๔๖๐. ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ได้รับเกียรติร่วมงานปิดฉากงดงาม "OTOP ศิลปาชีพ" ผู้ประกอบการยิ้มยอดขายทะลุเป้า ๔๘๔ ล้าน สร้างรายได้สู่ชุมชน พลิกฟื้นเศรษฐกิจพ้นภัยโควิด - ๑๙
เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๒๐.๐๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้รับเกียรติร่วมพิธีมอบรางวัลให้ประชาชนที่ร่วมซื้อสินค้างาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ๒๕๖๓ ” จัดระหว่างวันที่ ๘ – ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ ชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี”
โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เปิดเผยว่า งาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ๒๕๖๓” ตลอด ๙ วัน ได้รับความสนใจจากประชาชนเดินทางหลั่งไหลมาเที่ยวชมงานอย่างคึกคัก มีผู้เข้าชมงาน ๑๖๑,๐๙๙ รวมยอดขาย ๔๘๔,๙๒๕,๐๓๓.๕๐ บาท ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ ๓๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดจำหน่ายสินค้า OTOP ทั้ง ๕ กลุ่ม ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ของตกแต่งของที่ระลึก และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ตลอดจนผลิตภัณฑ์ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีทั่วเมืองไทย ๗๖ จังหวัด และหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ที่เข้าร่วม โดยยอดจำหน่ายสินค้า OTOP กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกายจำหน่ายได้สูงสุดกว่า ๑๔๑,๖๕๖,๒๐๙ บาท ขณะที่ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิศิลปาชีพฯ ๒๐,๘๘๖,๔๘๘.๕๐ บาท ผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิสายใจไทย ๓๐๕,๙๖๖ บาท ผลิตภัณฑ์บริษัทประชารัฐรักษามัคคีฯ ๓,๑๙๙,๙๘๗ บาท ผลิตภัณฑ์จากสมาคมสภาคนพิการฯ ๑,๗๖๖, ๖๑๓ บาท และผลิตภัณฑ์ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ๕๖,๔๔๘,๔๔๐ บาท
ทั้งนี้ งาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี” โดยกรมการพัฒนาชุมชุน กระทรวงมหาดไทย จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อสืบสานพระราชปณิธานงานศิลปาชีพ และเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าไทย รวมทั้งสนับสนุนอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กระจายไปสู่ชุมชนทั่วประเทศ โดยงานปีนี้ได้นำผ้าที่ชนะการประกวดจากทั่วประเทศมาจัดแสดง และได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีความพิเศษของบูธนิทรรศการและจำหน่ายผ้าของแม่ครู ๔ ทหารเสือศิลปาชีพ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ร่วมต่ออายุผ้าไทยพิชิตความยากจนด้วยการเป็นครูสอนทอผ้าไทยรุ่นแรก ทำให้ภูมิปัญญาการทอผ้ายังคงอยู่ยืนยาว สร้างกลิ่นอายให้คนรุ่นลูกหลานได้สัมผัสเสน่ห์ผ้าไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์จากผ้าอัตลักษณ์ที่หาชมยาก การจัดจำหน่ายสินค้า OTOP ที่คัดสรรจากทั่วเมืองไทย การนำเรื่องราวของชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีจาก ๗๖ จังหวัด ให้เที่ยวชมครบจบในงานเดียว โดยผู้ประกอบการต่างกล่าวขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ ให้นำสินค้ามาจำหน่ายโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างร่วมมือร่วมใจจัดงาน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานงานศิลปาชีพ และหวังให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ให้เมืองไทยของเราเดินหน้าต่อไป ถือเป็นงานใหญ่ครั้งแรกของปีนี้หลังวิกฤติโควิด-๑๙ โดยการจัดงานบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้สนับสนุนเพิ่มพื้นที่ให้ฟรี 20,000 ตารางเมตร และมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด- ๑๙ อย่างเข้มงวดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขทุกประการ
ปิดฉากงดงาม "OTOP ศิลปาชีพ" ผู้ประกอบการยิ้มยอดขายทะลุเป้า ๔๗๔ ล้าน "อธิบดี พช." ปลื้มความสำเร็จ “ความสำเร็จงดงามของงานครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณการสนับสนุนจากรัฐบาล ผู้ประกอบการ OTOP และศิลปิน OTOP ทุกท่านที่ได้ร่วมกันจัดแสดงผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์อันทรงคุณค่า งานฝีมือสุดประณีตจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP ทั่วไทย ความพร้อมใจในการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นจากชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่สร้างสีสันตลอดงาน สื่อมวลชนที่ร่วมกันเผยแพร่ข่าวการจัดงานอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังใจจากพี่น้องประชาชน แฟนพันธุ์แท้ OTOP ทุกท่าน ที่ช่วยกันอุดหนุนสินค้าชุมชน กินอาหารไทย ใช้ของไทย สวมใส่ผ้าไทย และเที่ยวเมืองไทย นอกจากจะเป็นกำลังใจสำคัญที่มอบให้แก่คนไทยด้วยกัน แสดงพลังว่าเราจะจับมือฝ่าฟันทุกวิกฤติไปพร้อมกันแล้ว ยังจะช่วยทำให้พี่น้องประชาชนจากชุมชนต่างๆ นับแสนครัวเรือนให้มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวทำให้เงินทุกบาทหมุนเวียนไปสู่ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง และชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย" อธิบดี พช. กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณที่มา : กองประชาสัมพันธ์ กรมการพัฒนาชุมชน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๔๕๙. ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ได้รับเกียรติ ร่วมงาน รวมพลังสตรี ๔ ภาค ก้าวสู่ change for good ในพิธี อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนมอบรางวัล ๓ จังหวัด บริหารจัดการหนี้ที่ประสบความสำเร็จ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓
วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ให้เกียรติบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “สตรี Change for good” โครงการ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างพลังสตรี สร้างรายได้ให้กลุ่มอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก รุ่นที่ ๑ – ๔ ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ จัดโดยสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ณ อิมแพค เมืองทองธานี
การจัดโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพแก่กลไกการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเครือข่ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในการสร้างพลังสตรีในการพัฒนาชุมชน และเพื่อให้สตรีเป็นพลังในการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ประกอบด้วย หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด ๗๖ จังหวัด กรุงเทพมหานคร รวมจำนวน ๗๗ คน และประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัด (กพสจ.) จำนวน ๗๖ จังหวัด เครือข่ายอาชีพจังหวัด กลุ่มอาชีพได้รับเงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด รวมทั้งสิ้น ๑,๗๓๓ คน โดยแบ่งการอบรมออกเป็น ๔ รุ่น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับสตรีที่รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต้องมีการพูดคุยปรึกษาหารือกันภายในกลุ่ม เลือกสตรีที่มีความตั้งใจ มีศักยภาพมาเป็นสมาชิกกลุ่ม เลือกประกอบอาชีพในสิ่งที่ถนัด แต่ถ้าหากไม่ถนัดให้หมั่นศึกษาหาความรู้ เพิ่มทักษะอยู่เสมอ และต้องมีความรับผิดชอบ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การมีใจที่ตั้งมั่นและแน่วแน่ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของสตรีเองและครอบครัวดีขึ้น ด้วยความขยันหมั่นเพียร เช่น กลุ่มน้ำพริกปทุมทิพย์ของจังหวัดสิงห์บุรี ที่มีการบริหารจัดการกลุ่มกับความตั้งใจ ความสามัคคีภายในกลุ่ม ที่ต้องการให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยรายได้เฉลี่ยต่อคนถึง ๔,๐๐๐ บาทต่อเดือน”
นอกจากนี้ การบริหารจัดการหนี้ จำเป็นต้องมีการติดตามและการติดตามโดยการลงพื้นที่ก็ต้องอาศัยหลายปัจจัยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการยึดมั่นในเป้าหมายของกองทุนฯ ของการติดตาม อธิบดี พช. ได้เน้นย้ำถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับนั้น เพื่อช่วยเหลือสมาชิกกองทุนฯ ให้สามารถมีศักยภาพในการชำระคืนเงิน และมีกำลังใจในการประกอบอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ซึ่งจากผลการบริหารจัดการหนี้ทั่วประเทศ มีจังหวัดจำนวน ๔๖ จังหวัดที่สามารถบริหารจัดการหนี้ได้ต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ ถึง ๔๖ จังหวัด และต่ำกว่าร้อยละ ๕ จำนวน ๒๐ จังหวัด โดยภาพรวมในการบริหารจัดการหนี้สามารถบริหารจัดการหนี้ลดลงกว่าร้อยละ ๕ พร้อมได้มอบประกาศนียบัตรให้กับจังหวัดที่ประสบความสำเร็จด้านการบริหารจัดการหนี้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยรุ่นที่ ๔ มีจำนวน ๓ จังหวัด (จังหวัดบุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา) จาก ๒๐ จังหวัดที่ได้มอบประกาศนียบัตรไปแล้วในรุ่นที่ ๒ – ๓ ถือว่าเป็นขวัญและกำลังใจให้กับกลไกการขับเคลื่อนในทุกระดับ รวมทั้งคณะทำงานติดตามหนี้ระดับอำเภอและจังหวัดที่ร่วมมือกัน รวมพลังบริหารจัดการหนี้เพื่อให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นแหล่งทุนของสตรีเพื่อสตรีทั่วประเทศต่อไป ซึ่งอธิบดี พช. เชื่อมั่นว่า การพูดคุยทำความเข้าใจและร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จะเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาที่ดีขึ้น ดังเช่น "Change for good" เปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น อธิบดี พช. กล่าว
ขอบคุณ ที่มาของข่าว : กองประชาสัมพันธ์ กรมการพัฒนาชุมชน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๔๕๘. ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ชูสตรี เป็นพลังสำคัญ ขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เปิดเวทีร่วมแลกเปลี่ยนการบริหารจัดการหนี้ ให้ประสบความสำเร็จ
วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้รับเกียรติจากกรมการพัฒนาชุมชน บรรยายพิเศษหัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพลูกหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ในการอบรมโครงการ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างพลังสตรี สร้างรายได้ให้กลุ่มอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก” รุ่นที่ ๔ พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการบริหารตัดการหนี้ให้ประสบความสำเร็จกับ 5 จังหวัด (จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุดรธานี และหนองบัวลำภู) ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพค ฟอรั่ม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี กลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น ๕๐๐ คน ประกอบด้วย คณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด ๒๔ จังหวัด เครือข่ายอาชีพจังหวัด กลุ่มอาชีพได้รับเงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด เข้าร่วมงาน
ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในช่วงปลายปี ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ผลการบริหารจัดการหนี้ของทั้ง ๗๖ จังหวัด และกรุงเทพมหานครที่มีร้อยละของการบริหารจัดการหนี้ต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ มีจำนวน ๑๐ จังหวัด ซึ่งในช่วงเวลากว่า ๗ เดือน ผลการบริหารจัดการหนี้ของทั้ง จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ที่มีร้อยละของการบริหารจัดการหนี้ต่ำกว่าร้อยละ มีจำนวน ๔๖ จังหวัด เพิ่มขึ้นจากปลายปีที่ผ่านมาถึง ๒๖ จังหวัด ทำให้เห็นถึงความตั้งใจ มุ่งมั่น ความรับผิดชอบและตระหนักในความสำคัญของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่ให้โอกาสสตรีทั่วประเทศได้ใช้แหล่งทุนนี้นำไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตรายครัวเรือน รวมทั้ง การส่งเสริม สนับสนุน ให้กลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนฯ ที่กู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนฯ ที่ประกอบอาชีพทอผ้า ซึ่งปัจจุบันมติคณะรัฐมนตรีได้รณรงค์ให้ประชาชนใช้และสวมใส่ผ้าไทย ให้รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นและถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ให้คงอยู่ต่อไปเพราะการทอผ้าสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับสตรีได้ " จากเส้นด้ายสู่การทอเรียงร้อยลวดลายสู่ผืนผ้าเอกลักษณ์ไทย กระจายรายได้สู่คุณภาพชีวิตที่ดีของสตรี " สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นน้ำพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทั้งสิ้น ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าว
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๔๕๗. ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ บรรยายพิเศษ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างพลังสตรี สร้างรายได้ให้กลุ่มอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก”เพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพ พร้อมส่งเสริมสตรีเป็นพลังขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๓ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ บรรยายพิเศษหัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพลูกหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ในการอบรมโครงการ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างพลังสตรี สร้างรายได้ให้กลุ่มอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก” รุ่นที่ ๑ จัดโดยสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ณ อิมแพค เมืองทองธานี โดยมีหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด ๗๖ จังหวัด กรุงเทพมหานคร และประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัด (กพสจ.) จำนวน ๗๖ จังหวัด เครือข่ายอาชีพจังหวัด กลุ่มอาชีพได้รับเงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด เข้าร่วมงาน
ดร.วันดี กล่าวว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นแหล่งทุนที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาศักยภาพสตรี ซึ่งมีหลายบทบาทในสังคม การขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนสมาชิกกองทุนฯ ที่แสดงถึงจำนวนสตรีที่เข้าถึงแหล่งทุน การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนที่ให้สตรีกู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.10 ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสถาบันการเงินในปัจจุบันโดยไม่ต้องใช้หลักประกันในการกู้ เงินอุดหนุนที่เป็นเงินให้เปล่าเพื่อพัฒนาศักยภาพสตรี จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจ เข้าใจ และพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ให้เป็นลูกหนี้ที่มีศักยภาพและมีความสามารถในการชำระคืนเงินกองทุนฯ
“ภารกิจการขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนฯ ต้องเริ่มจากการสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นว่ากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นแหล่งเงินทุนของสตรีเพื่อสตรีในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาศักยภาพสตรี นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตของสตรีที่ดีขึ้น หากมีความศรัทธาจะขับเคลื่อนสิ่งใดย่อมสามารถทำได้” ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าว
ทั้งนี้การอบรมโครงการ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างพลังสตรี สร้างรายได้ให้กลุ่มอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๘ – ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ โดยมีกลุ่มเป้าหมายการอบรมจำนวน ๔ รุ่น ประกอบด้วยหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัด ๗๖ จังหวัด กรุงเทพมหานคร รวมจำนวน ๗๗ คน และประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัด (กพสจ.) จำนวน ๗๖ จังหวัด เครือข่ายอาชีพจังหวัด กลุ่มอาชีพได้รับเงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด รวมทั้งสิ้น ๑,๗๓๓ คน และมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพแก่กลไกการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเครือข่ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในการสร้างพลังสตรีในการพัฒนาชุมชน และเพื่อให้สตรีเป็นพลังในการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากต่อไป
ขอบคุณ ที่มา: ภาพข่าว กรมการพัฒนาชุมชน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๔๕๖. “สมเด็จพระพันปีหลวง” โปรดเกล้าฯให้ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ออกรับเครื่องราชสักการะถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิหาคม ๒๕๖๓
วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ออกรับเครื่องราชสักการะถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิหาคม ๒๕๖๓
ในโอกาสสำคัญยิ่งนี้ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เข้าร่วมพิธีเชิญเครื่องราชสักการะและพานพุ่ม พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีพลเอก ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะอัญเชิญเครื่องราชสักการะและพานพุ่ม จากท้องสนามหลวง ไปทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ บริเวณหน้าประตูพระวรุณอยู่เจน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๔๕๕. สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมพิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่มพร้อมร่วมพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง. ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๓
วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๘.๐๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคงจุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี รองประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ดร.อรุณศรี จงเจียมจิตต์ กรรมการอำนวยการ สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมพิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม พร้อมร่วมจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมภริยา เป็นประธาน พิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๓ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๔๕๔. ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ นำองค์สมาชิก ๘๙ องค์กร ร่วมถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ๘๘ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๓
เช้าวันนี้ (วันพุธ ที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๓ ) เวลา ๐๗.๓๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมถ์ พร้อมด้วยนางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ นำองค์กรสมาชิก จำนวน ๘๙ องค์กร จากทุกภาคทั่วประเทศทูลเกล้าฯ ถวายแจกันดอกไม้สดเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อสภาสตรีฯและสตรีไทย เป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ โดยองค์กรสมาชิก จำนวน ๘๙ องค์กร ทุกองค์กรได้ร่วมถวายแจกันดอกไม้สด และร่วมกันลงนามถวายพระพร ขอให้พระองค์ท่านมีพระพลานามัยสมบูรณ์ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน สถิตเป็นมิ่งขวัญของปวงข้าพระพุทธเจ้าและปวงชนชาวไทยตลอดไป เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ๘๘ พรรษา (๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๓) ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๔๕๓. ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ และองค์กรสมาชิกได้รับเกียรติ ร่วมพิธี นายกรัฐมนตรี เปิด "งานศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ๒๕๖๓ " ๘ –๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ ณ อาคารชาเลนเจอร์ ๒จัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
วันนี้ ( ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ ) ที่ อาคารชาเลนเจอร์ ๒ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอ ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดงาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี” ๒๕๖๓ เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๓ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ภายใต้โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ โดยมี รองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี และท่านผู้หญิงกอบกุล อุบลเดชประชารักษ์ ผู้ช่วยงานส่งเสริมศิลปาชีพ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คณะทูตานุทูต และคณะรัฐมนตรี และหัวหน้าหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงมหาดไทยร่วมเป็นเกียรติในงาน
.ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวภายในงาน ว่างานที่จัดขึ้นครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และยังให้ประชาชนเลือกซื้อของดี มีคุณภาพฝีมือคนไทย ที่มาจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อีกทั้งเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และจาก พระราชประสงค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอนุรักษ์ภูมิปัญญาคนไทยให้อยู่คู่ประเทศ ส่งเสริมอาชีพรายได้ให้กับประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รัฐบาลจึงได้ขยายผล แล้วนำไปต่อยอดในโครงการดังกล่าว ซึ่งมีการพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง ไปสู่ตลาด
.
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวบนเวทีว่า “ แม้วันนี้สถานการณ์ปัจจุบัน ยังต้องเผชิญกับโรคโควิด-๑๙ แต่การใช้โอกาสนี้ ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นประเทศได้อีกทางหนึ่ง พร้อมขอให้ทุกคนทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และตนเองคิดว่าคนไทยทุกคนเข้าใจกันดี ขอให้ร่วมมือกันนำพาประเทศ เดินหน้าไป เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน “
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการจากหน่วยงานภาคี การสาธิต พร้อมพูดคุยกับผู้ผลิตผู้ประกอบการที่นำสินค้ามาแสดงและจัดจำหน่าย และยังได้ฝากให้กำลังใจกับผู้ประกอบการ OTOP ทั่วประเทศ ต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นให้ร่วมสมัย ตรงตามความต้องการของตลาด โดย นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่าแม้ประเทศไทยจะยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติโรคโควิด-๑๙ แต่คนไทยด้วยกัน ก็ยังให้การอุดหนุนสินค้าโอทอป ซึ่งเป็นสินค้าที่เกิดจากภูมิปัญญาคนไทย
ทางด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ระบุว่า กระแสตอบรับการจัดงาน 2 วันแรกเป็นที่น่าพอใจ แม้จะมีพื้นที่การจัดงานที่เล็กกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่สร้างยอดจำหน่ายแล้วกว่า 89 ล้านบาท ภายใต้รูปแบบวิถีใหม่ (New Normal) ตามมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้เข้าชมงานอย่างเข้มข้น และขอความร่วมมือจากประชาชนที่เข้าชมงานปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ตามมาตรการและการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) อย่างเคร่งครัด ขอให้เชื่อมั่นในเรื่องมาตรการ ออกมาจับจ่ายใช้สอย เพื่อช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า งานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี จัดระหว่าง วันที่ ๘ – ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี.
ชอบคุณ: ภาพ/ข่าว กองประชาสัมพันธ์ กรมการพัฒนาชุมชน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ
๔๕๒. ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมให้สัมภาษณ์พิเศษ บนเวทีกลาง งาน OTOP ศิลปาชีพ ประทีปไทย ก้าวไกลด้วยพระบารมี ๒๕๖๓
วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ เวทีกลาง อาคารชาเลนเจอร์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ๒๕๖๓ ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้รับเชิญจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นเกียรติสัมภาษณ์พิเศษ "สืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมและอนุรักษ์ผ้าไทย" โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย นางคำสอน สระทอง จากจังหวัดกาฬสินธุ์, นางประจวบ จันทร์นวล จากจังหวัดบุรีรัมย์, นางวงเดือน อุดมเดชาเวทย์ จากจังหวัดนครพนม และ นางสุนา ศรีบุตรโคตร จากจังหวัดอุดรธานี ร่วมให้การสัมภาษณ์
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ คณะรัฐมนตรี โดยท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยการรณรงค์เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวัน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า รากเหง้าจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ซึ่งต้องขอขอบพระคุณท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่สนับสนุนเรื่องนี้อย่างยิ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ความมุ่งมั่นที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานอันแน่วแน่ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ผ้าไทยเป็นสมบัติอันล้ำค่าของลูกหลานชาวไทย เป็นเครื่องมือสำคัญให้คนไทยในชนบทมีอาชีพที่มั่นคง ทั้งอาชีพเสริมและอาชีพหลัก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทราบดีว่าพี่น้องเกษตรกรไทย
นอกจากจะทำงานด้านการเกษตรแล้วนั้น ยังมีภูมิปัญญามรดกจากบรรพบุรุษในเรื่องหัตถศิลป์ทั้งหลาย โดยเฉพาะเรื่องผ้า การทอผ้า การประดิษฐ์ผ้า ที่ทรงไปรื้อฟื้นและสืบสาน ไม่ใช่การช่วยด้วยการมอบปลา แต่สอนให้เลี้ยงปลาเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน และยังส่งต่อถึงลูกหลานได้ด้วย โดยมีครูศิลป์แห่งแผ่นดิน ๕ ทหารเสือศิลปาชีพ ที่มาในวันนี้ถวายงานมาอย่างยาวนาน น่าเสียดายที่วันนี้มาได้เพียง ๔ ท่าน เพราะอีกท่านหนึ่ง คือแม่คำใหม่ โยคะสิงห์ เพิ่งเสียชีวิตไปกาลเวลาผ่านเลย พระราชปณิธานอันแน่วแน่ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และสนับสนุนผ้าไทย ยังคงสืบสานอย่างสม่ำเสมอ พระองค์ท่านไม่เคยหยุดเลย ซึ่งทั้ง 5 ทหารเสือศิลปาชีพ ได้กลายเป็นผู้นำชาวบ้าน ฝึกสอนและพัฒนาฝีมือ รวมถึงการจัดประกวดเพื่อพัฒนาฝีมือ และผู้ที่ชนะก็มีการถ่ายทอดต่อไป อีกทั้งยังพระราชทานทุนทรัพย์ เพื่อสร้างกำลังใจ ให้สามารถทำงานในบ้านเกิดของตนเอง เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวได้ เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้ผ้าไทยยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) มีรากฐานแนวความคิดมาจากโครงการศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะผ้าไทย ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ ความนิยมผ้าไทยซาลง กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้จับมือกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ รณรงค์เดินสายเชิญชวนผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัด ให้มีโครงการรณรงค์ใส่ผ้าไทย และโชคดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลเห็นความสำคัญถึงเรื่องนี้ จนนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรีในข้างต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่อัตลักษณ์ของผ้าแล้วนั้น ยังส่งผลดีในเชิงเศรษฐกิจอีกด้วย รวมถึงอนาคตของผ้าไทย
"เป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ส่งต่อผ่าน 5 ทหารเสือ และลูกหลานชาวไทยในทุกจังหวัดก็ร่วมใจสืบสานทำให้ผ้าไทยไม่สูญหายไป ซึ่งส่งผลต่ออนาคตของผ้าไทย เพราะถ้าสามารถกลายเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ ก็จะทำให้ทายาทคนรุ่นใหม่สนใจศึกษาการทอผ้ามากขึ้น และเมื่อมีคนใส่มากๆ ก็จะทำให้คนรุ่นใหม่ๆ คุ้นเคย จนรู้สึกได้ถึงความงดงามที่มีเอกลักษณ์ จับใจ นักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ก็อาจจะอยากออกแบบตัดเย็บให้เหมาะกับยุคสมัยของตน ต้องขอบคุณทหารเสือศิลปาชีพทุกท่าน ที่มีความจงรักภักดีเป็นที่ตั้ง อุทิศกายอุทิศใจ สนองพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนทำให้ผ้าไทยไม่สูญหายไปกับกาลเวลา" อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวย้ำ
ทางด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า เครื่องนุ่งห่ม เป็นหนึ่งในความมั่นคงของชีวิต หากย้อนเวลาไปยังช่วงต้นของ พ.ศ. ๒๕๐๐ จะเห็นได้เลยว่า วัฒนธรรมผ้าไทยได้หายไปแล้วจากสังคมไทย ทว่าด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่หาที่สุดมิได้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรื้อฟื้นผ้าไทย ทำให้ผ้าไทยต่างๆ ที่หายไปจากสังคมไทยแล้ว กลับมายืนอยู่คู่แผ่นดินไทย เป็นสมบัติของคนไทยอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน
โอกาสที่เราได้รับในวันนี้ ได้อยู่ดีมีสุขในแผ่นดินนี้ ก็ด้วยพระบารมีปกเกล้า เดือนสิงหาคมถือเป็นเดือนของสตรีอย่างแท้จริง เพราะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานให้วันที่ ๑ สิงหาคม เป็นวันสตรีไทย และคนไทยทั้งประเทศก็ยกให้วันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ โชคดีมากที่ในชีวิตของคนไทย มีทั้งแม่ผู้ให้กำเนิดและแม่ของแผ่นดิน พระราชหฤทัยของพระองค์มีแต่ประชาชน และสร้างให้พสกนิกรอยู่ดีมีสุขด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ
สำหรับงานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี จัดขึ้นทุกปี และในวันนี้ก็ได้รับเกียรติอย่างยิ่งจากทหารเสือศิลปาชีพทุกท่าน มาร่วมพูดคุย และแสดงงานในส่วนของหัตถศิลป์ ศิลปิน OTOP การร่วมสนับสนุนผ้าไทยจะสามารถช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้โดยไม่ยาก ประมาณการว่า หากมีคนไทยแต่งกายด้วยผ้าไทยเป็นประจำสัปดาห์ละ ๒ วัน จำนวน ๓๕ ล้านคน จะทำให้มีการซื้อผ้าและใช้ผ้าคนละ ๑๐ เมตร ราคาเมตรละประมาณ ๓๐๐ บาท จะทำให้เกิดความต้องการผ้าไทย จำนวน ๓๕๐ ล้านเมตร คิดเป็นมูลค่า ๑๐๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินนี้จะกลับคืนสู่ชุมชนก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนช่วยให้หลุดพ้นจากความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนมาช่วยกันสนับสนุนสินค้า OTOP ในงานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี 2563 ระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงานมีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จำนวนกว่า ๙๐๐ บูธ และมีไฮไลต์ เช่น การจัดแสดงผ้าสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ผ้าที่ชนะการประกวด ผ้าอัตลักษณ์และผ้าชนเผ่า ผ้าที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ขึ้นเครื่อง, Young OTOP และผ้าทออีสาน รวมถึงยังมี OTOP ชวนชิม อาหารพื้นถิ่นทั่วประเทศ และนิทรรศการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ทุกจังหวัด มาอยู่ภายในพื้นที่เดียวกัน จึงขอเชิญชวนมาเที่ยวชมงานซึ่งมีมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวดตามมาตรการสาธารณสุข นอกจากจะช่วยเป็นกำลังใจให้แก่พี่น้อง OTOP แล้ว การอุดหนุนสินค้าทุกชิ้นเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อีกหลายแสนครัวเรือน ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งไปด้วยกัน
ทางด้าน นางวงเดือน อุดมเดชาเวทย์ จาก อ.นาหว้า จ.นครพนม เปิดใจว่ารู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายผ้าไหมแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2515 ต่อมาได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านก็คือการเข้ารับพระราชทานรางวัลประกวดผ้าไหม ซึ่งได้รับรางวัลเกือบทุกปี เป็นเรื่องที่ปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด และยังทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวดีขึ้น เป็นเรื่องที่ปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด และภาคภูมิใจว่าชาวบ้านธรรมดาๆ ได้เป็นเสี้ยวหนึ่งของประเทศ ที่ได้มีโอกาสทำงานรับใช้พระองค์ฯ ท่านจึงทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ เพื่อสืบสานและต่อยอดผ้าไหมมัดหมี่บ้านนาหว้า ในฐานะของครูศิลปาชีพการทอผ้าไหมมัดหมี่ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม อย่างเต็มกำลัง
ขณะที่ นางประจวบ จันทร์นวล ซึ่งสืบสานงานผ้าไหมมัดหมี่ จาก อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ ภาคภูมิใจในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อย่างที่สุด ที่พระองค์ทรงสนับสนุนให้ชาวบ้านมีอาชีพทอผ้าและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเกือบทุกครัวเรือนจากพื้นที่ที่เคยแห้งแล้ง ในบางปีต้องนำผ้าไหมไปแลกข้าวในต่างพื้นที่ห่างไกล กลับทำให้ชาวบ้านมีอาชีพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน แต่ก่อนเราไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องทำนาข้าวขาย บางปีแล้งไม่มีรายได้เลย อาชีพทอผ้าที่เคยเป็นอาชีพเสริม ปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลักได้ สานต่ออาชีพของบรรพบุรุษในการทอผ้าจนสำเร็จได้เพราะสมเด็จพระนางเจ้าฯ ท่านทรงช่วยสนับสนุน ช่วยพวกเราจนมีทุกอย่างในวันนี้
นางประจวบ กล่าวว่า ลายผ้าที่ได้รับรางวัลจะเป็น ลายขอสาม ที่พัฒนาออกแบบลายใหม่ โดยนำลายดั้งเดิมมาดัดแปลงจนได้รับรางวัลที่ 1 ของจังหวัดสกลนคร เมื่อปี ๒๕๔๒ ได้รับรางวัลสร้อยคอพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกทั้งยังได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ไปเผยแพร่วัฒนธรรมการทอผ้าไหม ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ด้าน นางสุนา ศรีบุตรโคตร จากกลุ่มทอผ้าขิดใหม่บ้านหนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่ากลุ่มก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๒๕ ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ทรงคัดเลือกผ้าไหมลายขิดของครูสุนา ศรีบุตรโคตร ที่มีลวดลายสวยงามพอพระราชหฤทัย ได้รับสั่งให้เข้าเฝ้าฯ และพระราชทานรางวัล และทรงรับกลุ่มของครูสุนาเข้าร่วมโครงการส่งเสริมศิลปาชีพการทอผ้าขิดไหมบ้านหนองอ้อ และทรงแต่งตั้งครูสุนาเป็นครูหลวง ตามเสด็จไปสอนเด็กกำพร้าในวัง
"เมื่อกลับมาก็ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกหลาน และชาวบ้านที่ให้ความสนใจในการทอผ้า ร่วมกันพัฒนาทอผ้าฝ้ายลายขิดเป็นผ้าไหมลายขิดจนมีชื่อเสียง และยังคงถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ลูกหลาน และผู้ที่สนใจในการทอผ้าจนถึงปัจจุบันค่ะ" ครูศิลป์แห่งแผ่นดินจังหวัดอุดรธานีกล่าวย้ำ
ขณะที่ นางคำสอน สระทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - ทอผ้า) กล่าวว่า ผ้าแพรวานั้นมีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ทอให้กันในครัวเรือน ปกติจะให้เป็นผ้าสไบพาดไหล่ใส่ไปงานบุญหรืองานประเพณี ไม่ได้ขายกันแบบสมัยนี้ แต่หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยี่ยนราษฎรที่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ พระองค์ได้รับสั่งว่าผ้าแพรวานั้นสวยงาม ประณีต และเป็นเอกลักษณ์ของคนที่นี่ จึงอยากให้ทอผ้าเพื่อรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเอาไว้ หลังจากนั้นมา ตนก็มีอาชีพทอผ้าแพรวา และศิลปินด้านผ้าทอภูไทจนถึงบัดนี้ ซึ่งปัจจุบันยังคงทอผ้าถวายสมเด็จพระราชินีอยู่เสมอ และนอกจากทอผ้าแล้ว ก็ยังถ่ายทอดความรู้ของแพรวากาฬสินธุ์สู่รุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย.
ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ
๔๕๑. ๑ สิงหาคม “วันสตรีไทย” ๒๕๖๓ สภาสตรีแห่งชาติฯ ถวายภัตตาหารพระสงฆ์วัดราชบพิธฯ ถวายราชสักการะต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และรับฟังสัมโมทนียกถาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม
วันเสาร์ที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ พร้อมคณะกรรมการสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมงานบำเพ็ญกุศลเนื่องใน วันสตรีไทย 1 สิงหาคม 2563 โดยร่วมบำเพ็ญกุศลถวายภัตตาหารเช้าพระสงฆ์จำนวน 50 รูป ถวายราชสักการะต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมถวายสังฆทานพระสงฆ์จำนวน 10 รูป และรับฟังสัมโมทนียกถาจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา12 สิงหาคม โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารและข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมพิธีด้วย
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม กล่าวสัมโมทนียกถา ความว่า การร่วมกิจกรรมในวันนี้เป็นที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง จากการที่ทุกคนได้มีจิตอันเป็นกุศล ทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขและเพื่อความสิริมงคล ถวายเป็นพระราชกุศลต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา12 สิงหาคม
"วันนี้เป็นวันดีก็ขอให้ท่านสตรีผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย ระลึกถึงตลอดไปว่า เราเป็นชาวพุทธ เรามีพระรัตนตรัย เรามีสรณะ และปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระศาสนาให้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของเรา ซึ่งการดำเนินชีวิตทางพระพุทธศาสนานั้นเชื่อได้ว่าเป็นแนวทางที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย เป็นแนวทางที่เกิดความสุข ความดีงามและเป็นบุญกุศล และขอฝากกับท่านสตรีทั้งหลาย เป็นบุคคลตัวอย่างให้คนรุ่นหลังได้มีตัวอย่างว่า เป็นคนดี ประพฤติดี ปฏิบัติดี นำความเจริญให้หมู่คณะ สังคม และประเทศชาติ เกียรติคุณทั้งหลายนั้นก็จะปรากฏเป็นที่สืบสาน และเป็นความดีความงามที่ต่อยอดตลอดไป ประเทศของเราก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ แข็งแรง และเป็นประเทศที่อยู่กันด้วยความรักสมานสามัคคี เมื่อเรามีความเอื้ออาทรต่อกัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมในวันนี้ ก็จะเป็นแบบอย่างที่ดี เกิดความเป็นสิริมงคล และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ขอให้กิจกรรมที่เราทำนี้ มีความเจริญงอกงาม และฉลองพระเดชพระคุณแด่พระองค์ท่านให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน มีพระพลานามัยที่แข็งแรง มีอายุที่ยืนนาน เป็นมิ่งขวัญของชาวไทยตลอดไป”
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้วันที่ 1 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันสตรีไทย” มาตั้งแต่ปี 2546 โดยได้พระราชทานแนวพระราชดำริหน้าที่สำคัญเบื้องต้นของสตรีไทย 4 ประการ ได้แก่ พึงทำหน้าที่ของแม่ให้สมบูรณ์ พึงทำหน้าที่ของแม่บ้านให้สมบูรณ์ รักษาเอกลักษณ์ของความเป็นสตรีไทย และฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น ซึ่งสตรีไทยสามารถน้อมนำกระแสพระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเอง อันส่งผลให้ครอบครัวไทย สังคมไทย และประเทศไทยมีความสุข ความเจริญ นำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และสตรีไทยได้รับการยกย่องชื่นชมของสังคมโลก นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญในบทบาท ความสามารถ และคุณค่าของสตรีไทย
ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าวว่าด้วยสำนึกในพระมหากรุณาอย่างหาที่สุดไม่ได้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ตรากตรำบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อให้คนไทยได้มีอาชีพ และ เพื่อให้ผู้หญิงไทยมีโอกาสแสดงถึงความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันสังคม และให้สามารถเทียบเท่าสตรีสากลของหลายประเทศที่เจริญแล้ว พระองค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันสตรีไทย” และกรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจสำคัญซึ่งได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อสร้างโอกาสให้สตรีเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ตลอดจนส่งเสริมบทบาทและพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี จะเห็นได้ว่าสตรีไทยมีบทบาททางสังคมมากขึ้น และหากสตรีไทยมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ พัฒนาความรู้ความสามารถครบถ้วนทุกๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้สตรีไทยเป็นที่ยกย่องชื่นชมของสังคมโลกต่อไป
ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าวว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชหฤทัยแน่วแน่ ในการที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้พี่น้องสตรีไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำสตรีไทยที่อยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้ช่วยกันเป็นแกนหลัก ในการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สตรีไทยเป็นผู้นำเพิ่มมากขึ้น เป็นผู้นำของสังคมในการดูแลครอบครัว ดูแลประเทศชาติ ดูแลสังคม และที่สำคัญที่สุดก็คือ หน้าที่ของสตรีไทยที่ทรงพระราชทานไว้ให้ คือต้องช่วยกันพัฒนายกระดับให้สตรีไทย ได้มีความรู้ความสามารถเพิ่มพูนอยู่ตลอดเวลา พิธีการในวันนี้ เป็นวันที่ถือเป็นวันอุดมมงคลฤกษ์ที่สำคัญยิ่งของสตรีไทยและของพสกนิกรชาวไทยด้วย เพราะเป็นวันแรกของเดือนสิงหาคม อันเป็นเดือนเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จแม่ของแผ่นดิน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เชิญชวนให้ข้าราชการ ช่วยกันสวมใส่เสื้อสีฟ้าตลอดทั้งเดือนสิงหาคม สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นองค์กรแรกที่ได้ทำกิจกรรมในการที่จะน้อมถวายความจงรักภักดี และถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อเป็นพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ทรงพระเกษมสำราญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน มีพระพลานามัยที่แข็งแรง ผมขอให้สตรีไทยทุกท่านได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเอง อันจะส่งผลให้ครอบครัวและสังคมไทยมีความสุขอย่างยั่งยืน
"ขอเชิญชวนให้สตรีไทยทั่วประเทศสวมใส่เสื้อผ้าไทยสีฟ้า และทำความดี เช่น ปลูกต้นไม้ บริจาคโลหิต ทำบุญใส่บาตร หรือกิจกรรมอื่นๆ ตามที่เห็นสมควรเพื่อเป็นปฏิบัติบูชาน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล เป็นพระพรชัยมงคลบันดาลดลให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชินีพันปีหลวง ทรงพระเกษมสำราญ พระพลามัยแข็งแรง มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นร่มโพธิ์ทองปกเกล้าฯเหล่าพสกนิกรชาวไทยให้มีความสุขตราบนานเท่านาน" ประธานสภาสตรีแห่งชาติกล่าว
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรการบริหสนสภาสตรีแห่งชาติฯ