สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำคณะสื่อมวลชน “ตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน” เยือนจังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๙ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๖๑) คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย รองประธาน ดร.ปราศรัย ประวัติรุ่งเรือง ประธานคณะกรรมการบริหาร คุณจิตรี จิวสันติการ รองเลขาธิการ คุณวราพร พิพิธสุขสันต์ กรรมการอำนวยการ คุณศรีวรรณ สายฟ้า คุณอัจฉราวรรณ ลิ้มเล็งเลิศ คุณอนงค์ศรี สิทธิอาษา คุณปภารัฐ ชูกลิ่น และคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง เข้าร่วมโครงการ “ตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน” เยือนจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางด้านอาชีพ รายได้ คุณภาพชีวิต เพื่อให้สตรีไทยได้มีบทบาทเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมแก่ประเทศชาติ โดยมุ่งเน้นการสร้างความรัก ความสามัคคี เอื้ออาทร ให้ความช่วยเหลือแบ่งปันในสตรีทุกกลุ่มอาชีพ ส่งเสริมการอนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณีไทยอันดีงาม จึงเรียนเชิญสื่อมวลชน ร่วมเดินทางพร้อมคณะ
ชมกระบวนการผลิต การทอผ้า ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยเอกลักษณ์ของภาคใต้ โดยได้รับเกียรติจาก รองผู้ว่าราชการจังหวัด
สุราษฎร์ธานี คุณอวยชัย อินทร์นาค คุณวิชวุทย์ จินโต รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุราษฎร์ธานี คุณสินีนาฏ อินทร์นาค คุณเนาวรัตน์ ศักดา กรรมการผู้จัดการ คุณสุวณีย์ ทิพย์หมัด รองกรรมการบริหาร คุณเบญจดล กาญจนหิรัญ และ ผู้จัดการ คุณสุรสิทธิ์ สะเพร่า บริษัท วิยะแครปโปรดักส์ จำกัด ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น สำหรับกิจกรรม“ตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน” เยือนจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีดังนี้
ภาคเช้า
นำชมกลุ่มทอผ้าพุมเรียง บ้านหัวเลน หมู่ที่ ๒ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเยี่ยมชมการผลิตเส้นไหมและการทอผ้า กระบวนการผลิตเริ่มต้นตั้งแต่การย้อมไหม การสาวเส้นไหมที่ย้อมแล้ว การนำเส้นไหมเข้าหลอดไหม และการทอผ้าไหม โดยมีคุณหวันม๊ะ นุ้ยหมีม ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายผ้าทอพุมเรียง ร้านวรรม๊ะไหมไทยให้การต้อนรับ ซึ่งผ้าทอพุมเรียงเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ของตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา โดยชาวไทยมุสลิมซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวมลายูในหมู่เกาะอินโดนีเซียเป็นผู้นำความรู้กระบวนการทอผ้าถ่ายทอดสืบต่อกันมา ผ้าพุมเรียง เป็นผ้ายกที่มีลวดลายสวยงามและมีเอกลักษณ์ต่างไปจากผ้ายกของภาคอื่นๆ มีการทอยกดอกด้วยไหม หรือ ดิ้นเงิน ดิ้นทอง โดยถือว่าการทอผ้าเป็นหน้าที่ของผู้หญิงทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมที่จะต้องเตรียมไว้ใช้สอยในครอบครัว ซึ่งผ้าพุมเรียงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปถึงความสวยงามของลายผ้าและความประณีตของฝีมือการทอผ้า
จากนั้น คณะสภาสตรีแห่งชาติฯและสื่อมวลชน ได้เดินทางไปเยี่ยมชมครอบครัวทอมือผ้าไหม ครอบครัว คุณหวันดารา และคุณมารียะ หวันมุดา ซึ่งเป็นครอบครัวที่ได้รับการสืบทอดการทอผ้าแนวอนุรักษ์นิยมจาก คุณทวดแหม๊ะเหรียม หวันมุดา (ต้นตระกูลสุลต่านสุไลมาน) ผู้ริเริ่มทอผ้าลายพระธาตุไชยา ลายคชสีห์ ลายโคมเพชร และลายสร้อยดอกหมาก เป็นต้น ชมวิธีการทอมือผ้าไหมแบบดั้งเดิมยกดอกแบบโบราณ ซึ่งเคยได้รับรางวัลและถวายผ้าไหมแก่ในวัง
ภาคบ่าย
คณะสภาสตรีแห่งชาติฯและสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชม บริษัท วิยะแครปโปรดักส์ จำกัด เพื่อศึกษากระบวนการผลิต การนึ่งปู แกะปู การบรรจุ และผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ รวมถึงศึกษาดูการทำธนาคารแม่ไข่ปูนอกกระดอง และธนาคารปูม้าของชุมชน โดยได้รับการต้อนรับจากกรรมการผู้จัดการ คุณสุวณีย์ (วิยะ) ทิพย์หมัด รองกรรมการบริหาร คุณเบญจดล กาญจนหิรัญ และผู้จัดการ คุณสุรสิทธิ์ สะเพร่า บริษัท วิยะแครปโปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตเนื้อปูพร้อมปรุงคุณภาพสูงออกวางตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศและเป็นผู้นำธุรกิจแปรรูปปูม้าเพื่อการส่งออกรายใหญ่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากการพัฒนาธุรกิจแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และแพร่พันธุ์ปูโดยการสร้างธนาคารปูอีกด้วย
ข้อมูลเฉพาะ
ผ้าพุมเรียง
ลวดลายและกรรมวิธีการทอ
ผ้าพุมเรียงนับเป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่มีความผูกพัน และสืบทอดมาจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกหลาน และจากการที่เป็นเมืองท่าผ่านไปยังดินแดนอื่น เป็นเมืองเศรษฐกิจ ซึ่งมีหลายเชื้อชาติได้เดินทางผ่านมาและได้นำภูมิปัญญาการทอผ้ามาเผยแพร่ และผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเดิม กลายเป็นอารยะธรรมของชาวพุมเรียง ซึ่งคงความเป็นเอกลักษณ์แห่งผ้าทอซึ่งแตกต่างจากภาคอื่นๆ มีความสวยงาม ความประณีต มีคุณค่า โดยเฉพาะการทอผ้าไหม ผ้ายกดิ้นเงิน ดิ้นทอง
ประเภทของผ้าพุมเรียง แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือผ้าทอพุมเรียงประเภทผ้าฝ้าย ผ้าไหมพุมเรียง และผ้าไหมปนฝ้าย
ลวดลายเก่าซึ่งเป็นลายดั้งเดิมที่นิยม กันมาแต่เก่าก่อน เช่น ลายยกเบ็ด ลายดอกพิกุล ลายคชสีห์ ลายราชสีห์ ลายครุฑ ลายกินรี ลายเทพพนม ลายเบญจรงค์ ลายศรีวิชัย ลายกริช ลายโบตั๋น ลายราชวัตร ลายก้านต่อดอก ลายผ้ายกเชิงครุฑ และลายนพเก้า ช่างทอผ้าที่ตำบลพุมเรียง จะมีลวดลายต้นแบบที่ใช้เป็นตัวอย่างเก็บดอกผ้าเรียกว่า “ครูผ้า” อาจจะเป็นผ้าที่ปักด้วยไหม เป็นลวดลายต่างๆ หรือเศษผ้ายกที่ช่างทอเก็บไว้แต่เดิม
กรรมวิธีการทอผ้าพุมเรียง ใช้เทคนิคกรรมวิธีที่เรียกว่า ยกดอก คือ เทคนิคการทอผ้าให้เกิดลวดลาย ใช้วิธีเก็บตะกอลายเช่นเดียวกับการทอขิด โดยการยกตะกอ เพื่อแยกเส้นด้ายยืน ให้ด้ายเส้นพุ่งผ่านไปเฉพาะเส้น จะยกครั้งละกี่เส้นก็ได้ แล้วแต่ลวดลาย ที่กำหนดเอาไว้ เมื่อทอพุ่งกระสวยไปมาควบคู่กับการยกตะกอ จะเกิดเป็นลวดลายนูนขึ้นจากผืนผ้า ด้ายเส้นพุ่งนิยมใช้ดิ้นเงิน ดิ้นทองเพื่อเพิ่มความงดงาม
การนำไปใช้ประโยชน์
ในสมัยโบราณตามประเพณีดั้งเดิม ผ้ายกดิ้นเงินดิ้นทองมิใช่ผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ใช้ได้เฉพาะในราชสำนักเท่านั้น โดยทอเป็นผ้านุ่งสำหรับเจ้านายชั้นสูง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในระบอบประเพณี ทำให้คนทั่วไปสามารถใช้ผ้าประเภทนี้ได้ แต่ก็ใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษจริงๆ เช่น งานแต่งงาน พิธีสุเหร่า หรือให้นาคนุ่ง ในงานบวช
ที่มา : ระบบสารสนเทศศูนย์อนุรักษ์ผ้าไหม สำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
http://www.qsds.go.th/silkcotton/k_10.php