๕๗๗. สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมพิธี เปิดโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และสัมมนาวิชาการ เรื่อง พลังเยาวชน ยุติ การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓  เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่ห้องปรินซ์บอลรูม  ๒ – ๓  โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และสัมมนาวิชาการ เรื่อง พลังเยาวชน ยุติ การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว จัดโดยสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยในส่วนสภาสตรีแห่งชาติจัดส่ง ดร.อรุณศรี จงเจียมจิตต์ กรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๖๔)       นางรัศรินทร์ ลัคใหม่กุลวัฒน์  กรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๖๔)       เข้าร่วมพิธีดังกล่าวและมีองค์กรสมาชิกของสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เข้าร่วมประกอบด้วย สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย-กรุงเทพฯ ในพระบรมราชินูปถัมภ์  สมาคมสตรีนนทบุรี  เบญจมราชาลัยสมาคม ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นต้น

            นางพัชรี กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ โดยข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว www.violence.in.th ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓   พบว่า ในปี ๒๕๖๓  มีจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ๑,๐๙๗เหตุการณ์ ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นผู้ชาย ๘๖๖ ราย ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นผู้หญิง ๑๕๘ ราย โดยมีผู้ถูกกระทำที่เป็นผู้ชาย ๑๘๗ ราย และผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นผู้หญิง ๘๔๗ ราย

            จากนั้น เวลา ๑๓.๓๐ น. (วันเดียวกัน) นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้เดินทางมาเปิดสัมมนา การขับเคลื่อนนโยบาย แผนงาน และกลไกเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหา ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงานทั้งการป้องกัน ช่วยเหลือ และคุ้มครอง พร้อมทั้งเสริมสร้างระบบพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาสตรีแห่งชาติฯ และองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ภายใต้ประสานความร่วมมือจากบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) นอกจากนี้ กระทรวง พม. ได้สนับสนุนศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ที่มีทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป็นศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) ซึ่งทำงานร่วมกับเครือข่ายสหวิชาชีพ และ อปท. ในพื้นที่ตำบล นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรกิจกรรมโรงเรียนครอบครัว (Family School) ในองค์กรระดับจังหวัด ผ่านทางศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว ๘ แห่ง และศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน

 

      นายจุติ ไกรฤกษ์ ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคีเครือข่ายที่ได้มีส่วนร่วมรณรงค์ร่วมกันมาโดยตลอด ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวให้หมดไป เพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืนของสังคมไทยต่อไปในอนาคต

 

ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

ดาวน์โหลด