๖๖๐. กรมการพัฒนาชุมชน โอนครุภัณฑ์ยานพาหนะ รถยนต์ส่วนบุคคล ให้สภาสตรีแห่งชาติ เพื่อนำไปใช้ในภารกิจของสภาสตรีแห่งชาติฯ

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๖ (พ.ศ ๒๕๖๑-๒๕๖๔) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ได้แจ้งในที่ประชุม กรมการพัฒนาชุมชน ได้โอนครุภัณฑ์ยานพาหนะ รถยนต์ส่วนบุคคล ให้สภาสตรีแห่งชาติ เพื่อนำไปใช้ในภารกิจของสภาสตรีแห่งชาติฯ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ ซึ่งทางสภาสตรีแห่งชาติฯ ได้นำรถยนต์ดังกล่าวไปซ่อมแซมและปรับปรุง พร้อมใช้งานเรียบร้อยแล้ว จากนั้น ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๖ ได้เรียนเชิญ นางยุวดี นิ่มสมบุญ ที่ปรึกษา สภาสตรีแห่งชาติ ฯ และ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ พร้อมด้วย คณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการบริหาร รับมอบรถยนต์ดังกล่าวและถ่ายภาพร่วมกัน ณ ห้องประชุม ๒ อาคารพระกรุณานิวาสน์ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ภาพ/ข่าว: ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ

๖๕๙. สภาสตรีแห่งชาติฯ มอบเงินสนับสนุน ช่วยเหลือทุนการศึกษาให้ นางสาวภัคญา วงศ์สังฮะ ตามโครงการแบ่งปันความสุข บรรเทาทุกข์ด้วยการช่วยเหลือแบ่งปัน ในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๓๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๖ (พ.ศ ๒๕๖๑-๒๕๖๔) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ เป็นประธานมอบเงินสนับสนุน ช่วยเหลือทุนการศึกษาให้ นางสาวภัคญา วงศ์สังฮะ นักศึกษาปีที่ ๔ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จำนวน ๒๖,๗๐๐ บาท ตามโครงการแบ่งปันความสุข บรรเทาทุกข์ด้วยการช่วยเหลือแบ่งปัน ในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ โดยมีนางยุวดี นิ่มสมบุญ ที่ปรึกษา สภาสตรีแห่งชาติ ฯ และ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ และ รองประธานสภาสตรีแห่งชาติ ประกอบด้วย ดร. ลาลีวรรณ กาญจนจารี อาจารย์ศรีวรรณ สายฟ้า นางมลสุดา ชำนิประศาสน์ และ อาจารย์สมจิตร ศิริเสนา เลขาธิการสภาสตรีแห่งชาติฯ และคณะกรรมการอำนวยการ พร้อมด้วย รองประธานคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย นางเบญจมาศ ปริญญาพล นางณัฏฐ์ปภาณ จันทร์ละมูล และคณะกรรมการบริหาร ร่วมมอบทุนการศึกษาดังกล่าว ณ ห้องประชุม ๒ อาคารพระกรุณานิวาสน์ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
สืบเนื่องจาก นางสาวภัคญา วงศ์สังฮะ นักศึกษาปีที่ ๔ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนหน้านี้ เลี้ยงดูตัวเองเนื่องจากบิดาเสียชีวิตแล้ว มารดาไม่สามารถติดต่อกันได้ จนกระทั่งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ส่งผลกระทบไม่สามารถทำงานพาร์ทไทม์ /ขายของออนไลน์ ได้ตามปกติ จึงจำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบเพื่อจ่ายค่าเทอม คณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการบริหาร จึงลงมติสนับสนุน ให้สภาสตรีแห่งชาติฯ มอบเงินให้นางสาวภัคญา วงศ์สังฮะ ตามโครงการแบ่งปันความสุข บรรเทาทุกข์ด้วยการช่วยเหลือแบ่งปัน ในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
1.
ภาพ/ข่าว: ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ

๖๕๘. ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร สมัยที่ ๒๖ (พ.ศ ๒๕๖๑-๒๕๖๔) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ โดยมีคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการบริหาร เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๓๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๖ (พ.ศ ๒๕๖๑-๒๕๖๔) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ เป็นประธานเปิดการประชุม คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ โดยได้รับเกียรติจาก นางยุวดี นิ่มสมบุญ ที่ปรึกษา สภาสตรีแห่งชาติ ฯ และ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ เข้าร่วมประชุม และ รองประธานสภาสตรีแห่งชาติ ประกอบด้วย ดร. ลาลีวรรณ กาญจนจารี อาจารย์ศรีวรรณ สายฟ้า นางมลสุดา ชำนิประศาสน์ และ อาจารย์สมจิตร ศิริเสนา เลขาธิการสภาสตรีแห่งชาติฯ และคณะกรรมการอำนวยการ พร้อมด้วย รองประธานคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย นางเบญจมาศ ปริญญาพล นางณัฏฐ์ปภาณ จันทร์ละมูล และคณะกรรมการบริหาร เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ณ ห้องประชุม ๒ อาคารพระกรุณานิวาสน์ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ภาพ/ข่าว: ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ

๖๕๗. สมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ นำกรรมการและสมาชิก ร่วมแสดงแบบผ้าไหมแพรวาราชินีแห่งไหม ของดีในจังหวัด ชูมติ ครม.สวมใส่ผ้าไทย กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้สู่ชุมชน ในงานมหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี ๒๕๖๔

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี ๒๕๖๔ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วน และ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ตีโปงลาง เป็นสัญญาณเปิดงานมหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์ประจำปี ๒๕๖๔ ซึ่งในปีนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) จัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๖ – ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔ รวม ๑๐ วัน ๑๐ คืน โดยนางอุมารินทร์ เลิศสหพันธ์ นายกสมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ นำกรรมการและสมาชิก ร่วม แสดงแบบ ของดี ๑๘ อำเภอในงานมหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาด ประจำปี ๒๕๖๔ ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ หลังเก่า ภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19
นางอุมารินทร์ เลิศสหพันธ์ กล่าวว่า สมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมรณรงค์ ตามมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยการรณรงค์เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ วัน ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ นำเสนอ เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการ ประชาชน แต่งกายด้วยผ้าไทยตามความเหมาะสมของท้องถิ่น “เพิ่มขึ้น” หรือ “อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ วัน” สนับสนุนและเผยแพร่ภูมิปัญญาผ้าพื้นถิ่นไทยให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ทั้งเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”
นางอุมารินทร์ เลิศสหพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ ร่วมเดินแสดงแบบกิตติมศักดิ์ ผ้าไทย ผ้าไหมแพรวา ผ้าภูไทกาฬสินธุ์ ของดี ๑๘ อำเภอ และแต่งกายสวยงาม เป็นต้นแบบ “ใส่ผ้าไทย” สวยงาม ในชีวิตประจำวัน เพื่อสืบสานเผยแพร่ ฟื้นฟู อนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาและสินค้า OTOP รวมทั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น สร้างรายได้สู่ชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาล

รายงานภาพ/ข่าว :สมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์
เรียบเรียงช่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

๖๕๖. สมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการ และสมาชิก เข้าเยี่ยมคำนับ คุณหญิงแสงเดือน ณ นคร วัย ๙๘ ปี

วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ นายกสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการ และสมาชิกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าพบเยี่ยมคำนับ คุณหญิงแสงเดือน ณ นคร ประธานกรรมการมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วัย ๙๘ ปี ในโอกาสนี้สมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แจ้งจิตอาสา ร่วมประชาสัมพันธ์ และรับการจำหน่ายดอกป๊อบปี้ เนื่องในวันทหารผ่านศึก ซึ่งตรงกับวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ของทุกปี จำนวน ๑,๐๐๐ ดอกในปีหน้า ณ มูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกฯ

รายงานภาพ/ข่าว : สมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ
เรียบเรียงภาพ/ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

๖๕๕. สมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการ และสมาชิกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบเงินร่วมสมทบกองทุนน้ำพระทัยพระราชทาน ให้ผู้ยากไร้ได้ทานอาหาร ที่สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย

วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๓๐ น.นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ นายกสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการ และสมาชิกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบเงินร่วมสมทบกองทุนน้ำพระทัยพระราชทาน ให้ผู้ยากไร้ได้ทานอาหาร จำนวนเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท โดยได้รับเกียรติจาก พลตรีหญิง คุณหญิง อัสนีย์ เสาวภาพ ประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้รับมอบ ณ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
รายงานภาพ/ข่าว : สมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ
เรียบเรียงภาพ/ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

๖๕๔. สมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ มอบเงินบริจาคสร้างห้องสุขาประจำอุทยานพุทธธรรมสิกขา กรมยุทธศึกษาทหารบก ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการปฏิบัติธรรมจำนวน ๓๖๖,๔๕๐ บาท

วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น.นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ นายกสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการ และสมาชิกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบเงินบริจาคสร้างห้องสุขาประจำอุทยานพุทธธรรมสิกขา กรมยุทธศึกษาทหารบก จำนวน ๓๖๖,๔๕๐ บาท โดยมี พลเอก ธนรัชฏ์ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษา จก.ยศ.ทบ. เป็นผู้แทนรับมอบ ณ ศาสนสถานกลาง ทหารบก จังหวัดกรุงเทพมหานคร
นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ กล่าวว่า อุทยานพุทธธรรมสิกขา ตั้งอยู่ในพื้นที่กรมยุทธศึกษาทหารบก จำนวน ๕ ไร่เศษ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าพุทธธรรม โดยน้อมนำการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า และป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา เกิดมีปฐมสาวกมีพระรัตนตรัยครบองค์ ๓ อุทยานแห่งนี้จะเป็นสถานที่ใช้เพื่อการเรียนรู้ และฝึกอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติปัฏฐาน ๔ รวมทั้งเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาของกำลังพลกองทัพบกและประชาชนทั่วไป มีการจำลองสัตตมหาสถาน (๗ มหาสถาน)และป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา รวมเป็น ๘ มหาสถาน พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ในพุทธประวัติ สร้างเป็นสวนป่าเพื่อปลูกไม้พันธุ์อื่นๆ ไว้เป็น รมณียสถาน การมอบเงินบริจาคสร้างห้องสุขาประจำอุทยานพุทธธรรมสิกขา กรมยุทธศึกษาทหารบก จะเป็นการอำนวยความสัปปายะด้านสาธารณูปการแก่นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปผู้มาปฏิบัติธรรม และผู้มา อบรมจัดกิจกรรมคุณธรรม ขออนุโมทนาบุญร่วมกัน ในการร่วมสร้างศาสนสถานเป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและส่งเสริมการปฏิบัติธรรมสืบไป

รายงานภาพ/ข่าว : สมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ
เรียบเรียงภาพ/ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

๖๕๓. สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน จับมือกรมหม่อนไหม เปิดงาน “มหกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนเส้นไหมและผลิตภัณฑ์ไหมระดับประเทศ” จัดผู้ผลิตเส้นไหม พบผู้ทอผ้าไหม สร้างรายได้แก้ไขความยากจน อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม อันล้ำค่า สู่ลูกหลาน สืบไป

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๔ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนเส้นไหมและผลิตภัณฑ์ไหมระดับประเทศไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้า คณะกรรมการประกวดผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯของกรมการพัฒนาชุมชนโดย โดยมีนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ และมีนางนงลักษณ์ เกตุเวชสุริยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม นางวิไลวรรณ ไกรโสดา นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมาและพัฒนาการจังหวัดทั้ง ๒๐ จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรม และคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์กลางการซื้อขายเส้นไหมนครชัยบุรินทร์เข้าร่วมพิธี โดยมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการเส้นไหม และผลิตภัณฑ์ไหม ที่เข้าร่วมสาธิตพร้อมเดินแบบแสดงแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไหมของท้องถิ่นและนำผ้าทอมาจำหน่ายสินค้า จำนวน ๒๐ จังหวัด ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง ๕๕กลุ่ม/ราย จำแนกเป็นผู้ประกอบการประเภทเส้นไหม จำนวน ๗ ราย ประเภทผลิตภัณฑ์ไหม จำนวน ๔๘ กลุ่ม/ราย ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๔ ณ ศูนย์วัฒนธรรมผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ไหม และสินค้า OTOP การเดินแบบแฟชั่นผ้าไหม การสาธิตการทอผ้าไทย รวมถึงการเสวนาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมไทยสู่สากล และการซื้อขายแลกเปลี่ยนเส้นไหม และผลิตภัณฑ์ไหม ในการนี้ นางนงลักษณ์ เกตุเวชสุริยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม นางวิไลวรรณ ไกรโสดา นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมาและพัฒนาการจังหวัดทั้ง 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรม และคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์กลางการซื้อขายเส้นไหมนครชัยบุรินทร์เข้าร่วมพิธี โดยมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการเส้นไหม และผลิตภัณฑ์ไหม ที่เข้าร่วมสาธิตและจำหน่ายสินค้า 20 จังหวัด ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง 55 กลุ่ม/ราย จำแนกเป็นผู้ประกอบการประเภทเส้นไหม จำนวน 7 ราย ประเภทผลิตภัณฑ์ไหม จำนวน 48 กลุ่ม/ราย ระหว่างวันที่ 20 – 21 มีนาคม 2564 ณ ศูนย์วัฒนธรรมผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา





นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวขอบคุณ รองอธิบดีกรมหม่อนไหม รองผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด สมาชิกภาคีเครือข่ายในพระบรมราชินูปถัมภ์ พี่น้องชาวพัฒนาชุมชนทุกท่าน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนและสนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และที่สำคัญ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่เป็นอัตลักษณ์ของประเทศชาติ อีกทั้งยังพระราชทานลายผ้าขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯให้พี่น้องประชาชนคนไทยที่มีอาชีพทอผ้าได้ทอมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว สร้างความมั่นคงให้ชีวิต ผมมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดทำศูนย์ซื้อขายเส้นไหมในครั้งนี้ ถือเป็นการทำงาน ที่แสดงออกถึงการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยร่วมกันสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานแห่งองค์สมเด็จพระพันปีหลวง ในการช่วยเหลือพี่น้องทุกจังหวัด ให้เกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายกลุ่ม OTOP กลุ่มผู้เลี้ยงไหมปลูกหม่อน เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายผ้าไหม อันจะก่อให้เกิดรายได้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีความร่วมสมัย สามารถก้าวไปสู่ระดับสากล

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้คัดเลือกศูนย์วัฒนธรรมผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการมหกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนเส้นไหมและผลิตภัณฑ์ไหมระดับประเทศ เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการเส้นไหม และผลิตภัณฑ์ไหมได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และนวัตกรรมในการพัฒนาเส้นไหม และผลิตภัณฑ์ไหมไทยให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เป็นศูนย์กลางเส้นไหมระดับประเทศ ตลอดทั้ง เป็นการรณรงค์ให้เกิดค่านิยมในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากผ้าไหม และร่วมปลุกกระแสวงการผ้าไหม ให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน เป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาไหมไทย และภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่คนไทยต่อไป

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า ในวันนี้ ถือว่าเป็นวันสำคัญที่สร้างความยิ่งใหญ่แก่วงการผ้าไทยเป็นอย่างมาก และได้รับเกียรติผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยอย่างมากมายในการเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ พวกเราได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงให้ความสำคัญและทุ่มเทพระวรกายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผ้าไทย” ที่ทรงอนุรักษ์ฟื้นฟูและเป็นแบบอย่างในการใช้ผ้าไทยด้วยพระองค์เอง ทรงฉลองพระองค์ชุดผ้าไทยไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อเผยแพร่ความงดงามของผ้าไทยสู่สายตาชาวโลก ตลอดระยะเวลา ๕๐ ปี พระองค์ทรงพลิกฟื้นผ้าไทย จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายให้กลับมาเป็นอาภรณ์ที่คนทั่วโลกให้การยอมรับถึงคุณค่าและความงดงามอันประเมินค่ามิได้ ตลอดระยะเวลาพระองค์ท่านทรงงาน เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านทรงเสด็จไป บ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม พ.ศ.๒๕๑๓ เพื่อหยิบผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่ถูกลืม ในฝีมือคนไทยที่ถูกลืมไปแล้วจากสังคมไทยให้มาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ วัฒนธรรมไทย แสดงให้เห็นถึงการสร้างอาชีพให้แก่ครอบครัว หลายๆ ครอบครัว ตั้งแต่นั้นมาหัตถกรรมทอผ้าพื้นเมืองก็ได้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้อย่างยั่งยืน ผ้าไทย จึงเปรียบเสมือนลมหายใจแม่ของแผ่นดิน ทำให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด พัฒนาผ้าไทยให้มีความโดดเด่น งดงาม และสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ตามที่พระองค์ทรงพระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพื่อปลุกกระแสการทอผ้าไทย และจัดประกวด ในช่วงเดือนพฤษภาคม ผ้าที่ชนะเลิศ พระองค์ท่านจะทรงนำไปตัดเป็นฉลองพระองค์และเสด็จเปิดงาน ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมีซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณ เสมือนสายฝน ที่ช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มสตรี และOTOP ได้มีการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้น ในการขยายตลาดทั่วภูมิภาคต่อไป ซึ่งทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยร่วมกันใส่ผ้าไทยเพื่อแสดงออกถึงความเป็นคนไทย รักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยไว้ให้ลูกหลานเราสืบไป
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ช่วยรณรงค์ ให้ทุกท่านสวมใส่ผ้าไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ วัน และเมื่อไม่นานมานี้ได้มีงานแสดงแฟชั่นระดับนานาชาติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงออกแบบ โดยการนำเอาผ้าลายเกล็ดเต่า ทางจังหวัดสกลนคร ให้เกิดลวดลายที่สวยงาม บนชุดที่เป็นสากล ทำให้ชาวต่างชาติทึ่งในความสามารถ สวยโดดเด่นเป็นสง่าบนเวทีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องชาว OTOP ที่ขอให้นำไปเป็นแรงบันดาลใจได้ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงาน ผลิตเสื้อผ้า ต่อยอดลวดลายต่างๆ บนผืนผ้าให้โดดเด่น ทันสมัย เป็นที่นิยม ในระดับโลก โดยเฉพาะในเรื่องของ สีสัน ตามที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทุ่มเทในการศึกษา ระดมสรรพกำลัง ทั้งกำลังคน กำลังสติปัญญา และก็การคาดการณ์ว่าในช่วงฤดูร้อนปีหน้าจะนิยมสีอะไร ในหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย “Thai Textiles Trend Book Spring/Summer ๒๐๒๒” เพื่อพัฒนาและชี้นำทิศทางแนวโน้มการออกแบบผ้าไทยสู่สากล และจะเป็นเหมือนธงนำในการขับเคลื่อนและพัฒนาทิศทางกระแสความนิยมของผ้าไทย และการออกแบบเครื่องแต่งกายในเวทีระดับนานาชาติ เพื่อช่วยให้วงจรชีวิตของผ้าไทยมีความสมบูรณ์ตั้งแต่ ต้นน้ำ คือ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สู่กลางน้ำ ผู้ผลิต ในการถักทอผืนผ้าให้เกิดลวดลายที่ประณีต งดงาม นำไปสู่ ปลายน้ำให้ทุกท่านได้สวมใส่ตามพระราชดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสวมใส่ผ้าไทย ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค ตลอดทั้งส่งเสริม กระตุ้นการสวมใส่ผ้าไทยให้เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาส เพื่อสืบสาน “อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” และขอเชิญเยี่ยมชมการทอผ้า สู่การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ร่วมอุดหนุนของดีผ้าไหมไทย ณ ศูนย์วัฒนธรรมผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตและการตลาดเส้นไหมของชาติเป็นที่นัดพบระหว่างผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้นำเส้นไหมไปจำหน่ายให้พี่น้อง OTOP ที่ต้องการใช้เส้นไหมไปทอผ้าในราคายุติธรรม เป็นที่รวบรวมสินค้าผลิตภัณฑ์ไหมของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้มีความชำนาญในการปลูกไหมเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหม ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เกิดองค์ความรู้นวัตกรรมใหม่ๆ นำไปสู่การพัฒนาผ้าไทยให้งดงาม ร่วมสมัย ยกระดับสู่สากลต่อไป

ขอบคุณที่มาภาพ/ข่าว : กองประชาสัมพันธ์ กรมการพัฒนาชุมชน
เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

๖๕๒. สมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ชู กิจกรรมสร้างความสุขพลังบวก ครอบครัว โรงเรียน วัด ร่วมกับวัดโนนไฮวนาราม และวัฒนธรรมจังหวัด และผุ้นำชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น สร้างฐานรากให้สังคมเข้มแข็ง

วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ น.พระเดชพระคุณพระครูวรธรรมธัช ดร. เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดโครงการ ” วัยแก้ว วัยใจ เติมวัคซีนใจ สานสายใย ส่งเสริมคุณธรรม” และให้โอวาทธรรมแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ โดยมี นางอุมารินทร์ เลิศสหพันธ์ นายกสมาคม สมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการและสมาชิก เข้าร่วมโครงการฯ ร่วมกับวัดโนนไฮวนาราม และวัฒนธรรมจังหวัด ผู้นำชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น โดยมีกลุ่มเข้ากิจกรรมประกอบด้วย เยาวชนในจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๓๐ คน ผู้ปกครอง และผู้สูงวัย จำนวน๓๐ คน รวมผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีจำนวนทั้งสิ้น ๖๐ คน นอกจากนี้ สมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ ได้มอบผ้าห่มให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม คนละ ๑ ผืน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้สมาคมฯ ได้ถวายปัจจัย จำนวน ๒๐,๐๐๐บาท เพื่อร่วมสร้างอุโบสถ ที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ณ วัดโนนไฮวนาราม บ้านโคกกว้าง ตำบลไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
นางอุมารินทร์ เลิศสหพันธ์ กล่าวว่าสมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ เป็นองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ การจัดโครงการ ” วัยแก้ว วัยใจ เติมวัคซีนใจ สานสายใย ส่งเสริมคุณธรรม” สมาคมฯ ใช้งบประมาณ จำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท ด้วยตระหนักถึงสถานการณ์ของเด็กและเยาวชนที่เป็นอยู่ ความต้องการให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย โดยถอดบทเรียนจากสังคมของชุมชนท้องถิ่นสมัยในอดีต รุ่นปู่ย่าตายาย นำมาประยุกต์ใช้ในแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน จึงร่วมกับวัดโนนไฮวนาราม และวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้นำชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น นำผู้ปกครองและเยาวชน ได้มีกิจกรรมร่วมกัน ใช้หลักพระธรรมทางพระพุทธศาสนา สื่อสาร พูดจาดีต่อกัน รับฟังกันมากขึ้น ลดพลังลบในตัวของอีกฝ่าย ให้ได้ระบายออกมา “คิดก่อนพูด ฟังกันให้มากขึ้น” ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว พูดคุยปรับทุกข์ ปลอบด้วยเหตุผล เป็นการเสริมแนวคิดการถ่ายพลังบวกให้กับอีกฝ่าย การแบ่งปันใส่ใจจากคนในครอบครัว ทั้งการสัมผัส โอบกอด พูดคุยแสดงความรู้สึกดีๆ บอกกล่าวถามไถ่ ใส่ใจกับปัญหาและความทุกข์ของคนในบ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นการ เติมพลังบวกสร้างความรักความเข้าใจ เข้าสู่สถาบันการศึกษา มีครูอาจารย์ที่มีเมตตาต่อเด้ก โดยมีสถาบันศาสนา เป็นหลักพระธรรมพระพุทธศาสนาในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือ จากผู้นำในชุมชน และหน่วยงานในท้องถิ่น ตลอดจนภาคประชาสังคม และสมาคมสตรีอาเซียนฯ มีความภาคภูมิใจ ที่โครงการดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะผลิตเยาวชน เติบโต ขึ้นมาจากครอบครัวที่อบอุ่น จากสถาบันการศึกษาที่ดี ได้รับการหล่อหลอมกล่อมเกลา เชื่อว่าเด็กๆ ก็จะซึมซับการเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ แล้วนำมาปฏิบัติตาม เติมโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ไม่เป็นภาระต่อสังคม ก้าวขึ้นไปสู่การ “เป็นเด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ” หรือ “เด็กคืออนาคตของชาติ”เป็นฐานรากช่วยให้สังคมเข้มแข็ง ส่งผลให้ประเทศมั่นคง เจริญรุ่งเรืองสืบไป

รายงานภาพข่าว : สมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ
เรียบเรียงข่าว: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คระกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ

๖๕๑. สมาคมสตรีภูเก็ต องค์สมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ เข้าร่วมพิธี วางพวงมาลาสดุดี วีรสตรี ผู้กล้าหาญ ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ครบรอบ ๒๓๔ ปี (๑๓ มีนาคม ๒๓๒๘ ) การปกป้องเมืองถลางจังหวัดภูเก็ต รอดพ้นจากการถูกยึดครองอย่างกล้าหาญ

วันเสาร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. นางพรพินิจ พัฒนสุวรรณา นายกสมาคมสตรีภูเก็ต องค์สมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำคณะกรรมการ เข้าร่วม ในพิธีวางพวงมาลาสดุดีวีรกรรมท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร โดยมีภาครัฐ และภาคเอกชน ประกอบ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรสตรี เพื่อเชิดชูเกียรติประวัติและให้อนุชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของบรรพชนที่ได้เสียสละเลือดเนื้อ และชีวิตในการปกป้องรักษาแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานได้จนถึงทุกวันนี้ ณ บริเวณอนุสรณ์สถานเมืองถลาง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
จังหวัดภูเก็ต กำหนดจัดงานวัฒนธรรม ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ประจำปี ๒๕๖๔ ระหว่างวันที่ ๖ – ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๔ มีกิจกรรมที่สำคัญประกอบด้วย การจัดพิธีอุปสมบทหมู่ อุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนผู้กล้าเมืองถลาง ระหว่างวันที่ ๖ – ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๔ ณ วัดเทพวนาราม (ม่าหนิก) โดยมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร , การจัดพิธีทำบุญตักบาตร และพิธีบวงสรวงปู่ย่า ตายาย บรรพชนผู้กล้าเมืองถลาง ในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๔ ณ สวนพระพุทธศาสนาวัดม่วงโกมารภัจจ์ โดยมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร และเทศบาลตำบลเทพกระษัตรี , การจัดพิธีวางพวงมาลา และสดุดีวีรกรรมท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ในวันที่ วันเสาร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๔ ณ บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร (สี่แยกท่าเรือ) โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต และเทศบาลตำบลศรีสุนทร โดยทุกกิจกรรมผู้ร่วมงานต้องปฏิบัติ ตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-๑๙ (D-M-H-T-T) ได้แก่ D – Distancing = เว้นระยะห่างระหว่างกัน M – Mask Wearing = สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยเสมอ H – Hand Washing = ล้างมือบ่อย ๆ T – Temperature Check = ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และสังเกตอาการ T – Thaichana = ติดตั้งและสแกนแอปพลิเคชั่นไทยชนะ อย่างเคร่งครัด สำนักงาน


ประวัติโดยย่อท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร
แม่ทัพใหญ่ยี่หวุ่นคุมกำลัง ๓,๐๐๐ คน เข้าตีหัวเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันตก ตั้งแต่เมืองกระ ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ค่ายปากพระ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายที่เมืองถลางขุมคลังของสยาม ข่าวทัพเรือพม่าบุกโจมตี กอปรกับเจ้าเมืองถลางเสียชีวิตเป็นข่าวร้ายที่ทำร้ายจิตใจชาวเมืองถลางให้อยู่ในความหวาดกลัว ไม่มีที่พึ่งหมดหวัง แต่พลังใจทั้งมวลกลับตั้งมั่นด้วยจิตใจที่เข็มแข็งของท่านผู้หญิงจันและคุณมุกน้องสาว โดยได้นำกำลังจากบ้านสาคู บ้านในยาง บ้านดอน บ้านไม้ขาว บ้านแขนน บ้านลิพอน บ้านเหรียงมาเตรียมการรบ ณ ค่ายข้างวัดพระนางสร้าง ฝ่ายพม่ายกทัพเข้ามาเร่งก่อสร้างค่ายบริเวณทุ่งนา (โคกชนะพม่า) เพื่อเตรียมโจมตีเมืองถลาง ส่วนท่านผู้หญิงจัน คุณมุกและคณะกรมการเมืองวางแผนตั้งค่ายประชิดค่ายข้าศึก เตรียมปืนใหญ่ตรึงไว้ดึงเวลาได้หลายวันเป็นผลให้เสบียงอาหารของพม่าลดน้อยลง และวางแผนให้กลุ่มผู้หญิงแต่งตัวคล้ายทหารไทย เอาไม้ทองหลางเคลือบดีบุกมาถือแทนอาวุธ ทำทียกขบวนเข้าเมืองถลางในช่วงดึกลวงพม่าว่าเมืองถลางมีกำลังมาเสริมทุกคืน ทำให้พม่าคาดการณ์กองกำลังเมืองถลางผิดพลาด การศึกครั้งนี้กินเวลายาวนานถึง 1 เดือนเศษ กำลังพม่าทั้งอ่อนล้าและขาดเสบียงอาหาร เมื่อพม่าตั้งพลเข้าโจมตีถูกฝ่ายเมืองถลางระดมยิงปืนเล็กปืนใหญ่ นำเอาดินประสิวไปโปรยในกองทัพพม่ายิงคบเพลิงเข้าไปผสมตามยุทธวิธีพระพิรุณสังหาร ครั้นเมื่อชาวเมืองถลางยิงปืนใหญ่แม่นางกลางเมืองถูกต้นทองหลางหน้าค่ายพม่าหักลง กองทัพพม่าระส่ำระสายเสียขวัญ และแตกทัพไปเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช ๑๑๔๗ ตรงกับวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๘ เป็นวันถลางชนะศึกเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมบำเหน็จผู้ทำคุณแก่แผ่นดิน ให้ท่านผู้หญิงจันเป็น ท้าวเทพกระษัตรี คุณหญิงมุกน้องสาวเป็น ท้าวศรีสุนทร ดำรงยศอันมีศักดิ์แก่ฐานานุรูป เป็นศรีแก่เมืองถลาง และวงศ์ตระกูลสืบไป.

ที่มา : https://www.pwa.co.th/news/view/88016
รายงานข่าว: สมาคมสตรีภูเก็ต องค์สมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ
เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพัรธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ