๖๘๐. กรมการพัฒนาชุมชน. ร่วมกับ สภาสตรีแห่งชาติฯ สนองแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”

ดร.วันดี กุญชรยาคง ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมพิธีเปิดจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) โดย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และเตรียมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ณ กลุ่มทอผ้าชุมชนคุณธรรมโนนสว่าง หมู่ที่ ๙ ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย โดยมี นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางนวินดา สุจินพรหม ประธานสมาคมแม่บ้าน ทบ. สาขา ร.๑๓ พัน.๓นายจำรัส กังน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และ นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน (พช.) คณะผู้บริหาร ข้าราชการ กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับ นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และทีมคณะที่ปรึกษา คณะทำงาน คณาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการ Coaching ในครั้งนี้มี ศิลปินช่างทอผ้า กลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า จาก 20 อำเภอ ของจังหวัดอุดรธานี รวม ๕๐ คน เข้าร่วม ณ กลุ่มทอผ้าชุมชนคุณธรรมโนนสว่าง หมู่ที่ ๙ ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สนองแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระทัยตั้งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์แห่งศิลปาชีพ เพื่อสืบสานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาผ้าไทยให้ทรงคุณค่า จนเกิดรูปธรรมของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพสกนิกรชาวไทย และต่อยอดการพัฒนาลายผ้าพระราชทาน ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ตามพระดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” ผ่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน โดยได้ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย ในกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) โดยร่วมบูรณาการกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย โดยการ Coaching ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานการทอผ้า รวมทั้งสร้างศิลปินช่างทอผ้ารุ่นใหม่ของไทยทั้ง ๔ ภูมิภาค และเตรียมความพร้อมในการประกวดผ้าลายพระราชทาน ต่อไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทยว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค พร้อมทรงพระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ และแรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จฯ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กว่า 50 ปี ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ผ้าไทยเพื่อให้ประชาชนมีรายได้ และรักษาภูมิปัญญาอันล้ำค่านี้ไม่ให้สูญหาย และเพื่อสะท้อนให้เห็นอีกว่า การสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมไทยมีความงดงามอยู่ทุกยุคสมัย

จึงเป็นโชคดีของคนไทยที่พวกเรามี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดพระราชปณิธานด้วยการผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค ที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองด้านวัฒนธรรม ศิลปหัตถกรรมมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ จากการที่พระองค์ท่านทรงพระวิริยะอุตสาหะเสด็จไปยังหัวเมืองทั้ง ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศ ถึง ๒ รอบ เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทยไม่ว่าจะในชนบทและเมือง กล่าวได้ว่า พระดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” และการออกแบบ พระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ให้แก่ พสกนิกร ชาวไทย เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผ้าไทยยังคงอยู่คู่กับสังคมไทย ทำให้พี่น้องทั้งหลาย กล้าที่จะออกจากกรอบความคิดที่มีต่อผ้าไทยแบบดั่งเดิม ในวันนี้ผ้าไทยจึงมีความน่าสนใจ ทั้งในแง่ของคนทั่วไปที่สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ทุกโอกาส และช่างฝีมือ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการด้านผ้าไทยที่ได้รับพระกรุณาธิคุณหนุนเสริมด้านความคิดสร้างสรรค์ จนทำให้เกิดการเพิ่มคุณค่า และรายได้ แม้ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID – ๑๙) ก็ตาม

กรมการพัฒนาชุมชน มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสน้อมนำพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ มาสู่พี่น้องประชาชนในกิจกรรมการอบรม Coaching ครั้งนี้ โดยเป้าประสงค์สูงสุดคือการสนองแนวพระดำริ ด้วยวิถีของการการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ผ้าไทยให้ได้รับการยกระดับ และคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในสิ่งที่พระองค์ทรงเน้นย้ำ อาทิ การต่อยอดให้ช่างทอพัฒนาขยายหน้ากว้างของผ้าที่จากเดิมทำได้เพียง ๘๐ เซนติเมตร – ๑ เมตร ให้ขยายได้มากกว่า ๑.๒๐ เมตร ถึง ๑.๕๐ เมตร ทำให้ผ้านำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และสร้างทางเลือก ความต้องการให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ประการต่อมาคือการส่งเสริมให้ใช้สีธรรมชาติ เลี่ยงกระบวนการใช้สารเคมี เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย และในด้านการออกแบบตัดเย็บ ให้ใส่ใจในรายละเอียดความประณีต การเก็บรายละเอียดงานของผ้าทุกด้านทุกมุม ตลอดถึงการเก็บตัวอย่างผ้า กระบวนการ กรรมวิธี อัตราส่วน ด้วยการบันทึก เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้รักษาภูมิปัญญา และการถักทอที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันในทุก ๆ ผืน คงไว้ซึ่งจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ ในวันนี้จึงเป็นนิมิตรหมายอันดี ในการนำทั้งศิลปินช่างทอดั่งเดิมในชุมชน ท้องถิ่น และคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะฝีมือและเห็นถึงคุณค่าผ้าไทย เข้ามารับการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากคณาจารย์ วิทยากร ที่การันตีได้ว่ามีความเชี่ยวชาญ เป็นสุดยอดฝีมือในด้านต่างๆ แห่งวงการแฟชั่นไทย และเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระองค์อีกด้วย ขอให้ทุกท่านจงมีความภาคภูมิใจในการร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอด ผ้าไทยให้มีความโดดเด่น งดงาม และเก็บเกี่ยวประยุกต์องค์ความรู้ในวันนี้ให้ได้มากที่สุด เชื่อว่าศักยภาพของทุกท่านจะ สร้างสรรค์ผ้าไทยให้มีชีวิตชีวาสืบไป”

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า “นับเป็นเวลากว่า ๖๐ ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของไทย ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพขึ้น เมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ เพื่อทำการฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร อีกทั้งยังมีพระประสงค์ เพื่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยให้คงอยู่สืบไป เมื่อมาศึกษาพระราชกรณียกิจ โดยเฉพาะผ้า ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องแต่งกายประดับอาภรณ์เท่านั้น แต่เปรียบเสมือนวัฒนธรรม สายใยแห่งความผูกพัน ความรักพระองค์ท่านที่มีต่อปวงสตรี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ทรงงานหนัก ศึกษาหาความรู้อย่างมากมาย มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพของผ้า เพื่อให้ชีวิตของปวงประชามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทรงเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจและแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่วงการผ้าไทย ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เกิดภาพลักษณ์ที่ความทันสมัยแก่วงการผ้าไทย อย่างเป็นประจักษ์ผ่านลายผ้าพระราชทาน ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ตามพระดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” ในปี 2563 ที่ผ่านมา มาจนถึงในปีนี้พวกเรายังได้รับพระเมตตา ในการส่งคณาจารย์ วิทยากร ผู้ทรงความรู้ความเชี่ยวชาญด้านแฟชั่น มาเพื่อยกระดับองค์ความรู้ และมาตรฐานคุณภาพการพัฒนาผ้าไทย ในกิจกรรมการอบรม Coaching ครั้งนี้ จึงขอเชิญชวนศิลปิน ผู้มีฝีมือด้านผ้า ได้ร่วมกันส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดผ้าลายพระราชทาน ร่วมสร้างปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ของวงการผ้าไทย ผ่านผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และในส่วนของประชาชนทั่วไปขอเชิญร่วมอุดหนุนและสวมใส่ผ้าไทย เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการพัฒนาชุมชมและวิถีชีวิตชาวบ้านให้ดำเนินไปได้กับความร่วมสมัยอย่างมีความสุข ตลอดจนมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 โดยการรณรงค์เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ผ้าไทยทุกผืน เป็นสิ่งที่สามารถเล่าสะท้อนเรื่องราววัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาคได้เป็นอย่างดี คุณค่าของผ้าทุกผืนคือ การสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ตัวผู้ทอ ในอีกด้านหนึ่งคือการสร้างชีวิต และลมหายใจ ให้ศิลปะหัตกรรมของไทยเรายังคงมีชีวิตชีวาต่อไป”

ด้าน นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ กล่าวว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงใช้วิชาและประสบการณ์ที่ได้ไปทอดพระเนตรแฟชั่นจากต่างประเทศ และได้นำวิชาเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้คณะทำงาน ให้คณะทำงานได้ทำการ Coaching นำกระแสแฟชั่นมาเพื่อให้กลุ่มทอผ้าได้ประยุกต์ไปสู่สากลได้ โดยคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก ถือเป็นตัวแทนในการนำพระราชปณิธานในด้านการอนุรักษ์ พัฒนาผ้าไทยสู่สากล และพระเมตตาในการช่วยเหลือพสกนิกร ผู้ประกอบการผ้าไทยทุกภูมิภาคให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง โดยนำลายผ้าพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เป็นตัวตั้งเป็นดังแบบฝึกให้พี่น้องประชาชนช่วยกันพัฒนาฝีมือ และกระตุ้นด้วยกระบวนการ การประกวดที่กำลังจะมาถึง ในระดับภาค ระหว่างวันที่ ๗ – ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการจัดการประกวด คือ การฟื้นฟูและส่งเสริมให้ช่างทอที่มีฝีมือที่มีอยู่ทั่วประเทศ หันกลับมาอนุรักษ์และส่งเสริมงานหัตถกรรมไทย ซึ่งการที่คณะได้เข้ามา Coaching ในพื้นที่ทั้ง ๘ จังหวัด ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ คาดหวังว่าการประกวดครั้งนี้จะมีผู้สนใจเข้าร่วมราว ๓,๐๐๐ คน โดยการประกวดในระดับประเทศเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานคณะกรรมการตัดสินด้วยพระองค์เอง”

ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหนังสือ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2022 ให้แก่ตัวแทนผู้เข้าร่วมการอบรม จำนวน ๑๐ คน โดยเป็นหนังสือที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นบรรณาธิการด้วยพระองค์เอง เพื่อพัฒนาและชี้นำทิศทางแนวโน้มการออกแบบผ้าไทยสู่สากล เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ประกอบสัมมาอาชีพ และร่วมสืบสานภูมิปัญญาไทยที่ทรงคุณค่า สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทั้ง ๘ ครั้ง ในจังหวัดสกลนคร มหาสารคาม ขอนแก่นลำพูน สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี นครราชสีมา และอุดรธานี โดยผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้รับองค์ความรู้ อาทิ คุณภาพเส้นใย ไหมพันธุ์ไทย ฝ้ายพื้นเมือง ,การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าไทย การผสมผสานผ้าไทยในคอลเลคชั่น โดยในทุกครั้งได้รับความสนใจจากศิลปินช่างทอผ้าเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) โดย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และเตรียมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”

ขอบคุณที่มา: ภาพ/ข่าว กองประชาสัมพันธ์ กรมการพัฒนาชุมชน
เรียบเรียง : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

๖๗๙. สมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟฯ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ระดมทุน จำนวน ๒ ล้าน ๗ แสนบาท จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ช่วยเหลือผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจ เครื่องช่วยฟังปอดช่วยฟังการเต้นของหัวใจ ให้โรงพยาบาลพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) และจังหวั

วันพุธที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน นายกสมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ องค์กรสมาขิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมคณะกรรมสมาคม ผู้แทนศิษย์เก่าสมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟฯ รุ่นต่างๆ และภาคีเครือข่ายผู้มีจิตศรัทธาได้ ระดมทุนจากโครงการ SJC4HERO ครั้งที่ ๒ จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจ จำนวน ๕ เครื่อง หน้ากากทางการแพทย์ ชนิด N95 จำนวน ๗๔๔๐ ชิ้น ชุด PPE จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด เอธิลแอกอฮอล์ จำนวน ๒,๐๐๐ ลิตร และ เครื่องช่วยฟังปอด ช่วยฟังการเต้นของหัวใจแบบไร้สาย จำนวน ๑๐๐ ชุด โดยในวันนี้ นำมามอบให้บุคลากรทางการแพทย์จากรพ.หัวเฉียว กรุงเทพ และโรงพยาบาลศรีธัญญา จังหวัดนนทบุรี

ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน กล่าวว่า จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-๑๙ ที่ขณะนี้ได้มีอัตราของผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีอัตราการเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว สมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟ.จึงได้สำรวจความต้องการเร่งด่วนในทางการแพทย์ทั่วประเทศ พบว่าเครื่องช่วยหายใจ เครื่องช่วยฟังปอด ช่วยฟังการเต้นของหัวใจเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและไม่เพียงพอ จึงนับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะต้องร่วมระดมระดมทุนจากโครงการ SJC4HERO ครั้งที่ ๒ จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย และแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ให้ตรงความจำเป็นและความต้องการมากที่สุด

ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมคณะกรรมสมาคม ผู้แทนศิษย์เก่าสมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟ รุ่นต่างๆ และภาคีเครือข่ายผู้มีจิตศรัทธาได้ ระดมทุนจากโครงการ SJC4HERO ครั้งที่ ๒ เป็นเงินทั้งหมด ๒,๗๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านเจ็ดแสนบาทถ้วน) จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ สำหรับผู้ป่วย หวังเป็นอย่างยิ่ง ช่วยลดและชะลอการลุกลามของปอดอักเสบไม่ให้รุนแรง แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) และจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสะสมจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ ได้ทยอยนำส่งเครื่องช่วยฟังปอด ช่วยฟังการเต้นของหัวใจแบบไร้สาย ไปยังโรงพยาบาลและ หน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย โรงพยาบาลสิรินธร สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลเจริญกรุง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลบางบ่อ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อื่นๆ ให้แก่โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบรูพา ชลบุรี โรงพยาบาลค่ายสุรนารี นครราชสีมา มูลนิธิดวงประทีป โรงพยาบาลท่าเรือ คลองเตย

รายงานภาพข่าว : สมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

๖๗๘. สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย นครปฐม องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ มอบอาหารส่งกำลังใจ ให้บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลนครปฐม และผู้ป่วย สู้โควิด-๑๙

วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นางณัฏฐ์ปภาณ จันทร์ละมูล นายกสมาคม สตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย นครปฐม องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย คณะกรรมการ ร่วมกันบริจาคอาหารเช้ากล่องและอาหารกล่องกลางวัน ให้กับผู้ป่วยโควิตและบุคลากรทางการแพทย์ เป็นเวลา ๑๒ วัน จำนวน ๑,๓๕๐ กล่อง ระหว่างวันที่ ๗ -๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๓ และ Face Shield จำนวน ๑,๐๕๐ ชิ้น โดย ดร.พญ ดารารัตน์ รัตน์รักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม เป็นผู้รับมอบ ร่วมเป็นจำนวนเงิน ๖๙,๗๕๐ บาท ณ โรงพยาบาลนครปฐม

นางณัฏฐ์ปภาณ จันทร์ละมูล นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย นครปฐม กล่าวว่า
“ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ระลอกใหม่นี้ สมาคม สธวท. นครปฐม ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนอาหารเช้าใส่กล่องปลอดภัย และอาหารใส่กล่องมื้อเที่ยง เพื่อให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ผู้เสียสละและทุ่มเทในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-๑๙ ด้วยการส่งมอบอาหารกล่อง ทั้งมื้อเช้า และมื้อเที่ยง แทนคำขอบคุณจากใจ ให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน และมอบอาหารกล่องเช้าเที่ยง เป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยทุกท่าน เพื่อเป็นพลังให้เราก้าวผ่านวิกฤตนี้อย่างเข้มแข็งไปด้วยกัน ให้เร็วที่สุด”


รายงานภาพ/ข่าว: สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย นครปฐม

เรียบเรียงข่าว: ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ

๖๗๗. สามองค์กรหลักสตรี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ในจังหวัดอุดรธานี บริจาคเงิน ๑๔๐,๘๗๒ บาท ซื้อพัดลม และมอบเงินสด ให้โรงพยาบาลสนามอุดรธานี แสดงความห่วงใย ให้ทุกท่าน ร่วมกันปฎิบัติตามมาตรการจังหวัดอย่างเคร่งครัด เพื่อผ่านพ้นวิกฤติ ครั้งนี้ไปให้ได้

วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๔ พญ.เฉลิมวรรณ ศศิประภา นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย อุดรธานี รศ.ดร.กฤตติกา แสนโภชน์ นายกสมาคมแม่ดีเด่นแห่งชาติจังหวัดอุดรธานี นางกอบแก้ว คงน้อย นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง จังหวัดอุดรธานี กรรมการและสมาชิก ๓ องค์กร ร่วมกันบริจาคเงินสมทบทุนซื้อพัดลมจำนวน ๘๒ เครื่องมูลค่า ๑๒๖,๕๒๐ บาท พร้อมเงินสดจำนวน ๑๔,๕๓๒ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๔๐,๘๗๒ บาท มอบให้โรงพยาบาลอุดรธานี โดยมี พญ.ปิยะฉัตร วรรณาสุทรไชย และนพ.ชัยวัฒน์ คงตระกูลพิทักษ์ พร้อมพยาบาล เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาลสนามรักษาผู้ป่วยด้วยโรคโควิด ๑๙
นางกอบแก้ว คงน้อย กล่าวว่า ด้วยจำนวนตัวเลข"ผู้ติดเชื้อโควิด ๑๙ “ในระลอกใหม่ มีอัตราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด ผู้ป่วยด้วยโรคโควิด ๑๙ ในโรงพบาลสนาม ยังขาดแคลนพัดลม

สมาคมสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับ รศ.ดร.กฤตติกา แสนโภชน์ นายกสมาคมแม่ดีเด่นแห่งชาติ จังหวัดอุดรธานี พญ.เฉลิมวรรณ ศศิประภา นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย อุดรธานี คณะกรรมการและสมาชิกทั้ง ๓ องค์กร จึงได้ร่วมกันบริจาคเงิน สมทบทุนซื้อพัดลมและมอบเงินสดเพื่อร่วมเป็นกำลังใจ ให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิด-๑๙

นางกอบแก้ว คงน้อย ได้กล่าว แสดงความห่วงใย จาก ๓ สมาคมสตรีในจังหวัดอุดรธานี ไปยัง บุคลากรทางการแพทย์ และ พี่น้องประชาชน
ในช่วงนี้ ขอเรียน อยากให้ทุกท่านร่วมมือร่วมใจปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ด้วยการปฏิบัติตาม Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม นอกเหนือจาก มาตรการ “อยู่บ้าน” ขอให้สวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดอีกด้วย

ที่สำคัญขอให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางจังหวัดได้กำหนดไว้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันจะช่วยให้การแพร่ระบาดคลี่คลายขึ้นเร็ววัน


ในนามของสามองค์กรสตรี ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ในจังหวัดอุดรธานี ขอร่วมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย และครอบครัวผู้ป่วยทุกท่าน เราจะสู้ ดูแลตัวเองและครอบครัว เพื่อให้เราทุกคนฝ่าวิกฤติโควิด -๑๙ ครั้งนี้ไปด้วยกัน เหมือนเช่นที่เคยทำกันมาแล้ว

รายงานภาพ/ข่าว : สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี

เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

๖๗๖. สภาสตรีแห่งชาติฯ จัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ และ คณะกรรมการบริหาร สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แอปพลิเคชั่น ZOOM

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ เป็นประธานเปิดการประชุม คณะกรรมการอำนวยการ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ และ คณะกรรมการบริหาร สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์แอปพลิเคชั่น ZOOM โดยมีนางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ นางยุวดี นิ่มสมบุญ ที่ปรึกษาสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เข้าร่วมประชุม พร้อมรองประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ประกอบด้วยนางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี นางศรีวรรณ สายฟ้า นางมลสุดา ชำนิประศาสน์ และคณะกรรมการอำนวยการประกอบด้วย ดร.สมจิตร ศิริเสนา เลขาธิการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ นางประยูร เหล่าสายเชื้อ ดร.อรุณศรี จงเจียมจิตต์ นางศิริรัตน์ ธำรงธีระกุล นางสาววรัญญา เลิศวรกิจพิพัฒน์กรรมการ นางจรรยาวรรณ สุวัณณาคาร นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ ดร.พนิดา ชินสุวพลา ศ.เกียรติคุณ ดร.พิมพ์พรรณ ศิลปสุวรรณ รศ.ดร.เอกอุมา อิ้มคำ นางพอเดือนเพ็ญ มุทราอิศ นางสาวนวลนิจ หงษ์วิวัฒน์ นางเยาวมาลย์ วัชระเรืองศรี และคณะกรรมการบริหารประกอบด้วย นางเบญจมาศ ปริญญาพล รองประธานคณะกรรมการบริหาร สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ นางสาวณัฏฐ์ปภาณ จันทร์ละมูล รองประธานคณะกรรมการบริหาร สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ นางรัศรินทร์ ลัดใหม่กุลวัฒน์ ประธานฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ นางณพดา เพชรช่อฉัตร ประธานฝ่ายปฏิคม ดร.ชลิดา อนันตรัมพร ประธานฝ่ายสารสนเทศ นางจงชนก พัชรประภากร ประธานฝ่ายบรรณรักษ์และทะเบียน นางนันทิยา วงศ์วานิชย์ ประธานฝ่ายอาคารและสถานที่ นางนลินรัตน์ ลิ้นปราชญา เหรัญญิก ดร.อรุณศรี จงเจียมจิตต์ ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ นางนลินรัตน์ ลิ้นปราชญา เหรัญญิก เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน ๒๕๖๔ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แอปพลิเคชั่น ZOOM ณ ห้องประชุมบ้านพระกรุณานิวาสน์ ๒ บ้านพระกรุณานิวาสน์สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

ภาพข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

๖๗๕. สำนักพระราชวัง ขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ผ่านระบบออนไลน์

สำนักพระราชวัง ขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๔ เปิดให้ลงนามถวายพระพรออนไลน์วันที่ ๒๕ -๓๐ เมษายน ๒๕๖๔
ลงนามถวายพระพรออนไลน์ http://wellwishes.royaloffice.th/wellwishes/

#ทรงพระเจริญ
#เราทำความดีด้วยหัวใจ

๖๗๔. นายกสมาคม สตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน จังหวัดนครราชสีมา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ นำกรรมการและสมาชิก ๔๐ คน เช้าร่วมรำบวงสรวง ถวายกตัญญูตาสักการะ เฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะ ท้าวสุรนารี(คุณย่าโม) ประจำปี ๒๕๖๔ อย่างยิ่งใหญ่

เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔ ดร.นรินทิพย์ กาญจนศิริ นายกสมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน จังหวัดนครราชสีมาองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำกรรมการและสมาชิกสมาคมฯ และสมาชิกจำนวน ๔๐ คน ร่วมรำบวงสรวงถวายกตัญญูตาสักการะ เฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะ ท้าวสุรนารี(คุณย่าโม)ประจำปี ๒๕๖๔ โดยมีสตรีชาวจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย ภริยาข้าราชการระดับจังหวัด อำเภอ ส่วนราชการ, กลุ่มแม่บ้าน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ภาคเอกชน รวมถึง สมาคมสตรีที่เป็นองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ในจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมพิธีรำบวงสรวง และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ จึงจัดให้มีการรำบวงสรวง ๗ วัน ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๔ เพื่อเฉลี่ยจำนวนผู้แสดงกว่า ๔,๔๑๗ คน ให้เหลือวันละประมาณ ๘๐๐ คน ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
ดร.นรินทิพย์ กาญจนศิริ กล่าวว่า สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน จังหวัดนครราชสีมาองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ถือปฏิบัติเข้าร่วมพิธีบวงสรวงท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมาเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญที่ท้าวสุรนารีหรือ คุณย่าโม ผู้เป็นศูนย์รวมใจของชาวนครราชสีมา และคนไทยทั่วประเทศในความกล้าหาญของสตรีท่านหนึ่งที่มีพลังเข้มแข็ง ในการรวบรวมคนไทยสู้รบเพื่อกอบกู้เมืองนครราชสีมาจากผู้รุกราน ด้วยความเสียสละ เข้มแข็ง และกล้าหาญ กระทั่งได้รับชัยชนะ สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน จังหวัดนครราชสีมา จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งแต่งชุดไทย บรมพิมาน สีน้ำเงิน คาดสไบทอง หล่อหลอมดวงใจเป็นหนึ่งเดียว รำบวงสรวงถวายกตัญญูตาสักการะท่านย่า อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งสตรีชาวโคราชทุกคน ได้มีความตั้งใจฝึกซ้อม ใช้กระบวนท่ารำในรูปแบบนาฏศิลป์ไทยมาตรฐาน และศิลปะพื้นบ้าน แบ่งเป็น ๔ ช่วง ประกอบด้วย กระบวนท่ารำออกด้วยเพลงมอญพิมาย มีจังหวะสนุกสนานเร้าใจ, การรำตีบทเพื่อเทิดพระเกียรติ พระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ด้วยเพลงลมพัดชายเขา, การรำตีบทเพลงทำนองสรภัญญะ เพื่อสดุดีวีรกรรมท้าวสุรนารี และท่ารำประกอบกับท่วงทำนองเพลงพื้นบ้าน แสดงถึงการเฉลิมฉลองอย่างสนุกสนาน ถือเป็นมงคลสูงสุดแก่ผู้รำ
ดร.นรินทิพย์ กาญจนศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพิธีบวงสรวงท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม ที่รวบรวมคนไทยกอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพเวียงจันทน์จนได้รับชัยชนะเมื่อปี ๒๓๖๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาขึ้นเป็นท้าวสุรนารี และชาวนครราชสีมา จึงร่วมใจกันก่อสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีขึ้น บริเวณหน้าประตูชุมพล จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้วนำอัฐิของท้าวสุรนารีมาบรรจุไว้ โดยได้จัดให้มีพิธีบวงสรวงเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน
รายงาน ภาพ/ข่าว : สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน จังหวัดนครราชสีมาองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ


๖๗๓.องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ในจังหวัดอุดรธานี ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-๑๙ มอบเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และพัดลม เพื่อเป็นกำลังใจในการปฎิบัติงาน ให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย โรงพยาบาลศูนย์ จังหวัดอุดรธานี

. วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น.องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ในจังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วย นางกอบแก้ว คงน้อย นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี รศ.ดร.กฤตติกา แสนโภชน์ นายกสมาคมแม่ดีเด่นแห่งชาติจังหวัดอุดรธานี พญ.เฉลิมวรรณ ศศิประภา นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย อุดรธานี ระดมทุน มอบเงิน จำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และพัดลม และแสดงออกถึงการให้กำลังใจ บำรุงขวัญ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานและผู้ป่วย ติดเชื้อ โควิด-๑๙ ระลอกใหม่ที่ระบาดมาจังหวัดอุดรธานี ซึ่ง มีผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๔ รวม ๑๓๗ ราย โดยมอบเงินจำนวนดังกล่าว ณ โรงพยาบาลศูนย์ จังหวัดอุดรธานี


รายงานภาพ/ข่าว :สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-๑๙

เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่ชาติฯ

๖๗๒. สมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ส่งมอบอาหารสำเร็จรูป พร้อมน้ำดื่ม ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจุดตรวจสงกรานต์ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๓ จุด ในช่วงเทศ กาลสงกรานต์ ปี ๒๕๖๔

วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. นางอุมารินทร์ เลิศสหพันธ์ นายกสมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำคณะกรรมการ พร้อมด้วยกรรมการและสมาชิก นำ อาหารแห้งสำเร็จรูป และน้ำเปล่า พร้อมด้วยเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ไปมอบให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๓ จุด ในช่วงเทศ กาลสงกรานต์ ปี ๒๕๖๔ ประกอบด้วยจุดที่หนึ่ง ที่ศาลากลางหลังใหม่ จุดที่สอง ที่ซอยท่าสินค้า จุดที่สาม ที่จุดบริการประชาชนหน้าสถานีตำรวจอำเภอยางตลาด

นางอุมารินทร์ เลิศสหพันธ์ กล่าวว่า สมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ และกรรมการ มีความภาคภูมิใจ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานประจำจุด ณ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.๒๕๖๔ ซึ่งปฏิบัติงานด้วยความเสียสละ เข้มแข็ง ในการให้บริการประชาชน ควบคู่กับการป้องกันโควิด-๑๙ เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดที่จะมีผู้คนเดินทางไป - กลับสู่ภูมิลำเนาจำนวนมาก
ในนามสมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ ขอให้ ทุกท่านมีส่วนร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์ การแพร่เชื้อโควิด-๑๙ โดยอย่าลืมดูแลตนเอง อยู่กับบ้านให้มากที่สุด ปฎิบัติตามมาตรการสาธารณสุข (DMHTT) อย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยกันควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ให้กลับมาสู่สภาวะปกติเร็วที่สุด


รายงานภาพข่าว : สมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์

เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ

๖๗๑. สมาคมสตรีนครเชียงใหม่ องค์กรสมาชิกสภาสตรีฯ ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-๑๙ เป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย มอบสิ่งของจำเป็น สนับสนุน ภารกิจ โรงพยาบาลสนาม เชียงใหม่

วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น. นางสาววรัญญา เลิศวรกิจพิพัฒน์ นายกสมาคมสตรีนครเชียงใหม่ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติ สมัยที่ ๒๖ (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๔) รวมพลังน้ำใจจากกรรมการและสมาชิก นำ เครื่องทำน้ำร้อน-น้ำเย็น จำนวน ๓ เครื่อง ผ้าขนหนูเช็ดตัว ๒๐๐ ผืน ผ้าขนหนูเช็ดหน้า ๒๐๐ ผืน และเครื่องดื่มประเภทกาแฟ/โอวัลติน 3IN1 มอบให้กับ นายแพทย์อำพร เอี่ยมศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม เชียงใหม่ เพื่อบำรุงขวัญ และเป็นกำลังใจ ให้เจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานและผู้ป่วย สู้วิกฤต โควิด-๑๙ ณ รพ.สนาม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา
นางสาววรัญญา เลิศวรกิจพิพัฒน์ กล่าวว่า สมาคมสตรีนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกสภาสตรีฯ ตระหนักถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ระลอกใหม่ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึง พ่อแม่พี่น้องประชาชน ทุกคน เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทิศทางที่ดี การมอบสิ่งของจำเป็น สนับสนุน โรงพยาบาลสนาม เชียงใหม่ เพื่อร่วมเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่อดทน เสียสละ และ เป็นกำลังใจให้ผู้ป่วย เพื่อจะฝ่าวิกฤต โควิด-๑๙ ไปด้วยกัน
นางสาววรัญญา เลิศวรกิจพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมสตรีนครเชียงใหม่ หวังเป็นอย่างยิ่ง ขอให้ทุกครอบครัวช่วยกันป้องกัน ดูแลและรักษาสุขภาพร่างกาย จิตใจให้แข็งแรงและปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ทุกครอบครัวไทยสามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขได้ต่อไป

รายงานภาพ/ข่าว : สมาคมสตรีนครเชียงใหม่
เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ