๓๗๖. สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ จัดงาน “ราตรีรวมใจภักดิ์ อนุรักษ์ผ้าไทย” ชูโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน" กระตุ้นทุกภาคส่วน สร้างงาน สร้างรายได้ให้สตรีในท้องถิ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นายประสงค์ คงเคารพธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานเปิดงาน“ราตรีรวมใจภักดิ์อนุรักษ์ผ้าไทย” โดยมีนางสุรวดี เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ตามนโยบายสภาสตรีแห่งชาติฯ โครงการ "สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน" สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน โดยมีนายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา นางจิรพรรณ คงเคารพธรรม รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ผู้บริหารโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ ฉะเชิงเทรา คณะกรรมการสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง จังหวัดฉะเชิงเทรา และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆเข้าร่วมงาน ร่วมงาน จำนวน ๙๐๐ คน ณ อาคารราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา

นางสุรวดี เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง จังหวัดฉะเชิงเทรา การจัดงาน ในวันนี้ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ิ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตาม โครงการ "สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน" ของสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่รณรงค์ให้องค์กรสมาชิกทั่วประเทศแต่งกายผ้าไทย โดยสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้กรรมการและสมาชิก จำนวน ๒๗๙ คน รณรงค์เป็นต้นแบบแต่งกายผ้าไทย ขยายผลไปยังภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และรวมพลังกันจัดงาน“ราตรีรวมใจภักด์ิ อนุรักษ์ผ้าไทย” ภายในงานได้รับเกียรติจากผู้แสดงแบบกิตติมศักด์ทุกภาคส่วน ร่วม เชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าไทยซึ่งเป็นศิลปะอันล้ำค่าของชาติโดยแสดงแบบชุดผ้าไทยหลากหลาย สร้างความตื่นตาตื่นใจและเสียงตอบรับชื่นชมอย่างท้วมท้น
นางสุรวดี เป้าเปี่ยมทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้น ให้ทุกภาคส่วน ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่นให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยภายในงานมีการแสดง ชุด “ลีลาผ้าไทย รวมใจ ๔ ภาค จากชมรมพุทธรักษา ชมรมผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา การร้องเพลงการกุศลจากนักร้องกิตติมศักดิ์ และการเต้นลีลาศ ทั้งนี้รายได้สมทบทุนสนับสนุนกิจการของสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และการช่วยเหลือสตรีที่มีปัญหาต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราต่อไป
นายประสงค์ คงเคารพธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่าการจัดงาน “ราตรีรวมใจภักดิ์ อนุรักษ์ผ้าไทย” สอดคล้องกับที่รัฐบาลได้รณรงค์ให้ สวมใส่ผ้าไทย เพื่อให้ประชาชนอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยผ่านการสวมใส่ผ้าท้องถิ่นไทย เป็นการส่งเสริมให้ตระหนักในคุณค่าและรักวัฒนธรรมไทย ตลอดจนมีส่วนร่วมอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าไทยให้คงอยู่สืบไป และนอกจากนี้ยังสร้างเสริมรายได้ให้ผู้ประกอบอาชีพทอผ้าอีกด้วย

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ

๓๗๕. นายกสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการ รณรงค์ "ใช้ถุงผ้า ถือตระกร้า หิ้วปิ่นโต” ทางเลือก ใช้แทนถุงพลาสติก ลดขยะ ลดภาวะโลกร้อน

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น.นายกิจจา ทองแดง พัฒนาการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดโครงการประชุมสัญจรก่อตั้งธนาคารขยะชุมชนกลุ่มสตรี อำเภอผักไห่ โดยมี นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ นายกสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และคณะกรรมการ และสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอำเภอผักไห่ จำนวน ๑๕๐ คน เข้าร่วมในพิธี และมีนางอภิญญา เอี่ยมอำภา นายอำเภอผักไห่ ให้การต้อนรับ และร่วมมอบผักสวนครัว เพื่อส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวลดรายจ่ายครัวเรือน ณ วัดบ้านอ้อ ตำบลอมฤต อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โครงการประชุมสัญจรก่อตั้งธนาคารขยะชุมชนกลุ่มสตรี อำเภอผักไห่ มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อตั้งธนาคารขยะชุมชน สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนในการลดขยะรักษาสิ่งแวดล้อม และรณรงค์การใช้ถุงผ้าลดการใช้ถุงพลาสติก ภายใต้สโลแกน "ใช้ถุงผ้า ถือตระกร้า หิ้วปิ่นโต" มีกลุ่มเป้าหมายเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอำเภอผักไห่ และภาคีเครือข่าย เพื่อเป็นต้นแบบขอความร่วมมือหลีกเลี่ยง หรืองดใช้ถุงพลาสติก
นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ กล่าวสนันสนุนการงดใช้ถุงพลาสติก ภายใต้สโลแกน "ใช้ถุงผ้า ถือตระกร้า หิ้วปิ่นโต" ซึ่งเป็นทางเลือก เพื่อใช้แทนถุงพลาสติก ช่วยลดขยะ ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย ในฐานะนายกสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ขอความร่วมมือให้คณะกรรมการทุกท่านของสมาคมฯ ร่วมกันรณรงค์เป็นปฎิบัติแบบอย่าง ใช้ถุงผ้า ถือตระกร้า หิ้วปิ่นโต นำติดตัว ติดรถพร้อมจะจับจ่ายซื้อของได้ทุกที่ ทุกเวลา ส่งผลให้เราภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนจัดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ

๓๗๔. สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน และ จังหวัดสมุทรสาคร รวมพลัง สตรีสมุทรสาคร และภาคีเครือข่าย รณรงค์สวมใส่ผ้าไทย เชิดชูอัตลักษณ์ ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์สินค้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๓๐ น ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี พร้อมด้วย ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดสมุทรสาคร นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี และหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กร ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย ในจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมลงนาม จำนวน ๔๐ หน่วยงาน โดยมี นางบุญทิวา วรรณประเวศ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ ๔ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ๒ ร่วมเป็นพยาน โดยก่อนลงนามได้มีการแสดงโชว์อัตลักษณ์ผ้าไทยของจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยการเดินแฟชั่นโชว์ผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดสมุทรสาคร จากหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ผู้นำกลุ่มองค์กรสตรี ภาคเอกชน ชาวไทรามัญ ร่วมแสดงแบบอย่างสวยงาม ณ หอประชุมศูนย์บริการวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ท่านประธานสภาสมาคมสตรีแห่งประเทศไทย มี ๓ จังหวัดที่ไม่มีผ้าไทยเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ จังหวัดสมุทรสาคร เดี๋ยวนี้จังหวัดสมุทรสาครมีผ้าไทยแล้ว สิ่งที่อยากเห็นคือการที่ลูกหลานได้รับการถ่ายทอดฝีมือไม่ใช่แค่การนำมาสวมใส่ ซึ่งในวันนี้มีน้องๆจากตำบลเจ็ดริ้วมาประดิดประดอยซึ่งถือว่าเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญา เราไม่จำเป็นต้องเป็นต้นน้ำเราเป็นกลางน้ำก็ได้ สิ่งที่สำคัญคือปลายน้ำเราก็จะมีโอกาสซึ่งสนับสนุนคนทอผ้าซึ่งเป็นอาชีพที่สำคัญเพราะได้ช่วยสืบสานรักษาและต่อยอดมรดกให้อยู่คู่กับลูกหลานและช่วยสร้างความมั่นคงในเรื่องการทอผ้าด้วยเพราะวันหนึ่งไม่แน่อาจเกิดวิกฤต ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เสมอ หากเราสามารถทอผ้าได้เองก็ถือเป็นความมั่นคงของชาติ และขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครและท่านประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสมุทรสาครที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงรื้อฟื้นให้ผ้าไทยของสมุทรสาครมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ที่สำคัญที่อยากจะกราบเรียนคือกระผมเคยเป็นศิษย์เก่าของสมุทรสาคร คือเคยเป็นปลัดอำเภอที่อำเภอกระทุ่มแบน ๘ เดือน ปลัดอำเภอบ้านแพ้ว ๒ เดือน จากนั้นก็ย้ายเข้ากรม และขอขอบคุณที่ปรึกษาส่วนตัวของอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนด้วย คือ ท่านพิภู สุโชคชัยกุล ทีมอาสาพัฒนาบ้านเกิดจังหวัดสมุทรสาครและท่านประธานหอการค้า คือ คุณอำไพ หาญไกรวิไลย์ ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้จัดงานของจังหวัดสมุทรสาครในครั้งนี้และผมก็รู้สึกตื้นตันใจกับชาวจังหวัดสมุทรสาครที่ทำให้ผ้าไทยไม่สูญหายไปและยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะการสวมใส่ผ้าปักลายปลาทูสมุทรสาคร หน้าเริด เชิดยิ้ม หรือใส่ผ้าสไบปัก ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในครั้งนี้

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า สภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาของ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สตรีทั่วประเทศ โดยหลัก คือ ภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ก่อตั้งสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงนี้ขึ้นมา เมื่อปี ๒๘๙๙ โดยเจตนาของท่านผู้หญิงละเอียด คือ อยพัฒนาสตรีกว่า ๒๐๐ องค์กรทั่วประเทศ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ยิกา สภาสตรีแห่งชาติเมื่อปี ๒๕๐๔ ท่านได้ทรงพระราชทานหน้าที่ของสภาสตรีไว้ 4 ประการดังนี้ ๑. เราต้องเป็นแม่บ้านที่ดีของครอบครัว ๒. เป็นแม่ที่ดีของลูก ๓. อนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย ให้ดำรงสืบไปชั่วลูกหลาน ๔. การพัฒนาตนเอง นอกจากมือจะไกวเปลเลี้ยงลูกแล้วจะต้องเป็นผู้รู้เท่าทัน ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ท่านได้พระราชทานให้วันที่ ๑ สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสตรีไทย ซึ่งสภาสตรีแห่งชาติจะจัดงานวันสตรีไทยทุกปี ปีที่ผ่านมาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ์ พระบรมราชินี พระองค์ท่านได้เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิดงานวันสตรีไทย ทรงพระราชทานเกียรติบัตรให้กับสตรีไทยดีเด่นและยุวสตรีทั่วประเทศนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ นอกจากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ยังได้พระราชทานดอกกล้วยไม้คือดอกแคทลียาเป็นดอกเป็นดอกไม้ของสตรีไทย ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ การรักษาวัฒนธรรมไทยจึงเป็นของการสื่อสารอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน ซึ่งนับเป็นสมัยที่ ๒ โดยสมัยแรกในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ คือ โครงการตามรอยผ้าไทยลมหายใจแม่ของแผ่นดิน หลังจากที่ได้ศึกษาพระราชกรณียกิจในเรื่องของผ้าไทย องค์กรสตรีเราก็ไม่สามารถที่จะหาอะไรมาเทียบกับพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้ การรื้อฟื้นผ้าไทยขึ้นมาทำให้หลายครอบครัวไม่ได้ทำอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพรองแต่เป็นอาชีพหลักที่ ทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทางสภาสตรีจึงได้สนับสนุนการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย จึงได้จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์สินค้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ขอชื่นชมนายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง คุณชุติพร วิจิตร์แสงศรี ที่ได้รื้อฟื้นเรื่องอัตลักษ์ผ้าทุกที่ที่ท่านไปอยู่ โดยเฉพาะผ้าลายดอกบุนนาคที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงชื่นชมเป็นอย่างมาก ครั้นเสด็จทอดพระเนตรการทอผ้าท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือ ที่จังหวัดลำพูน นอกจากนี้ยังได้รื้อฟื้นผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสาคร อยากให้สตรีจังหวัดสมุทรสาครทุกท่าน ช่วยกันคิดช่วยกันทำและใส่ผ้าไทยทุกวัน เชื่อว่าทุกคนจะต้องซื้อผ้าเพิ่มอย่างน้อยคนละ ๑๐ เมตร หากสตรี ๓๕ ล้านคนใส่ผ้าไทยคนละ ๑๐ เมตร รวม ๓๕๐ ล้านเมตร เมตรละ ๓๐๐ บาทเราจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนทันที ๑ แสนล้านบาท นอกจากเราจะช่วยรักษาวัฒนธรรมแล้ว เรายังช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากคือเศรษฐกิจครัวเรือนเมื่อเศรษฐกิจครัวเรือนเข้มแข็งเศรษฐกิจโดยรวมก็เข้มแข็งไปด้วย การบันทึกความร่วมมือในวันนี้ไม่ใช่แค่การจรดปากกาลงในกระดาษ แต่เป็นคำมั่นสัญญาที่เราจะร่วมกันทำจะช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งขึ้น และส่งเสริมให้คนใกล้ตัวได้สวมใส่ผ้าไทยในทุก ๆ วัน ขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และประธานชมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมทั่งหัวหน้าส่วนราชการทุกท่านที่ได้ให้ความสำคัญโดยเฉพาะองค์กรสตรีของเราจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจนี้


นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ท่านประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ชื่นชมจังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นจังหวัดเล็ก ๆ อยู่ติดกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครจะดำเนินการต่อไป วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้น เราจะดำเนินการต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สุดท้าย นางรัชนี โพธิสัตยา. พัฒนาการจังหวัดสมุทรสาคร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดสมุทรสาครได้ให้ความสำคัญกับ โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” โดยได้ต่อยอดกิจกรรมการพัฒนาผ้าของชาวไทเชื้อสายรามัญ ในจังหวัดสมุทรสาคร ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีชาวรามัญ หรือชาวมอญอาศัยอยู่จำนวนมากจังหวัดหนึ่ง ทำให้วัฒนธรรมและประเพณีของชาวมอญเข้ามามีอิทธิพลและกลายเป็นวัฒนธรรมและประเพณีประจำจังหวัดสมุทรสาครได้ การแต่งกายของผู้ชายชาวมอญจะสวมเสื้อคอกลมแขนยาวบ้างสั้นบ้างตามโอกาสนุ่งลอยชายพาดผ้าขาวม้า การพาดผ้าขาวม้า การแต่งกายของผู้หญิงชาวมอญ เสื้อแขนกระบอก นุ่งผ้าถุงเกล้ามวยผมคล้องผ้าสไบ จะเห็นได้ว่าสไบ เป็นการแต่งกายหลักที่ยังคงอยู่ จึงได้นำผ้าสไบ มาสร้างมูลค่า ด้วยการนำเป็นสร้างลวดลาย ใหม่ คือ ลวดลายปลาทู ลายกล้วยไม้ และนำลวดลายจากผ้าสไบไปตกแต่งบนเสื้อผ้า เพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับยุคสมัย


ขอบคุณภาพ/ข่าว สพจ.สมุทรสาคร กรมการพัฒนาชุมชน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

๓๗๒.กรมการพัฒนาชุมชน สภาสตรีแห่งชาติ ร่วมกับ จังหวัดนราธิวาส ลงนามบันทึก โครงการโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน"

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มอบหมายนางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงขับเคลื่อนรณรงค์การใส่ผ้าไทย กับ จังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้มอบหมาย นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และนาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนราธิวาส ร่วมลงนาม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรสตรี กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม รวมทั้งสิ้นจำนวน ๒๗ หน่วยงาน ณ ห้องโสภาพิสัย โรงแรมตันหยง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนราธิวาส

นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน" วัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ผ้าไทย อันเป็นศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และให้ชาวโลกได้ชื่นชม อีกทั้ง เพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทยแก่ประชาชนทั่วประเทศ และยังสนับสนุน ส่งเสริม การสร้างงาน สร้างอาชีพ และเสริมสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรมการพัฒนาชุมชน และจังหวัดนราธิวาส รวมถึงการส่งเสริมเผยแพร่ผ้าไทย อีกทั้งเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสต่อไป

นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดสำคัญจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย มีความโดดเด่นทางสภาพภูมิประเทศ ความหลากหลายทางประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน มีชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่มีชื่อเสียง อาทิ อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว หาดนราทัศน์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ทะเลหมอกสุคิริน น้ำตกปาโจ พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล วัดชลธาราสิงเห ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ มัสยิดวาดีลฮูเซ็น (มัสยิด ๓๐๐ ปี) เป็นต้น ผู้คนก็เป็นคนสุภาพเรียบร้อย มีความเป็นมิตร มีความหลากหลายทางประเพณีวัฒนธรรม เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง นำมาซึ่งศิลปวัฒนธรรมด้านการแปรรูป หรือถักทอ ตามวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้มีการบูรณาการออกมาเป็นโครงการศิลปาชีพจังหวัดนราธิวาส ในการดำเนินงานโครงการ “สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน” ครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการสนองแนวนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชน ได้อย่างชัดเจน และได้รับความกรุณาจากท่านรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ทำให้การจัดงานในครั้งนี้มีความสำคัญและโดดเด่นยิ่งขึ้น
จังหวัดนราธิวาส ได้แจ้งเรื่องการรณรงค์แต่งกายด้วยผ้าไทย และผ้าพื้นเมือง ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่น เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้เกิดกระแสความนิยม การแต่งกายด้วยผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น ทั่วทั้งจังหวัดนราธิวาส อีกทั้งยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ประกอบกับจังหวัดนราธิวาส ได้เชิญชวนให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับ แต่งกายด้วยชุดผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น ในวันอังคารและวันศุกร์ และตามโอกาสที่เหมาะสม

นาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จังหวัดนราธิวาส ได้ขับเคลื่อนโดยจัดการรณรงค์แต่งกายด้วยผ้าไทย และผ้าพื้นเมือง ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอย่างจริงจัง ทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกิดกระแสความนิยมและแนวทางการปฏิบัติของข้าราชการในจังหวัดนราธิวาส ที่ต้องแต่งกายด้วยผ้าไทยทุกวันยกเว้นวันที่แต่งชุดข้าราชการ เพื่อร่วมกันเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่น ทั้งยังเป็นการสร้างยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย

ขอขอบคุณสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกรมการพัฒนาชุมชน ที่เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ผ้าไทย ที่มาจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน และสร้างอัตลักษณ์ ความเป็นไทยด้วยการแต่งกาย ให้ทุกคนมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทยมากยิ่งขึ้น การรณรงค์ให้คนไทยทั้งประเทศ ร่วมมือร่วมใจกัน ใส่ผ้าไทย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าพื้นเมือง เพื่อช่วยกันเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน รักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย หากเราไม่ร่วมกันรณรงค์ในความเป็นไทย คนไทยจะมีที่ยืนในผืนแผ่นดินนี้ได้อย่างไรกัน

สุดท้ายนายไกรวุฒิ ช่วยสถิตย์ พัฒนาการจังหวัดนราธิวาส ได้กล่าวว่า ในความร่วมมือกันด้วยโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” จังหวัดนราธิวาส จะมีผ้าอัตลักษณ์ที่โดดเด่น คือ ผ้าทอ ผ้าบาติกและผ้าปาเต๊ะ ทางจังหวัดนราธิวาสมีการส่งเสริม สนับสนุนและรณรงค์ให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ประชาชนทั่วไป ได้สวมใส่ผ้าไทย ในทุก ๆ วัน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพแก่กลุ่มสตรี กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ของจังหวัดนราธิวาส และภูมิภาคอื่น จากการสวมใส่ผ้าไทย ทำให้ครอบครัวอบอุ่น สร้างชุมชนเข้มแข็ง และพึ่งตนเองได้ อย่างยั่งยืน
จึงขอเชิญชวนคนไทย และชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย มาร่วมสวมใส่ผ้าถิ่นไทย รักษาความเป็นไทย พัฒนา ต่อยอดผ้าถิ่นไทยให้ก้าวไกลไปทั่วโลก

ภาพ/ข่าว สพจ.นราธิวาส
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

๓๗๑. สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน จับมือ จังหวัดตาก จัดพิธีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ว่าด้วยการประสานความร่วมมือ “โครงการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน

วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานเปิดโครงการ “รวมพลคน OTOP ตาก” ร่วมพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลง MOU ว่าด้วยการประสานความร่วมมือ โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” พร้อมด้วย นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดตาก และองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯในจังหวัดตาก หัวหน้าส่วนราชการ โดยมีนายสันติ เที่ยงธรรม พัฒนาการจังหวัดตาก กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และมี หน่วยงานราชการ ๒๐ หน่วยงาน องค์กรภาคีเครือข่ายอีกจำนวน ๗ หน่วยงาน รวมทั้งหมด ๒๙ หน่วยงาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายไพบูลย์ บูรณะสันติ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ ๑๖ –๑๗ เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ณ ห้องประชุม ศูนย์กลางการแสดงสินค้าเทศบาลนครแม่สอดถนนเอเชีย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
สำหรับการลงนาม MOU ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยอันมีอัตลักษณ์และทรงคุณค่า ศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยและให้ทั่วโลกได้ชื่นชม อีกทั้งช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายด้วยผ้าไทย โดยเน้นในกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้าง และองค์กรสมาชิกของสภาสสตรีแห่งชาติฯ ที่มีอยู่ทุกจังหวัด อีกทั้งเพื่อส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานของรัฐ และองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ได้ใช้ผ้าไทยเป็นเครื่องแต่งกายอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งทุกคนได้มีส่วนร่วมสืบสาน อนุรักษ์ผ้าท้องถิ่นไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน และที่สำคัญเพื่อเป็นสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กลุ่มสตรีในท้องถิ่นทุกจังหวัดต่อไป

ขอบคุณภาพ/ข้อมูล: สำนักงานพัฒนาการจังหวัดตาก
ข่าว: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

๓๗๐. สมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จ.พระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ขานรับนโยบาย แต่งผ้าไทย ใช้ถุงผ้า ในการประชุมสัญจรก่อตั้งธนาคารชุมชนสตรีพื้นที่บางปะอิน

เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ ประธานสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จ.พระนครศรีอยุธยา เดินสายพบปะ องค์กรสมาชิกประชุมสัญจรก่อตั้งธนาคารขยะชุมชนในพื้นที่อำเภอบางประอินโดยมี นางมุกดา ธิษณ์ธนากร ประธานสตรีอำเภอบางปะอิน และสมาชิก จำนวน ๑๕๐ คนให้การต้อนรับ และเข้าร่วมประชุมสัญจรก่อตั้งธนาคารชุมชนสตรีพื้นที่บางปะอิน โดยได้รับเกียรติจากนางสาวอรุณวดี พันธุ์เอี่ยมพัฒนาการอำเภอบางปะอินและคณะเป็นวิทยากร ให้ความรู้การสร้างมูลค่าของขยะเป็นธนาคารขยะชุมชน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ชุมชน ณ หอประชุมอำเภอบางปะอิน (ริมแม่น้ำเจ้าพระยา) อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นางพรทิพย์ กล่าวว่าการเดินสายประชุมสัญจรก่อตั้งธนาคารชุมชนสตรี ในอำเภอบางปะอิน ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนเห็นความสําเร็จ และประโยชน์ที่จะคืนกลับไปสู่ชุมชนในการก่อตั้ง ธนาคารขยะชุมชน และทุกครั้งที่จัดประชุม เดินสายไปหลายๆอำเภอ ได้ทำหน้าที่ขานรับนโยบาย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในการรณรงค์สมาชิกแต่งกายผ้าไทย ใช้ถุงผ้าไทย อีกด้วย

ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

๓๖๙. สภาสตรีแห่งชาติฯร่วมเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรม ท่านเกื้อกูล เตือนกุล อดีตรองประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๑

วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เวลา ๑๙.๐๐ น. ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำคณะสภาสตรีแห่งชาติฯ ประกอบด้วยคณะกรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติฯ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ นายกองค์กร และสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม นางเกื้อกูล เตือนกุล อดีตเลขาธิการ สภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๐ และรองประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๑

ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจากที่ปรึกษาสภาสตรีแห่งชาติฯ ประกอบด้วย พลตรีหญิง คุณหญิง อัสนีย์ เสาวภาพ ประธานที่ปรึกษาคณะ กรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์ฯ และท่านยุวดี นิ่มสมบุญ ดร.เรือนแก้ว กุยยากานนท์ แบรนด์ท เข้าร่วมในพิธีสวดพระอภิธรรม ท่านเกื้อกูล เตือนกุล ณ ศาลา 7 วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพฯ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ



๓๖๘. สภาสตรีแห่งชาติจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สมัยที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๖๔) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓

วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สมัยที่ ๒๖(พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๖๔) โดยได้รับเกียรติจาก นางยุวดี นิ่มสมบุญ ที่ปรึกษาสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯเข้าร่วมประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯและรองประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ นางสุกัญญา ประจวบเหมาะ ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี อาจารย์ศรีวรรณ สายฟ้า และ อาจารย์สมจิตร ศิริเสนา เลขาธิการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการบริหาร เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ณ ห้องประชุม ๒ อาคารบ้านพระกรุณานิวาสน์ ถ.สุโขทัย กรุงเทพฯ

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีวาระ สรุปได้พอสังเขปดังนี้ ประธานที่ประชุม แจ้งเรื่อง”โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน “นับตั้งแต่ สภาสตรีแห่งชาติฯ ลงนาม MOU กับ กรมการพัฒนาชุมชน เมื่อ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๓ โดยได้รับการสนับสนุนจัดทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงไปแล้ว ๖๒ จังหวัด อีก ๓ องค์กร ปัจจุบันใกล้ที่จะลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมใจรณรงค์คนไทยร่วมใจสวมใส่ผ้าไทยใกล้ครบ ๗๖ จังหวัดแล้ว ทั้งนี้ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ได้กล่าวขอขอบคุณทุกท่านผู้ส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด ภาคีเครือข่าย ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และร่วมมือร่วมใจสวมใส่ผ้าไทย จนทำให้ผ้าพื้นบ้านไทยขายดี ทุกจังหวัดสร้างรายได้ให้กับชุนชนอีกด้วย
นอกจากนี้ เป็นเรื่องการรายงานผลจัดงานกาชาด ประจำปี ๒๕๖๒ และเรื่อง การขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินประจำปี ๒๕๖๓ (ช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๓) เรื่องการจัดงานวันสตรีไทย ประจำปี
๒๕๖๓ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ ภายใต้แนวคิด“พระบารมีส่องหล้า ต่อยอดการพัฒนาสตรีไทย” และเรื่องการจัดงานวันสตรีสากล ปี ๒๕๖๓ ภายใต้แนวคิด “๒๕ ปี ปฎิญญาปักกิ่ง : เสริมพลังสตรีสู่ความเสมอภาคอย่างยั่งยืน” ที่จะจัดขึ้น ในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๓ เป็นต้น

ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหาร
สภาสตรีแห่งชาติฯ

๓๖๗. สภาสตรีแห่งชาติฯร่วมงานเสวนา"พลังสตรีมุสลิม พลังแห่งการพัฒนา"ร่วมกับ ผู้นำสตรีมุสลิม ๔ภาค ๕ องค์กรใน

วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มอบหมายให้อาจารย์ศรีวรรณ สายฟ้า รองประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ เข้าร่วมงานเสวนา"พลังสตรีมุสลิม พลังแห่งการพัฒนา"ร่วมกับ ผู้นำสตรีมุสลิม ๔ ภาค ๕ องค์กร ณ มัสยิดนูรุสซอลีฮีน (บ้านหนองบัว) ต.เกาะกลัก อ.เมือง จ. ประจวบคีรีขันธ์

การจัดเสวนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อประสานความรักความสามัคคีและแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงานและความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการสร้างสังคมให้เข้มแข็ง โดยบทบาทสตรีมุสลิมถือมีสำคัญในการขับเคลื่อนงานตามแนวทางของศาสนาที่ได้กำหนดไว้ จึงเชื่อมั่นว่าต้องเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายและสังคมโดยรวม เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อในหลายด้าน ทั้งการสานสัมพันธ์ระหว่างกัน การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย และการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีการเชื่อมโยงในระหว่างภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

๓๖๖. กรมการพัฒนาชุมชน เผยข้อมูลผ่านสื่อมวลชน จับมือ สภาสตรีแห่งชาติฯ ปลื้ม ลงนามรณรงค์ใส่ผ้าไทย ๖๒ จังหวัดใน ๑๐๐ วัน เดินหน้าสู่เป้า ๑ แสนล้าน

กรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยข้อมูล ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ ถือเป็นวันเริ่มต้นการรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทยอย่างเป็นทางการ ภายใต้ “โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
นำโดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ถึงวันนี้ ช่วงเวลา ๑๐๐ วันเดินหน้ารณรงค์ลงนาม MOU แล้ว ๖๒ จังหวัด ผนึกพลัง ร่วมใจสวมใส่ผ้าไทย นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด องค์กรสตรี สถานศึกษา องค์กรภาคเอกชน สมาคม ชมรม ตลอดจนเครือข่ายระดับจังหวัด กลุ่มองค์กร และผู้นำกลุ่มสตรี
นอกจากนี้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า “โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ใกล้ที่จะลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมใจรณรงค์คนไทยร่วมใจสวมใส่ผ้าไทยใกล้ครบ ๗๖ จังหวัด ที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณทุกท่านผู้ส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด ภาคีเครือข่าย ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี การร่วมมือร่วมใจสวมใส่ผ้าไทย
สำคัญที่สุดคือการได้สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี ที่พระราชทานพระราชดำรัสในงานวันสตรีไทย เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ มีใจความสำคัญว่า พระองค์จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระพันปีหลวง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อปวงชนชาวไทย โดยการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ให้ชาวโลกได้ชื่นชม และยังสนับสนุนส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่น และต่อยอดภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ผ้าทอไทยทุกผืนเกิดจากการถักทอด้วยลมหายใจของผู้หญิง หากว่าคนไทยเพียง ๓๕ ล้านคนร่วมใจใส่ผ้าไทยทุกวัน และทุกคนซื้อผ้าไทยเพิ่มคนละ ๑๐ เมตรๆละ ๓๐๐ บาท สามารถสร้างเงินหมุนเวียนได้กว่า ๑ แสนล้านบาท
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน มีเป้าหมายสร้าง “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองได้ในปี 2565”นับเป็นภารกิจที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องในชุมชน การรณรงค์สวมใส่ผ้าไทยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ทั้งในในส่วนผู้บริโภค และผู้ผลิต จากที่ได้รับรายงานพบว่าแต่ละจังหวัดมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม คนทอผ้า คนตัดเย็บ คนขายผ้า ตลอดจนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP นับเป็นเป็นห่วงโซ่เศรษฐกิจฐานรากที่สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับครัวเรือน และระดับชุมชน รายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายผ้าทอมือ ช่วยสตรียกระดับคุณภาพชีวิต ส่งบุตรหลานให้มีโอกาสเล่าเรียน ดูแลครอบครัวได้เมื่อยามเจ็บป่วย สร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความมั่นคง พึ่งตนเองได้
ด้านผู้ประกอบการ OTOP คุณเฉลิมศรี คันธา ชาวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้จากการรณรงค์ ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ทำให้ตลาดผ้าไทยในจังหวัดเชียงใหม่ มีความคึกคักขึ้นกว่าแต่ก่อน มีการนำวัตถุดิบพื้นบ้านมาใช้มากขึ้น และมีการสืบสานภูมิปัญญาของชาวบ้าน มาถ่ายถอดการเรียนรู้พื้นบ้าน จากผ้ารุ่นสู่รุ่น และทางศูนย์จัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP ได้เปิดโรงเรียนโอทอปสอนเยาวชนในการทอผ้า และประยุกต์ให้มีความทันสมัยสามารสวมใส่ผ้าไทยได้ทุกเพศทุกวัย สำหรับยอดจำหน่ายผ้าในช่วงที่มีการรณรงค์ทำให้ยอดขายดีขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ได้เปิดจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ผลตอบรับดี พร้อมทั้งกล่าวเชิญชวนคนไทยหันมาสวมใส่ผ้าไทยให้มากขึ้นในทุกวาระโอกาส
คุณดลตวรรณ มณีจันทร์ ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี วัดนาหนอง อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี กล่าวว่า การรณรงค์สวมใส่ผ้าไทยเป็นการอนุรักษ์ศิลปะหัตถกรรมของชนไทยญวนเอาไว้ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ ช่วยเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน เพราะบางชุมชนจะใช้อาชีพนี้เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้
ในส่วนของภาคใต้ ผู้ใหญ่วิไล จิตรเวช จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่าโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ทำให้คนที่ทอผ้าได้มีอาชีพเสริมที่มั่นคงขึ้น และได้เห็นคนใส่ผ้าไทยเพื่ออนุรักษ์ผ้าท้องถิ่นไว้ เช่นผ้ายกนคร ผลจากการรณรงค์ทำให้ขายผ้าได้เพิ่มขึ้นทำให้มีกำลังใจ แม้ผู้ชายก็หันมายึดอาชีพทอผ้า พร้อมทั้งได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้มีโครงการดีๆอย่างนี้ และขอให้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผ้าไทยเป็นที่นิยมของชาวไทยและมีอาชีพให้ลูกหลานต่อไป

ขอบคุณที่มา:WWW.Khaosod.co.th
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ