รับเชิญจาก “ห้องสมุดมารวย” ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ร่วมถ่ายทอดวิสัยทัศน์ และแนวคิดการบริหารองค์กรที่ได้รับในคลิปซีรีย์ “หนึ่งในใจ” เนื่องในโอกาสที่ห้องสมุดมารวย ก้าวสู่ปีที่ ๑๗
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ในฐานะ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG หนึ่งในผู้บริหารที่ได้รับรางวัล Set Awards ปี ๒๕๖๓ และได้รับเชิญจาก “ห้องสมุดมารวย” ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพื่อให้มาร่วมถ่ายทอดวิสัยทัศน์ และแนวคิดการบริหารองค์กรที่ได้รับในคลิปซีรีย์ “หนึ่งในใจ” เนื่องในโอกาสที่ห้องสมุดมารวย ก้าวสู่ปีที่ ๑๗ โดยการมาร่วมถ่ายทอดวิสัยทัศน์ครั้งนี้ได้คัดเลือกหนังสือ ”A Passion For Success” ซึ่งเขียนโดย ดร. Kazuo Inamori ผู้ก่อตั้งบริษัท Kyocera Corporation ซึ่งเขียนโดย ดร. Kazuo Inamori ผู้ก่อตั้งบริษัท Kyocera Corporation ประเทศญี่ปุ่น และเป็นผู้บุกเบิกพลังงานแสงอาทิตย์คนแรกๆ ของโลก และถือเป็นหนังสือที่ สร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ของ “เอสพีซีจี” เข้าสู่การเป็นผู้พัฒนาโซลาร์ฟาร์ม ๓๖ โครงการ กำลังการผลิต ๒๖๐ เมกะวัตต์ ในปัจจุบัน
สำหรับ Passion ในการทำธุรกิจผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ คือ อยากเห็นสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในโลก และพลังงานธรรมชาติถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงให้กับพลังงานไทย ส่วนสาระสำคัญที่ได้รับจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ ได้เรียนรู้หลักหลักสำคัญ ๓ ประการในการขับเคลื่นอตัวเราในการทำงาน คือ ๑. Ability ความสามารถในการทำงานและเชื่อมั่นว่าจะทำได้สำเร็จ ๒. Effort ความพยายาม และ ๓. Attitude ทัศนคติที่ดีในการทำงาน โดยหากทุกคนมี ๓ องค์ประกอบนี้ ไม่ว่าจะทำงานเล็กหรืองานใหญ่ เชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างแน่นอนอ่าน
ติดตามเพิ่มเติมที่ https://youtu.be/MYkxYAgi7yY
เรียบเรียงข้อมูล : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
๖๘๒. สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมต้อนรับประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ อธิบดีกรมการพัฒนาขุมชนในโอกาส พช. ร่วมกับ สภาสตรีแห่งชาติฯ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”
วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. นางกอบแก้ว คงน้อย นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนางลักษมี สุนทรสัจบูลย์ ที่ปรึกษาสมาคมฯ เข้าร่วมต้อนรับ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และนางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในโอกาส กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติฯ เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย โดยมี นางนวินดา สุจินพรหม ประธานสมาคมแม่บ้าน ทบ. สาขา ร.๑๓ พัน.๓ นายจำรัส กังน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และ นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน (พช.) คณะผู้บริหาร ข้าราชการ กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับ นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และทีมคณะที่ปรึกษา คณะทำงาน คณาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการ Coaching ในครั้งนี้มี ศิลปินช่างทอผ้า กลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า จาก ๒๐ อำเภอ ของจังหวัดอุดรธานี รวม ๕๐ คน เข้าร่วม ณ กลุ่มทอผ้าชุมชนคุณธรรมโนนสว่าง หมู่ที่ ๙ ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
รายงานภาพข่าว : สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ
เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ
๖๘๑. สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ถวายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ป้องกัน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – ๑๙ จำนวน ๑๐๐ กล่อง สำหรับพระสงฆ์ ให้กับคณะสงฆ์ วัดพระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย
วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. นางกอบแก้ว คงน้อย นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และ นายธนเทพ วิบูล ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี ได้ถวายหน้ากากอนามัยการแพทย์ ป้องกัน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID - ๑๙ ละอองฝอยในอากาศ รวมถึงเชื้อ P.M 2.5 จำนวน ๑๐๐ กล่อง ให้พระครูภาวนา เจติยาภิบาล เจ้าอาวาสวัดพระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย เพื่อนำไปให้คณะสงฆ์ และสามเณร จำนวน ๖๐ รูป สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-๑๙
รายงานภาพข่าว : สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี
เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
๖๘๐. กรมการพัฒนาชุมชน. ร่วมกับ สภาสตรีแห่งชาติฯ สนองแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”
ดร.วันดี กุญชรยาคง ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมพิธีเปิดจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) โดย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และเตรียมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ณ กลุ่มทอผ้าชุมชนคุณธรรมโนนสว่าง หมู่ที่ ๙ ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย โดยมี นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางนวินดา สุจินพรหม ประธานสมาคมแม่บ้าน ทบ. สาขา ร.๑๓ พัน.๓นายจำรัส กังน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และ นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน (พช.) คณะผู้บริหาร ข้าราชการ กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับ นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และทีมคณะที่ปรึกษา คณะทำงาน คณาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการ Coaching ในครั้งนี้มี ศิลปินช่างทอผ้า กลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า จาก 20 อำเภอ ของจังหวัดอุดรธานี รวม ๕๐ คน เข้าร่วม ณ กลุ่มทอผ้าชุมชนคุณธรรมโนนสว่าง หมู่ที่ ๙ ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สนองแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระทัยตั้งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์แห่งศิลปาชีพ เพื่อสืบสานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาผ้าไทยให้ทรงคุณค่า จนเกิดรูปธรรมของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพสกนิกรชาวไทย และต่อยอดการพัฒนาลายผ้าพระราชทาน ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ตามพระดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” ผ่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน โดยได้ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย ในกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) โดยร่วมบูรณาการกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย โดยการ Coaching ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานการทอผ้า รวมทั้งสร้างศิลปินช่างทอผ้ารุ่นใหม่ของไทยทั้ง ๔ ภูมิภาค และเตรียมความพร้อมในการประกวดผ้าลายพระราชทาน ต่อไป
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทยว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค พร้อมทรงพระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ และแรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จฯ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กว่า 50 ปี ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ผ้าไทยเพื่อให้ประชาชนมีรายได้ และรักษาภูมิปัญญาอันล้ำค่านี้ไม่ให้สูญหาย และเพื่อสะท้อนให้เห็นอีกว่า การสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมไทยมีความงดงามอยู่ทุกยุคสมัย
จึงเป็นโชคดีของคนไทยที่พวกเรามี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดพระราชปณิธานด้วยการผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค ที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองด้านวัฒนธรรม ศิลปหัตถกรรมมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ จากการที่พระองค์ท่านทรงพระวิริยะอุตสาหะเสด็จไปยังหัวเมืองทั้ง ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศ ถึง ๒ รอบ เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทยไม่ว่าจะในชนบทและเมือง กล่าวได้ว่า พระดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” และการออกแบบ พระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ให้แก่ พสกนิกร ชาวไทย เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผ้าไทยยังคงอยู่คู่กับสังคมไทย ทำให้พี่น้องทั้งหลาย กล้าที่จะออกจากกรอบความคิดที่มีต่อผ้าไทยแบบดั่งเดิม ในวันนี้ผ้าไทยจึงมีความน่าสนใจ ทั้งในแง่ของคนทั่วไปที่สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ทุกโอกาส และช่างฝีมือ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการด้านผ้าไทยที่ได้รับพระกรุณาธิคุณหนุนเสริมด้านความคิดสร้างสรรค์ จนทำให้เกิดการเพิ่มคุณค่า และรายได้ แม้ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID – ๑๙) ก็ตาม
กรมการพัฒนาชุมชน มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสน้อมนำพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ มาสู่พี่น้องประชาชนในกิจกรรมการอบรม Coaching ครั้งนี้ โดยเป้าประสงค์สูงสุดคือการสนองแนวพระดำริ ด้วยวิถีของการการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ผ้าไทยให้ได้รับการยกระดับ และคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในสิ่งที่พระองค์ทรงเน้นย้ำ อาทิ การต่อยอดให้ช่างทอพัฒนาขยายหน้ากว้างของผ้าที่จากเดิมทำได้เพียง ๘๐ เซนติเมตร – ๑ เมตร ให้ขยายได้มากกว่า ๑.๒๐ เมตร ถึง ๑.๕๐ เมตร ทำให้ผ้านำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และสร้างทางเลือก ความต้องการให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ประการต่อมาคือการส่งเสริมให้ใช้สีธรรมชาติ เลี่ยงกระบวนการใช้สารเคมี เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย และในด้านการออกแบบตัดเย็บ ให้ใส่ใจในรายละเอียดความประณีต การเก็บรายละเอียดงานของผ้าทุกด้านทุกมุม ตลอดถึงการเก็บตัวอย่างผ้า กระบวนการ กรรมวิธี อัตราส่วน ด้วยการบันทึก เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้รักษาภูมิปัญญา และการถักทอที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันในทุก ๆ ผืน คงไว้ซึ่งจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ ในวันนี้จึงเป็นนิมิตรหมายอันดี ในการนำทั้งศิลปินช่างทอดั่งเดิมในชุมชน ท้องถิ่น และคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะฝีมือและเห็นถึงคุณค่าผ้าไทย เข้ามารับการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากคณาจารย์ วิทยากร ที่การันตีได้ว่ามีความเชี่ยวชาญ เป็นสุดยอดฝีมือในด้านต่างๆ แห่งวงการแฟชั่นไทย และเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระองค์อีกด้วย ขอให้ทุกท่านจงมีความภาคภูมิใจในการร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอด ผ้าไทยให้มีความโดดเด่น งดงาม และเก็บเกี่ยวประยุกต์องค์ความรู้ในวันนี้ให้ได้มากที่สุด เชื่อว่าศักยภาพของทุกท่านจะ สร้างสรรค์ผ้าไทยให้มีชีวิตชีวาสืบไป”
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า “นับเป็นเวลากว่า ๖๐ ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของไทย ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพขึ้น เมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ เพื่อทำการฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร อีกทั้งยังมีพระประสงค์ เพื่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยให้คงอยู่สืบไป เมื่อมาศึกษาพระราชกรณียกิจ โดยเฉพาะผ้า ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องแต่งกายประดับอาภรณ์เท่านั้น แต่เปรียบเสมือนวัฒนธรรม สายใยแห่งความผูกพัน ความรักพระองค์ท่านที่มีต่อปวงสตรี
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ทรงงานหนัก ศึกษาหาความรู้อย่างมากมาย มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพของผ้า เพื่อให้ชีวิตของปวงประชามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทรงเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจและแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่วงการผ้าไทย ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เกิดภาพลักษณ์ที่ความทันสมัยแก่วงการผ้าไทย อย่างเป็นประจักษ์ผ่านลายผ้าพระราชทาน ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ตามพระดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” ในปี 2563 ที่ผ่านมา มาจนถึงในปีนี้พวกเรายังได้รับพระเมตตา ในการส่งคณาจารย์ วิทยากร ผู้ทรงความรู้ความเชี่ยวชาญด้านแฟชั่น มาเพื่อยกระดับองค์ความรู้ และมาตรฐานคุณภาพการพัฒนาผ้าไทย ในกิจกรรมการอบรม Coaching ครั้งนี้ จึงขอเชิญชวนศิลปิน ผู้มีฝีมือด้านผ้า ได้ร่วมกันส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดผ้าลายพระราชทาน ร่วมสร้างปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ของวงการผ้าไทย ผ่านผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และในส่วนของประชาชนทั่วไปขอเชิญร่วมอุดหนุนและสวมใส่ผ้าไทย เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการพัฒนาชุมชมและวิถีชีวิตชาวบ้านให้ดำเนินไปได้กับความร่วมสมัยอย่างมีความสุข ตลอดจนมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 โดยการรณรงค์เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ผ้าไทยทุกผืน เป็นสิ่งที่สามารถเล่าสะท้อนเรื่องราววัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาคได้เป็นอย่างดี คุณค่าของผ้าทุกผืนคือ การสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ตัวผู้ทอ ในอีกด้านหนึ่งคือการสร้างชีวิต และลมหายใจ ให้ศิลปะหัตกรรมของไทยเรายังคงมีชีวิตชีวาต่อไป”
ด้าน นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ กล่าวว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงใช้วิชาและประสบการณ์ที่ได้ไปทอดพระเนตรแฟชั่นจากต่างประเทศ และได้นำวิชาเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้คณะทำงาน ให้คณะทำงานได้ทำการ Coaching นำกระแสแฟชั่นมาเพื่อให้กลุ่มทอผ้าได้ประยุกต์ไปสู่สากลได้ โดยคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก ถือเป็นตัวแทนในการนำพระราชปณิธานในด้านการอนุรักษ์ พัฒนาผ้าไทยสู่สากล และพระเมตตาในการช่วยเหลือพสกนิกร ผู้ประกอบการผ้าไทยทุกภูมิภาคให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง โดยนำลายผ้าพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เป็นตัวตั้งเป็นดังแบบฝึกให้พี่น้องประชาชนช่วยกันพัฒนาฝีมือ และกระตุ้นด้วยกระบวนการ การประกวดที่กำลังจะมาถึง ในระดับภาค ระหว่างวันที่ ๗ – ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการจัดการประกวด คือ การฟื้นฟูและส่งเสริมให้ช่างทอที่มีฝีมือที่มีอยู่ทั่วประเทศ หันกลับมาอนุรักษ์และส่งเสริมงานหัตถกรรมไทย ซึ่งการที่คณะได้เข้ามา Coaching ในพื้นที่ทั้ง ๘ จังหวัด ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ คาดหวังว่าการประกวดครั้งนี้จะมีผู้สนใจเข้าร่วมราว ๓,๐๐๐ คน โดยการประกวดในระดับประเทศเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานคณะกรรมการตัดสินด้วยพระองค์เอง”
ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหนังสือ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2022 ให้แก่ตัวแทนผู้เข้าร่วมการอบรม จำนวน ๑๐ คน โดยเป็นหนังสือที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นบรรณาธิการด้วยพระองค์เอง เพื่อพัฒนาและชี้นำทิศทางแนวโน้มการออกแบบผ้าไทยสู่สากล เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ประกอบสัมมาอาชีพ และร่วมสืบสานภูมิปัญญาไทยที่ทรงคุณค่า สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทั้ง ๘ ครั้ง ในจังหวัดสกลนคร มหาสารคาม ขอนแก่นลำพูน สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี นครราชสีมา และอุดรธานี โดยผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้รับองค์ความรู้ อาทิ คุณภาพเส้นใย ไหมพันธุ์ไทย ฝ้ายพื้นเมือง ,การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าไทย การผสมผสานผ้าไทยในคอลเลคชั่น โดยในทุกครั้งได้รับความสนใจจากศิลปินช่างทอผ้าเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) โดย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และเตรียมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”
ขอบคุณที่มา: ภาพ/ข่าว กองประชาสัมพันธ์ กรมการพัฒนาชุมชน
เรียบเรียง : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
๖๗๙. สมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟฯ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ระดมทุน จำนวน ๒ ล้าน ๗ แสนบาท จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ช่วยเหลือผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจ เครื่องช่วยฟังปอดช่วยฟังการเต้นของหัวใจ ให้โรงพยาบาลพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) และจังหวั
วันพุธที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน นายกสมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ องค์กรสมาขิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมคณะกรรมสมาคม ผู้แทนศิษย์เก่าสมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟฯ รุ่นต่างๆ และภาคีเครือข่ายผู้มีจิตศรัทธาได้ ระดมทุนจากโครงการ SJC4HERO ครั้งที่ ๒ จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจ จำนวน ๕ เครื่อง หน้ากากทางการแพทย์ ชนิด N95 จำนวน ๗๔๔๐ ชิ้น ชุด PPE จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด เอธิลแอกอฮอล์ จำนวน ๒,๐๐๐ ลิตร และ เครื่องช่วยฟังปอด ช่วยฟังการเต้นของหัวใจแบบไร้สาย จำนวน ๑๐๐ ชุด โดยในวันนี้ นำมามอบให้บุคลากรทางการแพทย์จากรพ.หัวเฉียว กรุงเทพ และโรงพยาบาลศรีธัญญา จังหวัดนนทบุรี
ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน กล่าวว่า จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-๑๙ ที่ขณะนี้ได้มีอัตราของผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีอัตราการเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว สมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟ.จึงได้สำรวจความต้องการเร่งด่วนในทางการแพทย์ทั่วประเทศ พบว่าเครื่องช่วยหายใจ เครื่องช่วยฟังปอด ช่วยฟังการเต้นของหัวใจเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและไม่เพียงพอ จึงนับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะต้องร่วมระดมระดมทุนจากโครงการ SJC4HERO ครั้งที่ ๒ จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย และแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ให้ตรงความจำเป็นและความต้องการมากที่สุด
ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมคณะกรรมสมาคม ผู้แทนศิษย์เก่าสมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟ รุ่นต่างๆ และภาคีเครือข่ายผู้มีจิตศรัทธาได้ ระดมทุนจากโครงการ SJC4HERO ครั้งที่ ๒ เป็นเงินทั้งหมด ๒,๗๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านเจ็ดแสนบาทถ้วน) จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ สำหรับผู้ป่วย หวังเป็นอย่างยิ่ง ช่วยลดและชะลอการลุกลามของปอดอักเสบไม่ให้รุนแรง แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) และจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสะสมจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ ได้ทยอยนำส่งเครื่องช่วยฟังปอด ช่วยฟังการเต้นของหัวใจแบบไร้สาย ไปยังโรงพยาบาลและ หน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย โรงพยาบาลสิรินธร สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลเจริญกรุง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลบางบ่อ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อื่นๆ ให้แก่โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบรูพา ชลบุรี โรงพยาบาลค่ายสุรนารี นครราชสีมา มูลนิธิดวงประทีป โรงพยาบาลท่าเรือ คลองเตย
รายงานภาพข่าว : สมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์