สภาสตรีฯนำคณะสื่อมวลชน “ตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน” จังหวัดชัยนาท
๐๒ ตุลาคม ๒๕๕๘

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2558 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ 25 (พ.ศ. 2558 – 2561) คุณจรรยา เฮงตระกูล ที่ปรึกษาประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ, คุณจิตรี จิวะสันติการ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ, คุณเบญจมาศ รุจิรวงศ์ ประธานคณะกรรมการสมาชิกสมทบสภาสตรีแห่งชาติฯ, คุณพรรณี งามขำ เลขาธิการสภาสตรีแห่งชาติฯ,
คุณทิพวรรณ กิตติสถาพร รองเลขาธิการสภาสตรีแห่งชาติฯ และ คุณศิริรัตน์ ธำรงธีระกุล กรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติฯ ได้นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง “ตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน” ณ จังหวัดชัยนาท โดยมีกิจกรรม ดังนี้

ภาคเช้า:

  • เยี่ยมชมวัฒนธรรมการทอผ้า อ.เนินขาม
  • พิธีบายศรีสู่ขวัญ, การย้อมผ้า, ทอผ้า และวัฒนธรรมของชาวลาวเวียง

 

ความเป็นมาของ อ.เนินขาม

ลาวเนินขามเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ลาวเวียง” ที่เรียกกันเช่นนี้เพราะเป็นกลุ่มของคนโบราณที่มีเชื้อสายจากหลวงพระบาง เมื่อครั้งรัชการที่ 3 ในสมัยกรุงธนบุรีอพยพมาจากเวียงจันทร์ ประเทศลาว มีปู่ทวดเป็นสมุห์ซื่อ ซ่ง มีย่าทวดชื่อ ปี ได้เดินทางโดยอาศัยช้างเป็นพาหนะและขนสัมภาระมีห่อมีผ้ามีด้ายและครามมาด้วย จนมาพบสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงตั้งรกรากที่อยู่อาศัยที่บ้านหนองบัวปลายน้ำ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ช่วงที่มีเวลาจะทอผ้าโดยใช้ด้ายที่นำมาด้วยย้อมครามและนำมาตัดเย็บเสื้อผ้าใส่ ต่อมาได้ย้ายที่อยู่มาอาศัยที่บ้านใช้มะขาม อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี อยู่ได้ระยะหนึ่งจึงย้ายถิ่นมาอยู่ที่บ้านหนองแห้ง ต.เนินขาม อ.หับคา จ.ชัยนาท

ตำบลเนินขาม เป็นชุมชนเก่าแก่ มีอายุยาวนานหลายร้อยปี สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน สาเหตุที่เรียกว่า เนินขาม เนื่องจากบรรพบุรุษที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งบนเนินสูง น้ำท่วมไม่ถึง บริเวณรอบเนินขาม มีต้นมะขามขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก บรรพบุรุษจึงเรียกเนินนี้ว่า “เนินมะขาม” ต่อมาจึงกลายเป็นชื่อ “เนินขาม” จนถึงปัจจุบัน และเมื่อชุมชนมีการขยายตัวขึ้น จึงมีการอพยพของประชากรไปอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงและขยายออกไปเรื่อย ๆ จนเป็นชุมชนขนาดใหญ่ได้แบ่งการปกครองเป็น 9 หมู่บ้าน ในปัจจุบันประชากรของเนินขาม ยังมีการสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้ เช่น ประเพณีสงกรานต์ การบายศรีสู่ขวัญ ประเพณีการแต่งงานแบบลาวเวียง ประเพณีการก่อกองทราย ประเพณีธงขึ้น ประเพณีแห่เสื่อ ประเพณีสารทลาว มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นและสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน คือ วัฒนธรรมการทอผ้าและวัฒนธรรมการแต่งกาย ภาษาที่ใช้สื่อสารกันในท้องถิ่น อันเป็นภาษา “ลาว” หรือเรียกว่า “ภาษาไทยอีสาน” ประเพณีทั่วไปคล้ายคลึงกับคนไทยในภาคกลาง จะมีแตกต่างกันคือ สารทลาว ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี และชาวลาวจะกวนกระยาสารทนำไปเยี่ยมญาติ นอกจากนี้ในวันที 30-31 ธันวาคม ของทุกปี ชาวลาวเวียง ต.เนินขาม จะจัดกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมลาวเวียงมีการแสดง แสง สี เสียง ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมลาวเนินขามและการเดินแบบผ้าทอพื้นเมือง ซึ่งเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงอยู่ในขณะนี้

ชาวเนินขามนับถือศาสนาพุทธ มีอาจารย์ท้าวเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเนินขาม ได้พาชาวบ้านมาช่วยกันสร้างวัด ชื่อวัดหนองแห้ว ที่บ้านหนองแห้ว ม.ที่ 3 ในปัจจุบัน แต่วัดที่สร้างขึ้นมาอยู่ในสภาพพื้นที่เป็นที่กลุ่ม เมื่อฤดูฝนจะมีน้ำท่วมเป็นประจำและครั้งสุดท้ายเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้วัด ทำให้เจ้าอาวาส คือ อาจารย์ท้าวต้องพาชาวบ้านมาสร้างวัดขึ้นใหม่ที่บริเวณหมู่ที่ 1 เนินขาม ซึ่งบริเวณพื้นที่เป็นที่เนินสูงและมีต้นมะขามขนาดใหญ่ประมาณ 7 คนโอบ จึงตั้งชื่อว่า วัดเนินขาม มาจนถึงปัจจุบันนี้

 

ภาคบ่าย

- ชมวัฒนธรรม เยือนวิถีชุมชนวัฒนธรรม ลาวครั่งกุดจอก

..พิธีบายศรีสู่ขวัญ, พิพิธภัณฑ์, ศูนย์การเรียนรู้, การทอผ้า และศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์

 

ความเป็นมาหมู่บ้านวัฒนธรรมลาวครั่งบ้านกุดจอก

ในปลายสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นพบว่าคนไทยเชื้อสายลาวเผ่าต่าง ๆ ได้อพยพเข้ามาสู่ประเทศสยามด้วยสาเหตุต่าง ๆ ต่างยุคต่างสมัย บ้างก็อพยพหนีภัยสงครามทั้งภายในและภายนอกอาณาจักร หนีภัยธรรมชาติ โรคภัย ความอดอยากแร้นแค้น ที่อพยพมากที่สุดคือคราวอาณาจักรล้านช้างล่ม เป็นเหตุให้ชาวลาวหลายชนเผ่าต้องถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่บริเวณภาคกลางของไทย คนกลุ่มน้อยเหล่านั้นก็แยกกันอยู่ตามกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของตน หนึ่งในนั้นก็คือ ลาวครั่งเป็นคนลาวมาจากเมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. 2427 ผู้นำกลุ่มลาวครั่ง ได้ย้ายถิ่นฐานจากบ้านเขากระจิว จ.กาญจนบุรี (ปัจจุบันคือ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี) มายังบริเวณบ้านกุดจอก ซึ่งแต่เดิมเป็นป่า ได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณริมบึงที่มีดอกจอกขึ้นอยู่เต็มบึง ตามภาษาของชนกลุ่มนี้เรียก “บึง” ว่า “กุด” จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านกุดจอก”โดยมีวัดเก่าแก่คู่บ้านกุดจอก เป็นศูนย์กลางของชาวบ้านก็คือ “วัดศรีสโมสร” ใน อดีตชาวบ้านได้ค้นพบเจอโบสถ์เก่าที่พังแล้ว บริเวณบึงกุดจอก เหลือเพียงฝาผนังและพระพุทธรูปทำด้วยศิลาแลง คาดว่าเป็นพระประธาน จากนั้นจึงเรียกขานตามๆ กันมาว่า “หลวงพ่อเดิม” ต่อมาจึงได้บูรณปฏิสังขรณ์บริเวณวัด ส่วนองค์หลวงพ่อเดิม ซึ่งเศียรของท่านไม่สมบูรณ์อยู่แล้วตั้งแต่แรกพบ ไม่มีการบูรณะเพิ่มเติมเนื่องจากไม่มีที่มาในด้านศิลปะที่ชัดเจน ในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ทางวัดจะจัดงานปิดทองหลวงพ่อเดิม

หมู่บ้านกุดจอกแห่งนี้ ปัจจุบันมีชาวไทยเชื้อสายลาวครั่งอาศัยอยู่ประมาณ 200 หลังคาเรือน อาชีพหลักคือเกษตรกรรม ทำนา มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีชนชาติลาวครั่งดั้งเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น มีภูมิปัญญาที่โดดเด่นคือ การทอผ้าซิ่นตีนจก ที่มีลวดลายเฉพาะไม่เหมือนใคร การทอผ้าของที่นี่ใช้สีแดงที่ย้อมจากครั่งซึ่งเป็นสีแดงตามธรรมชาติที่โดดเด่นของเครื่องแต่งกายอันเป็นที่มาของชื่อว่าลาวครั่ง โดยช่างทอผ้ามือวางอันดับ 1ของชุมชนท่านมีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมของจังหวัดชัยนาท สาขา ภูมิปัญญาชาวบ้าน คือ คุณยายซ้อง จบศรี วัย 81 ปี ที่ฝีมือในการทอผ้านั้น ยากที่จะหาใครเทียบเท่าและท่านเป็นครูต้นแบบที่ถ่ายทอดความรู้ด้านการทอผ้าของชุมชนแห่งนี้

 

เอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่งบ้านกุดจอก มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น อาทิเช่น ประเพณีบายศรีสูขวัญต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน ภาษาพูด ดนตรีพื้นเมือง อาหารท้องถิ่น ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำขนมจีนโบราณ ภูมปัญญาพื้นบ้านในด้านการักษาด้วยสมุนไพร การนวดแผนโบราณ วิถีชีวิตการทำนาปลูกข้าวตามฤดูกาล การผลิตข้าวซ้อมมือ การแต่งกายด้วยผ้าทอพื้นบ้าน การทอผ้าลวดลายที่มีเอกลักษณ์คือ ผ้าขิด ผ้าจกและผ้ามัดหมี่ ทอทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม ผ้าทอที่ใช้ในพิธีทางศาสนา ผ้าคลุมหัวนาค ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้าทอใช้ในชีวิตประจำวัน ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า หมอนน้อย หมอนเท้า ถุงขนมเส้น และมีการจัดงานประเพณีท้องถิ่นที่ได้ยึดถือกันมายาวนาน โดยเฉพาะงานประเพณีสงกรานต์ "ต้อนฮับสังขาร บุญสงกรานต์ปีใหม่ไท" ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัดชัยนาท มีศูนย์สาธิตวีถีชีวิตชุมชนได้แก่ การทอผ้า การสีข้าวและการตำข้าวแบบโบราณ การทำข้าวกล้อง การจักสานไม้ไผ่ และศูนย์แพทย์แผนไทย เป็นต้น ชุมชนลาวครั่งบ้านกุดจอก ก็เหมือนกับชนเผ่าทั้งหลายในเอเชียอาคเนย์ที่เชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติทั่วไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างยิ่ง เป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจ และความมั่นใจ ในการทำมาหากินและการดำเนินชีวิตของตน ซึ่งชาวบ้านกุดจอกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร อาทิ ทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ พิธีกรรมต่าง ๆ ที่สืบทอดต่อกันมาจนเป็นประเพณีล้วนสะท้อนถึงความต้องการในวิถีชีวิตเรื่องน้ำและความอุดมสมบูรณ์ อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมเกษตร เช่น การเปิดยุ้งข้าว การเรียกขวัญข้าว นอกจากนั้นในแต่ละช่วงเดือนชาวบ้านยังร่วมทำบุญที่วัดตามความเชื่อในพุทธศาสนาเพื่อสะท้อนความต้องการความคุ้มครองจากเทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความศรัทธา ที่มีต่อพุทธศาสนา เพื่อความสงบสุขในชีวิตของตนเองและครอบครัว เช่น พิธีทำบุญกลางบ้าน วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา ออกพรรษา เป็นต้น