๖๑๖. สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี สมาคมแม่ดีเด่นแห่งชาติจังหวัดอุดรธานี และ สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย อุดรธานี ๓ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ รวมพลังศรัทธราทำบุญถวายเงินสร้างประตูโขงเข้าวัดพระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย
๑๘ มกราคม ๒๕๖๔

วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ประกอบด้วย นางกอบแก้ว คงน้อย นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี  รศ.ดร.กฤตติกา แสนโภชน์ นายกสมาคมแม่ดีเด่นแห่งชาติจังหวัดอุดรธานี  พร้อมด้วย พญ.เฉลิมวรรณ ศศิประภา นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย อุดรธานี และสมาชิกทั้ง ๓ องค์กร ได้รวบรวมปัจจัย จำนวน ๑๗๔,๓๙๖ บาท เดินทางไปทำบุญถวายเงินสร้างประตูโขงเข้าวัดพระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย  ถวายให้พระอาจารย์ทวี มหาวีโร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย เพื่อนำไปสร้างประตูโขงตามวัตถุประสงค์

          วัดพระธาตุบังพวน พุทธศาสนิกชนมีจิตศรัทธา ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบสังฆกรรมของพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อปี ๒๕๔๗ และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๙

 

        วัดพระธาตุบังพวน เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อปี ๒๒๐๐ ตามตำนานเล่าว่ามีพระอรหันต์ ๓ องค์ ร่วมด้วยกุมารเมืองต่างๆ เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาประดิษฐานที่ภูหลวง หรือที่ตั้งของวัดพระธาตุบังพวนในปัจจุบัน เมื่อพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์และหมื่นกางโฮงเจ้าเมืองเวียงคุก ทรงทราบเรื่อง จึงมีพระราชดำรัสให้สร้างพระเจดีย์พระธาตุบังพวนขึ้น เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งล้านช้าง ได้ทรงย้ายราชธานีจากหลวงพระบางมายังนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งมีพรมแดนติดกับจังหวัดหนองคาย ได้มีพระราชศรัทธาให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ครอบพระเจดีย์พระธาตุบังพวนเสริมทับด้วยอิฐดินเผาขึ้นอีกหนึ่งชั้น จากนั้นวัดพระธาตุบังพวนได้ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่ง ปี ๒๔๙๒ พระครูเจติยานุรักษ์ ได้บูรณะวัดขึ้นใหม่ให้เป็นที่เคารพศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชน ซึ่งมีการพัฒนาเรื่อยมาและได้พระราชทานวิสุคงคามสีมาเมื่อปี ๒๕๕๙ ภายในวัดมีลักษณะเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ อาทิ เจดีย์ ๑๕  องค์  วิหาร ๓ หลัง  บ่อน้ำโบราณและกำแพงอิฐโบราณ

 

 

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ

ดาวน์โหลด