๓๒๓. สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ได้รับเชิญ เข้าร่วมประชุมเวทีสำคัญ ว่าด้วยความร่วมมือสตรีจีน -อาเซียน และงานเสวนาในหัวข้อ “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาผู้หญิง” ณ เมืองหลิ่วโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
๒๑ กันยายน ๒๕๖๖

วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐-๑๗.๐๐ น. ที่โรงแรมโลตัสวิลล่า เมืองหลิ่วโจว นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มอบหมายให้ นางศิริรัตน์ ธำรงธีระกุล ประธานกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการฝ่ายต่างประเทศ ประกอบด้วยนางมิ่งขวัญ สว่าง นางสาวภัทรภร พัฒนวาณิชกิจกุล และนางสาวสาวิกา ลิมปะสุวัณณะ เข้าร่วมประชุมเวทีความร่วมมือสตรีจีน-อาเซียน (China-ASEAN Woman’s Forum 2023) และในโอกาสนี้ นางศิริรัตน์ ธำรงธีระกุล ประธานกรรมการฝ่ายต่างประเทศ เป็นผู้แทนจากสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์  ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขึ้นบนเวทีเสวนาในหัวข้อ “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาผู้หญิง”  จำนวน ๒ ภาค ดังนี้

เสวนาภาคแรก นางศิริรัตน์ กล่าวในเรื่องโอกาสและความท้าทายสําหรับผู้หญิงในเศรษฐกิจดิจิทัลว่า ยุคดิจิทัลนั้นนํามาซึ่งความยืดหยุ่นในเรื่องการจัดสรรเวลาทํางาน และมีอิสระในอาชีพการงานมากขึ้น เทคโนโลยีใหม่ได้เพิ่มศักยภาพของการค้าออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ เกิดอาชีพและการลงทุนใหม่ ๆ  ความท้าทายที่รัฐอาจพบคือผู้หญิงสูงอายุที่ขาดทักษะและเทคโนโลยีดิจิทัลอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ความเสี่ยงของเทคโนโลยีที่อาจเข้ามาแทนที่คนงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงซึ่งมีแนวโน้มที่จะถูกแทนที่มากกว่าผู้ชายถึง ๑.๕  เท่า  รัฐและองค์กรอิสระควรอํานวยความสะดวกให้ผู้หญิงเข้าถึงการจ้างงานและการเป็นผู้ประกอบการในเศรษฐกิจดิจิทัลให้มากขึ้น กําจัดเพดานกระจกที่อาจจํากัดความสามารถในการเติบโตของผู้หญิง ทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีควรมีการพัฒนาให้ทันยุค และจัดให้มีการอบรมเพิ่มพูนความรู้ทักษะ (reskill และ upskill ) สิ่งสําคัญเพื่ออนาคตของทุกประเทศคือหน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้ผู้หญิงและเด็กหญิงเข้าใจถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัล และ หันมาสนใจเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น จัดหลักสูตรการเรียนรู้ทางออนไลน์ และส่งเสริมให้เด็กหญิงเรียน STEM คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ 

ภาคที่สอง นางศิริรัตน์ ได้ร่วมสรุปการเสวนาเพื่อนำไปสู่การจัดการแผนงานที่แต่ละประเทศจะสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับสถานะของแต่ละประเทศ โดยมีเนื้อหาดังนี้

๑.) สร้างนโยบายเพื่อความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วนในประเทศของตนเอง

๒.) ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ และการพัฒนาความสามารถของผู้หญิง ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

๓.) สนับสนุนนวัตกรรมและผู้ประกอบการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

๔.) กระตุ้นการตระหนักรู้ในเรื่องความเสมอภาคในการสร้างนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

๕.) ส่งเสริมผู้หญิงในเวทีความร่วมมือระดับโลกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การร่วมประชุม เสวนาว่าด้วยความร่วมมือสตรีจีน -อาเซียน ในหัวข้อ “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาผู้หญิง” ณ. เมืองหลิ่วโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในครั้งนี้ เป็นการขยายความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับ นโยบายของสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ  สมัยที่ ๒๗ ในการขับเคลื่อนองค์กรสตรี สู่การพัฒนาเทคโนโลยี ด้วยนวัตกรรม  อันจะเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือระหว่างสตรีจีน -อาเซียน ในการประชุมหารือแลกเปลี่ยนความรู้ที่จะเกิดขึ้นในเวทีต่าง ๆ  มากขึ้น

 

 

 

ภาพ/ข่าว : ฝ่ายต่างประเทศ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ

 

 เรียบเรียงข่าว  : ดร.อรุณศรี จงเจียมจิตต์ 

                         ฝ่ายประช่าสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหาร สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ

ดาวน์โหลด