ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ พร้อมคณะกรรมการอำนวยการ นำคณะสื่อมวลชน “ตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน” ครั้งที่ ๓ เยือนจังหวัดเชียงใหม่ – ลำพูน
เมื่อวันที่ ๑๙ – ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๖๑) พร้อมด้วย รองประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ คุณเบญจมาศ ปริญญาพล เลขาธิการ คุณไปรยา บุญมี รองเลขาธิการ คุณทิพวรรณ กิตติสถาพร คุณวราพร พิพิธสุขสันต์ คณะกรรมการอำนวยการประกอบด้วย ดร.อัญมณี วงศ์กาสิทธิ์ ดร.วันเพ็ญ พงศ์เก่า คุณอรุณศรี จงเจียมจิตต์ ที่ปรึกษาประธานสภาสตรี คุณจรรยา เฮงตระกูล ประธานกรรมการบริหาร คุณจิตรี จิวสันติการ ประธานกรรมการสมาชิกสมทบ คุณเบญจมาศ รุจิรวงศ์ และสมาชิกสมทบ คุณเยาวมาลย์ วัชรเรืองศรี และคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง เข้าร่วมโครงการ “ตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน” ครั้งที่ ๓ เยือนจังหวัดเชียงใหม่ – ลำพูน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ ส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตผ้าไทยในระดับครัวเรือน และสนับสนุนการรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ศิลปะความงดงามบนลายผ้าไทยที่มีมาแต่ประวัติศาสตร์ให้คงอยู่กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน
วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ คณะสภาสตรีแห่งชาติฯ และสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมหมู่บ้านกลุ่มทอผ้าตีนจกบ้านไร่ อำเภอแม่แจ่ม มีการทอผ้าตีนจกที่มีลวดลายโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งผ้าตีนจกแม่แจ่มได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นแม่แบบ จำนวน ๑๖ ลาย จากนั้นชมการสาธิตกระบวนการผลิตเส้นฝ้าย ทอผ้าตีนจก สาธิตการปักปิ่น และเดินชมผ้าตีนจกโบราณ ผ้าตีนผาลายประยุกต์ ผ้าตีนจกลวดลายต่างๆ และชมการแสดงฟ้อนเล็บและฟ้อนสาวไหมจากเยาวชนในชุมชน โดยมีคุณมลสุดา ชำนิประศาสน์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีล้านนา และคุณอัจฉราวรรณ ลิ้มเล็งเลิศ กรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๕ ให้การต้อนรับ
วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ คณะสภาสตรีแห่งชาติฯ และสื่อมวลชนได้เดินทางไปยังจังหวัดลำพูน เพื่อไปเยี่ยมชมดูงานศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาด้านผ้าทอของจังหวัดลำพูน ณ สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย อำเภอ เมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นสถาบันที่รวบรวมพ่อครูแม่ครูที่มีความรู้เกี่ยวกับการทอผ้า เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าด้วยมือสู่เยาวชนและผู้ที่สนใจ รวมทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ในด้านการออกแบบลวดลายผ้าทอโบราณ การพัฒนาการทอผ้าลวดลายใหม่ ๆ พร้อมเข้าฟังบรรยายความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของผ้าไหมยกดอกลำพูน และชมกระบวนการทอผ้าไหมยกดอก โดยได้รับเกียรติจาก คุณเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน คุณนรินทร์ พูสุวรรณ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนพร้อมคณะให้การต้อนรับ
จากนั้นได้เดินทางกลับไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าและบ้านโบราณ ซึ่งเป็นแหล่งเก็บสะสมผ้าโบราณของต้นตระกูลนิมมานเหมินทร์-ชุติมา ตระกูลเก่าแก่ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดแสดงผ้าทอและเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ ไทลื้อ ไทลาว ไทยวน ไทเขิน เป็นต้น พร้อมร่วมรับประทานอาหารเย็นแบบขันโตก โดยมี คุณมนัสวัฑฒก์ ชุติมา รองหุ้นส่วนผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ผ้าและบ้านโบราณให้การต้อนรับ ณ ศูนย์วัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่
ข้อมูลเฉพาะ
๑.ประวัติความเป็นมากลุ่มทอผ้าตีนจกบ้านไร่ อำเภอแม่แจ่ม
แม่แจ่ม เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในหุบเขาซึ่งมีเทือกเขาถนนธงชัยและ ดอยอินทนนท์ล้อมรอบ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่สำคัญของภาคเหนือ นับเป็นหนึ่งในชุมชนไม่กี่แห่งของไทยที่ยังคงรักษาและสืบทอดมรดกพื้นเมืองซิ่นตีนจก และ ผ้าทอหลายประเภท อันเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าทั้งความงดงามและความหมาย
สตรีแม่แจ่มในอดีต จะถูกฝึกหัดให้รู้จักทอผ้าตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อพร้อมที่จะทอผ้าสำหรับนุ่งห่มของตนเองและครอบครัว ทุกวันนี้ชุมชนแม่แจ่มโดยส่วนใหญ่ก็ยังนิยมทอและใช้ผ้าทอที่ทำขึ้นในท้องถิ่นเช่น เสื้อผ้า สะลี (ที่นอน) หมอน ผ้าต้วบ (ผ้าห่ม) ซิ่นแบบต่างๆ ได้แก่ ซิ่นหอมอ้วน ซิ่นตาล่อง ซิ่นแอ้ม ซิ่นตาตอบ ซิ่นลัวะ ซิ่นยาง ตลอดจนซิ่นตีนจก ซึ่งเป็นการทอเพื่อนำมาต่อกับผ้าถุงหรือที่ชาวบ้านภาคเหนือ เรียกว่า “ซิ่น” นอกจากนี้ ยังมีผ้าที่ใช้เทคนิคการจกในการตกแต่งลวดลายได้แก่ ผ้าเช็ด ผ้าพาด ผ้าหลบ (ผ้าปูที่นอน) และหน้าหมอนจก เป็นต้น
ในอดีต ผ้าตีนจกแม่แจ่มที่ทอด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง จะทอขึ้นเพื่อส่งส่วยเจ้าเชียงใหม่ โดยทางคุ้มเจ้าเชียงใหม่ส่งดิ้นเงินดิ้นทองมาให้ การส่งส่วยใช้ช้างบรรทุกไปปีละครั้งพร้อมของส่วยอื่น เช่น ไม้ สมุนไพร หวาย หนังสัตว์ เขาสัตว์ ถั่ว งา เป็นต้น และห้ามชาวบ้าน “ไพร่” นุงผ้าตีนจกที่ทอด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง ผ้าตีนจกถือเป็นสมบัติล้ำค่าและเป็นสิ่งบ่งชี้ฐานะทางสังคมสันนิษฐานว่าซิ่นตีนจกแม่แจ่มก็น่าจะมีขึ้นในยุคสมัยที่พุทธศาสนาของล้านนามีความเจริญรุ่งเรืองจากลวดลายของซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความคิด ความเชื่อทางพุทธศาสนา จากองค์ประกอบของซิ่นตีนจกแม่แจ่มจะปรากฏลวดลายต่างๆ เช่น โคม ขัน นาค หงส์ น้ำต้น สะเปา อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความเชื่อทางพุทธศาสนา อันหมายถึง เขาพระสุเมรุ ทะเลสีทันดร และ สัตว์หิมพานต์ ดังปรากฏอยู่ในการเทศน์มหาชาติ ช่วงลอยกระทงของทุกปี ประกอบอยู่บนผืนผ้า สีแดงเป็นเชิงซิ่นอันหมายถึงสวรรค์หรือจักรวาล เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพสักการะและ เป็นพุทธบูชาของทั้งผู้ทอและผู้สวมใส่ให้เกิดสง่าราศี เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เกิดบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ โดยมีสวรรค์และนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง นอกจากนี้สตรีแม่แจ่มยังมีการเก็บผ้าตีนจกผืนที่ดีที่สุด งามที่สุด ไว้สำหรับตัวเองใส่เมื่อยามละสังขารแล้ว เพื่อจะได้ไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์เป็นครั้งสุดท้าย
ผ้าตีนจกแม่แจ่มนับเป็นงานหัตถกรรมที่ประณีต สวยงาม และมีเอกลักษณ์ ของอำเภอแม่แจ่ม ดังมีคำขวัญของอำเภอแม่แจ่ม ว่า เที่ยวบ่อน้ำแร่ ล่องแพน้ำแจ่ม พักแรมน้ำตก ผ้าตีนจกยอดน้ำมือ
ลวดลายและกรรมวิธีการทอ
จก เป็นเทคนิคการทำลวดลายบนผืนผ้าบนเส้นพุ่ง ด้วยวิธีการสอดด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ โดยใช้ขนแม่นหรือเหล็กแหลมช่วยในการจกหรือควักเส้นด้ายขึ้นมาบนเนื้อผ้าที่ทออยู่ การจกเป็นการสร้างลวดลายที่สามารถใช้ฝ้ายได้หลากหลายสีในลวดลายต่างๆ ที่ทำขึ้น ผ้าแม่แจ่มจะใช้เทคนิคนี้เป็นส่วนใหญ่ โดยคว่ำหน้าผ้าลงกับกี่ที่ทอ ซึ่งทำให้สามารถเก็บเงื่อนหรือปมฝ้ายได้เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่หลุดง่าย รวมทั้งลวดลายที่เกิดขึ้นด้านหลังของลายซึ่งอยู่ด้านบนของกี่นี้มีความสวยงามไม่แพ้ด้านหน้าซิ่นแม่แจ่มจึงสามารถนุ่งได้ ๒ ด้าน ดังจะเห็นคนเฒ่าคนแก่มักนิยมนุ่งซิ่นด้านในออกนอกเสมอ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เก่าเร็วเกินไปด้วย
ผ้าจกนับเป็นศิลปะการสร้างลวดลายบนผ้าที่มีความเป็นอิสระในตัวเอง ซึ่งผู้ทอสามารถสร้างจินตนาการและแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ของตนเองได้มากที่สุดเช่นเดียวกับการวาดภาพและแต้มสีลงบนผืนผ้า ผลงานที่เกิดขึ้นจึงสามารถพัฒนาการไปได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ผ้าจกแม่แจ่มมีลักษณะเด่นในการสร้างผลงานของช่างผู้ทอ ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งลายดั้งเดิม ซึ่งสามารถจัดแบ่งผ้าจกตามลักษณะลวดลายได้ดังนี้
๑. ลวดลายอุดมคติ เป็นลวดลายที่สะท้อนความเชื่อในศาสนาออกมาเป็นรูปสัญลักษณ์อันเกี่ยวเนื่องกับศาสนา พบลวดลายลักษณะนี้ในซิ่นตีนจกเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ รูปโคม ขัน น้ำต้น นาค หงส์สะเปา ที่ประกอบขึ้นเป็นซิ่นตีนจก นอกจากนี้ยังปรากฏ รูปขันดอก รูปหงส์ในผ้าป้าด (ผ้าพาดบ่า) หรือลายนาคในหน้าหมอน เป็นต้น
๒. ลวดลายคนและสัตว์ ส่วนใหญ่พบในผ้าหลบสะลี (ผ้าปูที่นอน) ผ้าป้าด ได้แก่ รูปม้า ช้าง ไก่ ลา ลายเขี้ยวหมา ลายงูเตวตาง ลายฟันปลา และลายคน ในหน้า หมอนได้แก่ รูปปู กบ เป็นต้น
๓. ลวดลายพรรณพฤกษา พบในหน้าหมอนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ลายดอกจันทร์ กุดผักแว่น เป็นต้น
๔. ลวดลายเปรียบเทียบสิ่งของใกล้ตัว เช่น ลายกุดตาแสง กุดพ่อเฮือนเมา กุดกระแจ กุดขอเบ็ด กุดสามเสา พบลวดลายเหล่านี้ในหน้าหมอน
ซิ่นตีนจกแม่แจ่มเป็นศิลปหัตถกรรมที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษมา แต่โบราณกาลอันเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น และสร้างลวดลายขึ้นบนผืนผ้าด้วยการจก คือการสอดหรือควักเส้นฝ้ายสีต่างๆ ที่พุ่งสลับกันเป็นช่วงๆ เพื่อให้เกิดเป็นรูปและลวดลายต่างๆ ขึ้นมาโดยใช้ขนเม่น โลหะ หรือไม้ปลายแหลมเป็นเครื่องมือ
ซิ่นตีนจกไหมในเขตแม่แจ่ม เท่าที่พบในปัจจุบันมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ใน ราว ๒๐๐ ปี จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ และผู้รู้ในเขตบ้านยางหลวงพบว่าซิ่นในสมัยก่อนจะทำด้วยผ้าฝ้ายปั่นมือหรือ เส้นไหมและย้อมด้วยสีธรรมชาติ โดยมีสีหลักๆ เช่น สีแดง ย้อมด้วยรากสะลัก สีดำหรือ สีน้ำเงินเข้มจะย้อมด้วยหม้อฮ่อม สีเหลืองย้อมด้วยขมิ้น เป็นต้น ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของวัสดุที่ใช้ทอและจก ทำให้มีลักษณะและสีสันของซิ่นตีนจกแม่แจ่มที่แตกต่างไปจากเดิมบ้างตามวัสดุที่ใช้ กล่าวคือ เมื่อมีการใช้ฝ้ายจากโรงงาน มีลักษณะเป็นฝ้ายเนื้อละเอียดมีสีสันที่หลากหลาย ชาวบ้านเรียก “ฝ้ายพ่าย” สีสันของซิ่นตีนจกแม่แจ่มในยุคนี้ จึงมีสีสันสดใสมากขึ้น มีการใช้สีมากขึ้นในการจก และนิยมจกจนเต็มลายไม่เว้นช่องว่าง
องค์ประกอบของซิ่นตีนจกแม่แจ่ม
แบ่งออกเป็นส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือ ส่วนเอวซิ่น ส่วนตัวซิ่น และส่วนที่เป็นตีนจกหรือตีนซิ่น เมื่อนำทั้ง ๓ ส่วน นี้มาเย็บต่อกันก็จะได้ซิ่นตีนจก ๑ ผืน ทั้งนี้เนื่องจากสตรี แม่แจ่มส่วนใหญ่ยังนิยมทอผ้าแบบโบราณกันอยู่ โดยใช้กี่พื้นเมือง ซึ่งมีขนาดเล็ก ส่วนตัวซิ่นจะเป็นส่วนที่กว้างที่สุดที่สามารถทอได้ แต่ปัจจุบันนี้มีการทอซิ่นตีนจกแบบเต็มผืนขึ้นบ้างแล้ว ซิ่นตีนจกแม่แจ่มแบบโบราณ นิยมนุ่งซิ่นให้ยาวกรอมเท้าปิดตาตุ่ม ลักษณะของผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มประกอบด้วย
๑. ส่วนเอวซิ่น คือส่วนบนสุดของซิ่น มีความกว้างประมาณ ๑ คืบ ในส่วนนี้ยังแยกเป็นส่วนย่อยได้อีก ๒ ส่วนคือ ส่วนบนสุดบ้างเรียก หัวซิ่น ใช้ผ้าฝ้ายสีขาว ซึ่งมีความนุ่มนวลและแน่นไม่หลุดง่ายเวลานุ่ง ส่วนถัดลงมาเป็นแถบเล็กสีแดงกว้างประมาณ ๕-๖ เซนติเมตร นิยมย้อมด้วยสีเปลือกมะนมวัว สมอ หรือมะเกลือ ซึ่งสีเปลือกไม้เหล่านี้มีส่วนช่วยในการดูดกลิ่นและรักษาผิวหนังที่อ่อนบางบริเวณเอวด้วย
๒. ส่วนตัวซิ่น คือส่วนที่อยู่ตรงกลางระหว่างเอวซิ่นกับตีนซิ่น มีความกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร มีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ทั้งแบบเป็นลายริ้วขวางลำต้น มีสีต่างๆ เรียกซิ่นตา หรือซิ่นต๋า นิยมเรียกตามสีของซิ่น คือ ซิ่นตาเหลือง ซิ่นตาขาว ซิ่นตาแดงมุด หรือถ้ามีเทคนิคการปั่นไกเข้าประกอบใน ตัวซิ่น เรียกว่า ซิ่นแอ้ม (การปั่นไก คือวิธีการนำด้ายหรือเส้นฝ้าย ๒ เส้น ๒ สีมาปั่นหรือพันเกลียวเข้า ด้วยกัน)
๓. ส่วนตีนซิ่น คือส่วนที่อยู่ล่างสุดของซิ่น ทอด้วยฟืมหน้าแคบ มีความกว้างประมาณสองคืบและจกลวดลายลงบนผ้าพื้นด้วยปลายขนเม่น ปลายไม้หรือนิ้วมือ เพื่อสอดเส้นพุ่ง พิเศษที่เตรียมไว้ต่างหากด้วยสีสันต่างๆกันไป การจกจะทำด้านหลังของผืนผ้าเผื่อสะดวกในการต่อด้าย หรือยกด้ายข้ามกันไปมาได้สะดวก ลายก็จะไปปรากฏอยู่ด้านหน้าของผืนผ้า
การขึ้นทะเบียนทรัพย์เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ นางฝอยทอง สมวถา และคณะ ได้ทำงานวิจัยเรื่องผ้าตีนจก – ผ้าทอแม่แจ่ม ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีข่าวว่าจะมีคนนำผ้าตีนจกแม่แจ่มไปเข้าเครื่องทอ เพราะได้จ้างช่างทอตีนจกแม่แจ่มไปแกะลายแม่แบบ ตีนจกแม่แจ่มทุกลายพร้อมเข้าเครื่องได้ จึงจำเป็นต้องนำผ้าตีนจกแม่แจ่มที่เป็นแม่แบบ ๑๖ ลาย ขอขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษไว้ให้ลูกหลานคนแม่แจ่มอย่างยั่งยืน และนางฝอยทอง สมวถา
ได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๗ หลังจากนั้น
มีการเปลี่ยนแปลงคำร้องขอยื่นอีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายได้ยื่นในนาม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม
พ.ศ. ๒๕๔๙ และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ผลจากการที่ผ้าตีนจกแม่แจ่มได้รับขึ้นทะเบียนฯ ทำให้ตีนจกแม่แจ่มเป็นที่รู้จักกว้าวขวางมากขึ้น ช่างทอพัฒนาฝีมือตามหลักเกณฑ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ G.I. แม่แจ่ม ได้ร่วมกันกับช่างทอกำหนดขึ้นเพื่อเป็นคู่มือของช่างทอตีนจกแม่แจ่ม ราคาก็ได้เพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคกับช่างทอพบกันโดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลางนับว่าการที่ผ่าตีนจกจากแม่แจ่มมีช่องทางในการผลิตและขายผ้าตีนจกได้มากขึ้น มีรายได้ช่วยเหลือครอบครัวและเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปทำให้เกิดความภูมิใจในตัวเอง
ข้อมูลอ้างอิงจาก
- ระบบสารสนเทศศูนย์อนุรักษ์ผ้าไหม สำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม
กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ http://www.qsds.go.th/silkcotton/k_21.php
- หนังสือผ้าตีนจก โดย ฝอยทอง สมบัติ
๒. ความเป็นมาของผ้าไหมยกดอกลำพูน
ลำพูน เป็นจังหวัดที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ เดิมมีชื่อว่า นครหริภุญชัย เป็นจังหวัดที่มีกลุ่มคนชาติพันธุ์ ที่หลากหลายที่สุดในภาคเหนือ อาทิ ยวน โยนก ไทใหญ่ ยางแดง เขิน ลื้อ ลั้วะ และ มอญ คนลำพูนมีการทอผ้าใช้เองมาแต่อดีตอันยาวนาน โดยเฉาะการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชนชาวยอง (ไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงตุง ในประเทศพม่า) ในกลุ่มชนชั้นสูงที่วัตถุดิบเป็นเส้นไหมมากกว่าที่จะเป็นเส้นฝ้ายที่ใช้กันในชนชั้นล่างลงไป กาลเวลาล่วงเลยผ่านมานับร้อยปี การทอผ้าไหมและผ้าฝ้ายยังมีการประยุกต์ใช้กันอยู่แต่เป็นการทอเป็นลวดลายไม่วิจิตรนัก จวบจนกระทั่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมีพระธิดาในพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๗ พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้พระราชทานทูลขอพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชการที่ ๖ เสด็จกลับเชียงใหม่ ทรงได้นำความรู้ที่เรียนรู้มาจากราชสำนักส่วนกลางขณะประทับ ณ วังหลวงในกรุงเทพฯ มาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ลวดลาย และได้ฝึกหัดคนในคุ้มเชียงใหม่ให้ทอผ้ายกโดยเพิ่มลวดลายลงในผืนผ้าไหมให้พิเศษขึ้น คือเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเป็น ดิ้นเงิน ดิ้นทอง การเก็บลายจึงต้องใช้ตะกอเพื่อให้สามารถทอลวดลายที่สลับซับซ้อนประณีต งดงามได้ เทคนิคการทอนี้ว่า ยกดอก เพื่อนำไปถวายเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในภาคกลางและทรงใช้ส่วนพระองค์ เนื่องด้วยทรงเป็นพระญาติกับเจ้าเมืองลำพูนจึงทรงถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้ายก ที่มีลวดลายสวยงามแปลกตาและวิจิตรบรรจงให้แก่เจ้าหญิงส่วนบุญพระราชชายาของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์(เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย)และ เจ้าหญิงลำเจียก(พระธิดาเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์) ทั้งสองพระองค์จึงได้นำความรู้การทอผ้ายกมาฝึกคนในคุ้มหลวงลำพูน และชาวบ้านได้เรียนรู้การทอผ้ายกจากคนในคุ้มจนมีความชำนาญและมีการเผยแพร่ทั่วไปในชุมชนต่างๆ โดยได้มีการฝึกหัดชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงจนมีความรู้เรื่องการทอผ้าไหมยกดอกเป็นอย่างดี ทรงฟื้นฟูผ้าไหมยกดอกลำพูน โดยทรงดัดแปลงให้ผ้าไหมมีความวิจิตรสวยงามยิ่งขึ้น โดยทรงใช้เทคนิคภาคกลางมาประยุกต์และทอกันมากในตำบลเวียงยอง และบริเวณใกล้เคียงที่เป็นชุมชนของเจ้านายยองในอดีต
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ้ายกเป็นที่นิยมในราชสำนักและแวดวงสังคมชั้นสูง เนื่องจากการคมนาคมสะดวกทั้งทางรถไฟและทางรถยนต์จากรุงเทพฯ สู่เชียงใหม่และลำพูน ภาคเหนือจึงกลายเป็นแหล่งผ้าไหมที่ลือชื่อ และตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ ผ้ายกที่ทอด้วยฝีมือประณีตจากลำพูนเป็นที่ต้องการทั่วไป
ไม่เฉพาะแต่ในราชสำนัก
ในปัจจุบันการทอผ้าไหมยกดอกลำพูนเป็นมรดกทางหัตถกรรมที่ถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานและมีการขยายแหล่งทอผ้าไปยัง อ.ลี้ อ.ทุ่งหัวช้าง จึงทำให้จังหวัดลำพูนเป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกแหล่งสำคัญของประเทศไทย ผ้ายกดอกมีลักษณะเด่น คือ ในผืนผ้าจะมีลวดลายในตัว โดยผิวสัมผัส ผ้ายกดอก จะมีความนูน ของผืนผ้า แต่ละชิ้น แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลวดลาย แต่ละลาย ส่วนใหญ่ลายจะใช้ฝ้าย หรือไหมสีเดียวกัน ตลอดทั้งผืน บางครั้ง อาจมีการจกฝ้าย เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความเด่น ของลวดลายก็ได้
ลวดลายและกรรมวิธีการทอ
ผ้ายก หมายถึง ผ้าไหมที่ทอยกลวดลายให้นูนสูงขึ้นกว่าผืนผ้า โดยเลือกยกบางเส้นและข่มบางเส้น แล้วพุ่งกระสวยไปในระหว่างกลางด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทอง ซึ่งเทคนิคในการทอยกให้เกิดลวดลายนี้เรียกว่า เทคนิคการยกดอก ผ้ายกเป็นผ้าโบราณที่อดีตใช้ในคุ้มเจ้าหรือในพระราชสำนักเท่านั้น
ผ้าไหมยกดอก มีความหมายเดียวกับผ้ายก ต่างกันที่การใช้ไหมพุ่งอาจจะใช้เส้นไหมสีต่างๆ แทนเส้นดิ้นในการทอผ้า
คำว่า ยกดอก นั้นเพื่อบ่งบอกถึงเทคนิคที่ใช้ทอผ้าและบ่งบอกถึงลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำพูนที่เป็นลวดลายดอกไม้ เช่น ลายดอกพิกุล ดังนั้นจึงเรียกว่า "ผ้าไหมยกดอก" หรือ "ผ้าไหมยกดอก ลำพูน"
การประดิษฐ์ลวดลายนั้น ผ้ายกลำพูนนับว่าเป็นศิลปะการทอผ้าที่มีลวดลายงดงามมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มีรูปแบบลวดลายที่อ่อนช้อยงดงามของธรรมชาติ เป็นเรื่องราวของดอกไม้ ใบไม้ เช่น ลายดอกพิกุล ลายกลีบลำดวน ลายใบเทศ ลายเม็ดมะยม และลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำลวดลายธรรมชาติเหล่านี้ประยุกต์เข้ากับลายไทยต่างๆ ตามจินตนาการของผู้ออกแบบ สำหรับลวดลายที่เป็นลายโบราณดั้งเดิมและยังได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ ลายดอกพิกุลหรือดอกแก้ว ซึ่งเริ่มแรกในสมัยโบราณไม่มีการบันทึกลวดลายเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องจดจำลวดลายไว้ในหัวสมอง ถ้าความจำลบเลือนหรือเสียชีวิตไป ลวดลายที่จดจำไว้นั้นก็สูญหายไปด้วย ทำให้ลายผ้าโบราณหายไปมากเพราะไม่ได้ลอกลายไว้ ต่อมา เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน (สมรสกับโอรสเจ้าผู้ครองนครลำพูน) ได้รับการถ่ายทอดวิชาทอผ้าด้วยกี่พื้นบ้าน และมีความสามารถในการเรียนรู้ลายผ้ายกโบราณที่สวยงามของคุ้มลำพูน จึงได้เริ่มเก็บลวดลายไว้โดยบันทึกไว้ในกระดาษกราฟ เพื่อเป็นต้นแบบและป้องกันการสูญหาย
ลายดอกพิกุลเป็นลวดลายผ้าโบราณที่มีการออกแบบสำหรับทอผ้ายกลำพูนในอดีต ซึ่งต่อมาได้มีการออกแบบลวดลายดอกพิกุลที่หลากหลายขึ้น เช่น พิกุลเครือ พิกุลมีขอบ พิกุลก้านแย่ง พิกุลเชิงใหญ่ พิกุลถมเกสร พิกุลเล็ก พิกุลใหญ่ พิกุลสมเด็จ และพิกุลกลม เป็นต้น ซึ่งแต่ละลวดลายจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันคือ ขนาดของดอกพิกุล และสีสันของเส้นไหมหรือดิ้นเงิน ดิ้นทองที่กำหนดลงไปให้แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มลวดลายอื่นๆ ลงไปประกอบกับดอกพิกุลเช่น การเพิ่มกลีบ ก้าน ใบ เกสร และการเพิ่มเหลี่ยมของดอกพิกุล เป็นต้น เนื่องด้วยลายดอกพิกุลเป็นลวดลายโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้ายกลำพูน และเป็นที่รู้จักของคนส่วนมาก ดังนั้นผู้ออกแบบจึงนิยมนำลายดอกพิกุลมาผสมผสานกับลวดลายประยุกต์อื่นๆ เพื่อคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของผ้ายกลำพูนให้ดำรงอยู่สืบไป
การทอผ้าไหมยกดอก
การทำผ้าไหมยกดอกเป็นงานหัตถกรรมที่ต้องอาศัยฝีมือความชำนาญและความเพียรพยายามตั้งแต่การทำเส้นไหมจนถึงการทอสำเร็จเป็นผืนผ้า ซึ่งอาจแบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
๑.การทำเส้นไหม
เส้นไหมได้มาจากการนำรังของตัวไหมมาปั่นเป็นเส้นใย เส้นไหมนี้มีคุณสมบัติพิเศษที่เด่นหว่าเส้นฝ้ายคือ มีความเหนียวทนทานและมีประกายเงางาม เส้นไหมที่ได้จากการปั่นเมื่อจะนำมาทอเป็นผ้าไหมยกดอกจะจัดแบ่งเส้นไหมออกเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทที่ ๑ ไหมเส้นยืน จะใช้เส้นไหมควบ ๔ คือเส้นไหมดิบที่ปั่นด้วยใยไหม ๔ เส้นจึงเรียกว่าไหมควบ ๔ โดยทั่วไปแล้วนิยมใช้ไหมควบ 4 เป็นไหมเส้นยืนแต่ก็สามารถให้เป็นไหมเส้นพุ่งทำลายยกดอกได้ ประเภทที่ ๒ ไหมเส้นพุ่ง โดยทั่วไปจะใช้เส้นไหมควบ ๖ คือเส้นไหมดิบที่ปั่นด้วยใยไหม ๖ เส้น สำหรับใช้เป็นไหมพุ่งและทำลายยกดอก ไหมควบ ๖ นี้ไม่นิยมใช้เป็นไหมเส้นยืน
๒.การฟอกไหม
เส้นไหมที่ได้จากการปั่นจะมียางเหนียวคล้ายกาว หรือเซริซิน (Sericin) ติดอยู่กาวนี้ถุกขับอกมาจากตัวไหมโดยธรรมชาติพร้อมๆกับเส้นใยไหมหากปล่อยทิ้งไว้กาวหรือ เซริซินจะทำให้เส้นใยไหมแข็งหยาบกระด้าง ขาดความเงางาม ดังนั้น จึงต้องมีการนำเส้นไหมที่ปั่นแล้วไปฟอกก่อนที่จะนำมาทอเป็นผ้าไหม การฟอกไหม นอกจากจะเป็นกรรมวิธีที่จะทำให้กาวที่ติดเส้นไหมหายไปแล้วยังช่วยให้เส้นไหมมีสีคงทนเมื่อนำไปย้อมสี และสีที่ย้อมจะติดทนทาน แต่ถ้าไม่ฟอกเส้นไหมเมื่อย้อมสีจะไม่ติดหรือติดแต่เพียงเคลือบไว้เท่านั้น เมื่อนำผ้าไปซักจะทำให้สีตกและซีดไปในที่สุด นอกจากนั้น การฟอกไหมยังช่วยให้เส้นไหมนิ่มเป็นประกายเงางามยิ่งขึ้นอีกด้วย หลังจากฟอกไหมเสร็จแล้ว ไหมเส้นยืนจะต้องนำไปใส่ในน้ำแป้งผสมน้ำมันพืช โดยให้มีส่วนผสมของแป้งเพียงเล็กน้อย และแป้งที่นิยมใช้คือแป้งหมี่ ถ้าใช้แป้งชนิดอื่นเส้นไหมจะหัก ส่วนน้ำมันพืชใช้อัตราส่วน ประมาณ ๒ - ๓ หยดต่อเส้นไหม ๑ กิโลกรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร กรรมวิธีนี้จะช่วยให้เส้นไหมลื่นและไม่ติดกัน แล้วจึงนำเส้นไหมขึ้นมาบิดน้ำออก กระตุกให้เหยียดแล้วนำไปตากแห้ง สำหรับเส้นไหมพุ่งไม่นิยมลงแป้ง เพียงแต่บิดเอาน้ำออก กระตุกให้เหยียดแล้วนำไปตากแห้ง
๓.การย้อมไหม
การย้อมไหม เป็นกรรมวิธีที่ทำต่อจากการฟอกไหม โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้เส้นไหมที่ฟอกแล้วมีสีสันตามต้องการสามารถนำไปทอเป็นผ้าไหมได้หลากสีและสีสันงดงามเป็นที่ต้องการของตลาด
๔.การกรอไหม
การกรอเส้นไหม เป็นการนำเส้นไหมที่ย้อมแห้งดีแล้วมาปั่นเก็บไว้ อุปกรณ์ประกอบด้วย เครื่องกรอไหม ในกรอขนาดต่างๆหรือจักกวัดไหมและระวิง สิ่งที่ใช้เก็บเส้นไหมที่กรอแล้ว มักจะใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น กระป๋องหรือหลอดพลาสติก เป็นต้น การกรอเส้นไหมมีวัตถุประสงค์ที่จะแยกเส้นไหมให้ออกเป็นเส้นๆ ไม่ให้ติดหรือพันกัน และเป็นการสำรวจเส้นไหมให้มีความเรียบร้อย ไม่ขาด ซึ่งจะช่วยให้สะดวกในการสาวไหม อันเป็นกรรมวิธีในขั้นตอนต่อไป
๕.การสาวไหม
การสาวไหม ในภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “การโว้นไหม” หรือ “โว้นหูก” คือการนำเส้นไหมยืนที่กรอแล้วไปสางในรางสาวไหมหรือม้าเดินได้ทีละเส้น โดยให้มีจำนวนเส้นไหมครบตามจำนวนช่องฟันหวีที่ต้องการจะใช้ อุปกรณ์ที่ใช้ในการสาวไหมประกอบด้วย ม้าเดินได้ ไม้ไขว้หลัง และหลักตั้งตลอดในการสาวไหมลงช่องของฟันหวี กำหนดให้ ๑ ช่องฟันหวีจะต้องใช้เส้นไหมยืน ๒ เส้น ดังนั้นถ้าหากใช้ฟันหวีซึ่งมีช่อง ๒๐๐๐ ช่อง จะต้องนับไหมเส้นยืนให้ครบ ๔๐๐๐ เส้น เป็นต้น สำหรับไม้ไขว้หลังเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการสาวไหม โดยจะมีไว้ที่รางสาวไหมรางที่ ๑ เพื่อให้เส้นไหมเรียงลำดับกันไปตลอด เป็นการป้องกันเส้นไหมพันกัน
๖.การเข้าฟันหวีหรือฟืม
ฟันหวี หรือ ฟืม เป็นเครื่องมือใช้สำหรับลางเส้นไหมให้เป็นระเบียบ และมีประโยชน์ในการทอโดยใช้กระทบไหมเส้นพุ่งให้ขยับเข้าขัดกับไหมเส้นยืนหรือสานให้เป็นผืนผ้า ออกมาอย่างสวยงาม อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วย แท่นอัดก๊อปปี้ ม้าหมุน ไม้เขี่ยเส้นไหม ไม้ขนัดสำหรับแยกไขว้ และฟันหวี
ฟันหวีแต่เดิมทำด้วยไม้เป็นซี่ๆ โดยมีขอบ ยึดไว้ทั้งข้างบนและข้างล่าง หัวและท้าย เพื่อยึดฟันหวีให้สม่ำเสมอและคงทน แต่การทำฟันหวีด้วยไม้นั้น ช่วงห่างของฟันหวีไม่สม่ำเสมอและโยกได้จึงทำให้ผ้าไหมทอออกมาไม่สม่ำเสมอ ขาดความสวยงามและคุณภาพ ต่อมาได้มีการทำฟันหวีด้วยทองเหลืองจึงทำให้คุณภาพของผ้าที่ทอดีขึ้น แต่ก็ประสบปัญหาคือ เกิดสนิมทองเหลืองติดตามเนื้อผ้าที่ทอออกมาอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะผ้าไหมสีอ่อนๆเช่น สีขาว สีครีม เป็นต้น การใช้ฟันหวีด้วยทองเหลืองจึงเลิกไป ปัจจุบันฟันหวีทำด้วยสแตนเลส ซึ่งมีความงดงามสม่ำเสมอและไม่โยก ไม่มีสนิมทำให้ได้ผ้าทอที่มีความสวยงาม
การเข้าฟันหวี หือ การนำไหม เส้นไหมที่สาวแล้วไปเข้าฟันหวี โดยก่อนเข้าฟันหวีนำไหมไปเข้าเครื่องหนีบ (Copy) เพื่อยึดเส้นไหมด้านหนึ่งเอาไว้ แล้วใส่เส้นไหมลงไปในช่องฟันหวีช่องละ ๒ เส้น ดังนั้นในการเข้าฟันหวีจึงต้องใช้คน ๒ คน ช่วยกันทำ โดยคนหนึ่งเป็นคนส่งเส้นไหมเข้าช่องอีกคนหนึ่งช่วยดึงฟันหวีให้ห่างและใช้ตะขอเกี่ยวเส้นไหมเข้าช่องฟันหวี ฟันหวีจะช่วยสางเส้นไหมให้เป็นระเบียบและสม่ำเสมอ
๗.การเข้าหัวม้วน
การเข้าหัวม้วน คือ การนำเส้นไหมยืนที่สางด้วยฟันหวีเป็นระเบียบดีแล้วไปเข้าหัวม้วน เมื่อม้วนเส้นไหมได้ทุกๆ ๕ เมตร จะใช้ทางมะพร้าวสอดกันไว้ ๒ – ๓ ก้าน ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะหมดการใส่ทางมะพร้าวไปด้วยนี้มีประโยชน์หลายประการ คือ ป้องกันเส้นใยไหมบาดกันเอง เมื่อไหมขาดจะหารอยต่อได้ง่าย ขณะทอจะทำให้ทราบว่า ทอไปเป็นความยาวเท่าไรแล้ว โดยการนับทางมะพร้าว
๘.การทอ
การทอเป็นขั้นตอนสุดท้ายของผ้าไหมยกดอก ช่างแรงงานทอส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงและเด็ก ช่างที่มีความคุ้นเคยกับลายก็สามารถทอได้อย่างรวดเร็ว การทอนั้นผู้ที่คัดลายจะเป็นผู้กำหนดให้ผู้ทอว่าให้ทออย่างไร ลักษณะใด ทั้งนี้เพราะผู้ทอไม่สามารถทราบได้ว่าผ้าไหมยกดอกที่ตนเองเป็นผู้ทอนั้นมีลวดลายออกมาเป็นอย่างไร ยกเว้นผู้ทอเป็นผู้คัดลายและดั้นดอกเองเท่านั้น การทอผ้าไหมยกดอกนิยมทอด้วยกี่พื้นเมือง ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านอย่างหนึ่ง การทอด้วยกี่พื้นเมืองนี้ถ้าดึงเส้นไหมให้พอดี ไม่ตึงเกินไปเนื้อผ้าที่ทอออกมาจะมีความหนาแน่น สม่ำเสมอ มีความสวยงาม ทนทาน และมีคุณค่าทางศิลปะมากกว่าการทอด้วยเครื่องจักร ซึ่งจะดึงเส้นไหมให้ตึงเกินไป ทำให้เนื้อผ้ามีความหนาแน่นสม่ำเสมอ ราบเรียบและขาดคุณค่าทางศิลปะไป ถ้าใช้เส้นไหมควบสี่ ๑ กิโลกรัมจะทอผ้าไหมได้กว้าง ๔๐ นิ้ว ยาวประมาณ ๒๕ เมตร และถ้าใช้ไหมควบสาม ๑ กิโลกรัม จะทอผ้าไหมได้ยาวประมาณ ๓๖ เมตร
สถานการณ์ผ้าไหมยกดอกลำพูนปัจจุบัน
ปัจจุบันผ้าที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากและมีคุณภาพดีมีความสวยงามและที่สำคัญที่สุดคือมีราคาถูก หาซื้อได้ง่ายมี่จำหน่ายอยู่ทั่วไป จึงทำให้มีผลกระทบต่อศิลปะหัตถกรรมการทอผ้าในทุกแห่ง เพราะผ้าที่ทอมือจะมีราคาสูงกว่า บางทีคุณภาพก็สู้ผ้าที่ผลิตจากโรงงานไม่ได้ คุณภาพใยผ้าสู้ผ้าที่ผลิตจากโรงงานไม่ได้บางครั้งผ้าที่ทอมือจะไม่มีความคงทนสีสันก็ไม่คงที่ เป็นปัญหาที่น่าเบื่อ ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีผู้นิยมผ้าทอมือไม่มากนัก
ผ้าไหมยกดอกของลำพูนก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน นอกจากจะมีคุณสมบัติที่ด้อยเหมือนๆ กับผ้าทอมือชนิดอื่นแล้วผ้าไหมยกดอกยังประสบปัญหาการเก็บรักษาค่อนข้างยาก ผ้ามีราคาแพงและที่สำคัญคือโอกาสในการสวมใส่ค่อนข้างจะหายาก ทำให้ผ้าไหมยกดอกไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปแม้แต่คนในจังหวัดลำพูนเอง ทั้งนี้เพราะแหล่งจำหน่ายของผ้าไหมยกดอกมักจะอยู่ในวงสังคมชั้นสูงหรือราชสำนัก เพราะหาโอกาสสวมใส่ได้ง่ายกว่า อาจสวมในงานรัฐพิธีได้มากกว่าและราคาค่อนข้างแพง ทั้งนี้เพราะวัสดุที่ใช้ในการทอราคาสูงมาก เช่น ไหมดิบ ค่าแรง ดิ้น จึงทำให้ผ้าไหมยกดอกลดความนิยมลงประกอบกับผู้ที่ประกอบอาชีพด้านการทอผ้าได้ล้มหายตายจากไป โดยที่ลูกหลานไม่เห็นความสำคัญสืบทอดเอาไว้ ดังนั้นในปัจจุบันนี้บริเวณรอบๆเขตเมืองลำพูนที่เคยเป็นที่ทอผ้าก็เปลี่ยนสภาพไป
(ข้อมูลอ้างอิงจาก ระบบสารสนเทศศูนย์อนุรักษ์ผ้าไหม สำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม
กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ http://www.qsds.go.th/silkcotton/k_20.php)
ภาพบรรยากาศ งานตามรอยผ้าไทยฯ วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ภาพบรรยากาศ งานตามรอยผ้าไทยฯ วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน