๓. สองสมาคม องค์กรสมาชิกสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ในจังหวัดภูเก็ต จับมือจังหวัดภูเก็ตและหลายภาคส่วน ต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน ในพิธีแต่งงานตาม โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเสน่ห์ชุมชนยลวิถีย่านเมืองเก่า "วิวาห์บาบำภูเก็ต" ประจำปี ๒๕๖๕
วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๕ ที่ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต นางจรรยาวรรณ สุวัณณาคาร กรรมการอำนวยการ และประธานภาคใต้ภาคใต้สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์พร้อมด้วย สองสมาคม องค์กรสมาชิกสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ในจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย นางสาว รุ่งรัตน์ ศรีสุข นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย-ภูเก็ต นางพรพินิจ พัฒนสุวรรณา นายกสมาคมสตรีภูเก็ต และนางศุภางค์พรรณ ขอศานติวิชัย สตรีไทยดีเด่นภูเก็ตประจำปี ๒๕๖๕ ร่วมกันต้อนรับ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน ในพิธีแต่งงานตาม โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเสน่ห์ชุมชนชนวิถีย่านเมืองเก่า "วิวาห์บาบำภูเก็ต" .ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๕ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้อง
ถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น พี่น้องชาวจังหวัดภูเก็ต และสื่อมวลชน เข้าร่วม โดยกิจกรรมประกอบด้วย การตั้งขบวนเจ้าบ่าว ณ ลานจอดรถ เคพาร์ค ภูเก็ต ถนนกระบี่ ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต จากนั้นกลองยาวนำขบวนเจ้าบ่าวเดินออกจาก ลานจอดรถ เคพาร์ค ถึงบ้านชินประชา ,ประธานจุดธูปเทียนไหว้เทวดาพร้อมกับแขกผู้มีเกียรติและคู่บ่าวสาว ประกอบ พิธีผ่างเต๋ ตามลำดับ อาทิ ยกน้ำชา เรียงลำดับ ความอาวุโส ขั้นตอนการจัดที่นั่ง ผู้ใหญ่ยกน้ำชา วิธีรับยก น้ำชา เป็นต้น เมื่อเสร็จพิธี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง วัฒนธรรม ผู้บริหารและแขกผู้มี่เกียรติ ร่วมถ่ายภาพกับคู่บ่าว
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้คัดเลือกงาน “วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต” เป็น ๑ ใน ๑๖ งานเทศกาล/ประเพณีที่มีความโดดเด่นในแต่ละจังหวัด ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายทางวัฒนธรรมและชุมชนจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมและยกระดับงานเทศกาลประเพณีของแต่ละท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ
สำหรับ “ประเพณีวิวาห์บาบ๋าภูเก็ต” ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต ที่สืบทอดกันมานานกว่า ๑๐๐ ปี ที่ก่อเกิดจากบรรพบุรุษสองเชื้อชาติที่มาพบกันครึ่งทาง ฝ่ายชายคือชาวจีนโพ้นทะเล ที่เข้ามาทำเหมืองแร่ ฝ่ายหญิงคือคนท้องถิ่นบนแผ่นดินภูเก็ต ทั้งคู่ได้ให้กำเนิดลูกครึ่งจีน-คนท้องถิ่น ที่เรียกว่า “บาบ๋า” และถือเป็นคนกลุ่มสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เมืองภูเก็ตเจริญรุดหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้ประเพณีวิวาห์บาบ๋าภูเก็ต มีความโดดเด่นและเหมาะแก่การสืบสานต่อยอด เป็น Soft Power ของไทยในธีมอาคาร อาหาร อาภรณ์ จากความโดดเด่นของบ้านเรือนแบบชิโน-ยูโรเปียน อาหารการกินที่เป็น Gastronomy และเครื่องแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์และความสวยงามของจังหวัดภูเก็ต
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายมุ่งขับเคลื่อนการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ของรัฐบาล พร้อมผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยงานประเพณีและวัฒนธรรมที่เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นมาจูงใจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทยมากขึ้น และพร้อมสนับสนุนส่งเสริมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเทศกาลประเพณีวิวาห์บาบ๋าภูเก็ต ยกระดับไปสู่ระดับโลก เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ภายในจังหวัดภูเก็ตมากยิ่งขึ้น
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สภาสตรีแห่งชาติฯ