สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ฉลองครบรอบ ๖๒ ปี แห่งความภาคภูมิใจในการพัฒนาศักยภาพสตรี
เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่หอประชุมมนังคศิลา ถนนหลานหลวง ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วยที่ปรึกษาประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ อดีตประธานสภา
สมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ คณะกรรมการอำนวยการคณะกรรมการสมาชิกสมทบ และ องค์กรสมาชิก จัดพิธีสงฆ์เนื่องในวันคล้ายวันก่อตั้ง สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯครบรอบ ๖๒ ปี โดยมีพระพรหมมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นประธานสงฆ์
ดร.วันดี กล่าวว่า “เนื่องในโอกาสครบรอบการก่อตั้งสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ครบรอบ ๖๒ ปี สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ได้สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามมายาวนาน ๖๒ ปี อย่างมั่นคงนั้น เป็นผลมาจากการทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจของคณะกรรมการแต่ละท่าน แต่ละสมัย ตั้งแต่อดีตประธานสภาสมาคมสตรีฯ คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการสมาชิกสมทบ เป็นต้น ซึ่งท่านเหล่านี้ได้ดำเนินงานมาอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ของสภาสตรีแห่งชาติฯ ทุกประการ ทำให้สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ เป็นองค์กรสำคัญที่มีบทบาทบาทในการส่งเสริมศักยภาพของสตรี เป็นที่ยอมรับในด้านการยกระดับสตรี เด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ตลอดจนด้านการส่งเสริมกระบวนการพัฒนาสถานภาพสตรีฯ ให้สมบูรณ์ และมีความสมดุล ด้วยการสร้างกระแส และผลักดันให้สตรีมีบทบาทและมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เป็นที่รับรู้และตระหนักโดยทั่วไป ตลอดจนทำให้สตรีมีความเจริญก้าวหน้าเป็นที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง”
สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๙๙ โดยท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้สตรีไทยทำงานให้เป็นแบบอย่างและออกมาช่วยงานสังคม โดยก่อตั้งกลุ่มทหารหญิงและสโมสร วัฒนธรรมหญิง ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศและสำนักวัฒนธรรมหญิงได้ตระหนักถึงความสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิทางการเมืองสตรี จึงได้จัดการเฉลิมฉลองสิทธิทางการเมืองของสตรีขึ้น
ต่อมา ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม มีโอกาสพบกับ มิสซีสโรส พาร์สัน ซึ่งเป็นกรรมการสภาสตรีสหรัฐอเมริกา โดยการแนะนำของหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร (ชายาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรม บุรฉัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ) เมื่อทราบเรื่องราวและรูปแบบของสภาสตรีต่างประเทศ (The International Council of Women - ICW ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๘) จึงจัดมีการประชุมองค์กรสตรีพิจารณาร่างวัตถุประสงค์ และข้อบังคับสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ โดยอิงรูปแบบของสภาสตรี ต่างประเทศและมอบหมายให้ผู้แทนของ ๕ สมาคมเข้าร่วมประชุม ได้แก่ สโมสรวัฒนธรรมหญิง เบญจมราชาลัยสมาคม สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงศรีสะเกษ และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ในที่สุด สภาสมาคมสตรีแห่งชาติได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙ มาถึงวันนี้เป็นระยะเวลาถึง ๖๒ ปีเต็ม สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ จึงพร้อมใจจัดพิธีทำบุญทางศาสนาเพื่อน้อมรำลึกถึงผู้ก่อตั้งสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ที่สืบสานส่งเสริมและรักษาไว้ ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าดีงามไว้สืบไป