๓๗๙. สภาสตรีแห่งชาติฯ กรมการพัฒนาชุมชน จับมือ จังหวัดฉะเชิงเทรา และสตรีฉะเชิงเทรา รวมพลังกับ สืบสาน รณรงค์ใส่ผ้าไทย เชิดชูอัตลักษณ์ คุณค่าผ้าท้องถิ่น สร้างรายได้สู่ชุมชน
๐๓ มีนาคม ๒๕๖๓

วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับจังหวัดฉะเชิงเทราโดยนายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา มอบหมายให้นายสรายุทธ  แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ปฏิบัติราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และมี นางสุรวดี เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา นางจิรพรรณ คงเคารพธรรม รักษาการแทนนายกเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา นายฐากูร ชวนะพงศ์ ปลัดจังหวัดฉะเชิงเทรา นางสาวฉัตรประอร นิยม พัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสักขีพยาน และหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กร ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมลงนาม จำนวน  ๓๐  หน่วยงาน ก่อนพิธีลงนามได้ร่วมร้องเพลง “มาร์ชพัฒนาชุมชน”โดยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา ณ โรงแรมซันไรส์ ลากูน โฮเทลแอนด์กอล์ฟ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

 

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า วันนี้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาจังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยความที่เป็นลูกหลานจังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นเพอยู่ที่ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงมีความผูกพันกับ หลวงปู่ยงค์ พระธรรมมังคลาจารย์ (ประยงค์ ปิยวัณโณ) เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร ขณะนี้ สิริอายุ  ๙๕ พรรษา เมื่อวานนี้ได้ไปร่วมลงนาม ในโครงการฯ ที่จังหวัดนครราชสีมา และวันนี้ได้สอบถามจาก พัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา  นางสาวฉัตรประอร นิยม ในเรื่องของผ้าทอจังหวัดฉะเชิงเทราว่า มีผ้าอะไรบ้าง ที่เป็นผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้ทราบว่า มีกลุ่มสตรีตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ ที่มีกลุ่มทอผ้า เป็นการทอผ้าที่ได้รับสืบทอดภูมิปัญญามาจากภาคอีสาน มีลวดลายผ้าที่คล้ายกับจังหวัดของทางภาคอีสาน เช่น ผ้ามัดหมี่ ผ้าสาเกต ผ้าไหมสาเกตนคร ซึ่งเป็นผ้าไหมพื้นเมืองของชาวจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผ้าไหมที่งดงาม เป็นผ้าที่มีอยู่เพียงอำเภอเดียว ในจังหวัดฉะเชิงเทรา

การดำเนินงานโครงการ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน เป็นโครงการต่อเนื่อง ที่ทางสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โครงการแรกที่ได้ดำเนินการ คือ ตามรอยผ้าไทยลมหายใจแม่ของแผ่นดิน ได้เดินทางไปศึกษาดูภูมิปัญญาผ้าไทยของทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ ก็ทำให้รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มากยิ่งขึ้นสุดหัวใจ มีความรู้สึกว่าท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ กับองค์กรสตรีไทย ของประเทศ ไม่รู้จะทดแทนได้อย่างไร ที่ทรงได้รื้อฟื้นผ้าไทย ตั้งแต่ปี 2507 นับแต่ตามเสด็จครั้งแรก ๆ ที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ พระปรีชาชาญ ทรงมีความอดทนอย่างยิ่ง ที่ทรงทอดพระเนตรผ้า และจะนำมาพัฒนาผ้าไทย ทรงสนพระทัยในทุก ๆ ผืน เพื่อให้ประชาชนได้มีรายได้ เพื่อให้เกิดเม็ดเงินที่จะกลับมาสู่ครอบครัว ชุมชน พระองค์ยังเป็นแบบอย่างในการฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทยทุกภูมิภาค ตั้งแต่นั้นมา ในทุกพระพระราชกรณียกิจ การทอผ้าเปรียบเสมือนลมหายใจของผู้หญิง กว่าจะได้ผ้าผืนสวยงาม ต้องอดทนนั่งถักทอ ต้องเกิดจากกระบวนการ เริ่มต้นจากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ต้องสาวไหม ต้องสาวมาเป็นเส้น และนำมาถักทอเป็นผ้า หนึ่งผืน ใช้เวลา นานถึง ๖ เดือน และลวดลายผ้า ล้วนมากจากภูมิปัญญาของพี่น้องสตรีทั่วประเทศ มีความชื่นชอบผ้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ้าไหมพุมเรียง มีผู้เฒ่า ผู้แก่ อายุ ๙๐ ปี เป็นผู้ทอใช้เวลานาน ๖  เดือน ได้ ๑ ผืน เป็นผ้าที่ใช้ในราชสำนัก ผืนละ ๓๕,๐๐๐ บาท โดยแจ้งว่าจะให้เงินคุณยายผู้ทอผ้านั้นก่อน ท่านบอกว่า ไม่รับเนื่องจากเกรงว่าจะทอไม่เสร็จกลัวจะอยู่ไม่ถึงจนทอผ้าให้เสร็จได้ จะรับเงินค่าทอเมื่อเสร็จแล้ว เป็นผ้าที่สวยงามมาก

 

ดร.วันดี กล่าวเพิ่มเติมต่อว่า ผ้าไทยเป็นชีวิตของลูกหลานเราด้วย หากเราช่วยกันสวมใส่ผ้าไทย นอกจากจะช่วยเหลือครอบครัวคนทอผ้า ได้มีรายได้ สมเด็จฯ มีพระประสงค์ให้การทอผ้าเป็นอาชีพเสริม ในปัจจุบันหลายครอบครัวการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก ผ้าที่มีมูลค่า เช่น ผ้าทอจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผ้าสวยงาม ราคาแพง ทอด้วยเส้นทองคำ ใส่ในโอกาสสำคัญ เมื่อได้มาแล้วอยากเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ดูและเก็บรักษาสืบทอดไว้ ซึ่งในวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่การจรดปากกาลงในกระดาษและมานั่งลงนามในบันทึกข้อตกลงเท่านั้น พวกเราทุกคนจะมาสัญญาซึ่งกันและกันด้วยใจ และไปปฏิบัติด้วยการกระทำ ในเรื่องของการรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย เชื่อว่าหากทุกคนหันมาสวมใส่ผ้าไทย จะมีการซื้อผ้าเพิ่มอย่างน้อยคนละ ๑๐ เมตร หากสตรี ๓๕ ล้านคน ใส่ผ้าไทยคนละ ๑๐ เมตร รวม ๓๕๐ ล้านเมตร เมตรละ ๓๐๐ บาท เราจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนทันที ๑ แสนล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานราก คือ เศรษฐกิจครัวเรือน เมื่อเศรษฐกิจครัวเรือนเข้มแข็ง รายได้กลับไปสู่องค์กรสตรี โดยหากเราสวมใส่ผ้าธรรมดา ที่ใช้เครื่องจักรในการทอ ก็ไม่เกิดรายได้ให้กับครอบครัว ชุมชน ของเรา ผ้าไทย ถือเป็นเครื่องนุ่งหุ่มในปัจจัยสี่ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เรามีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง และยังรักษาภูมิปัญญาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของไทยไว้ ลูกหลานก็จะมีงานทำ และหากวันนี้คนฉะเชิงเทราไม่ใส่ผ้าท่าตะเกียบ ต่อไปคนทอผ้าก็จะไม่มีคนสืบสาน ทำให้หายไป แต่หากพวกเราช่วยกันซื้อ จะทำให้เกิดการต่อยอดการทอผ้าและสร้างรายได้ ยกตัวอย่าง การพัฒนาผ้าขาวม้า ของ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จํากัด ที่ลงมาพัฒนาต่อยอดผ้าขาวม้า ซึ่งหายไปจากสังคมไทยในช่วยระยะเวลาหนึ่ง ให้กลับมากมีชีวิตอีกครั้ง ขอให้ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นผู้ชาย ได้ร่วมกันใช้ผ้าขาวม้าของไทยในชีวิตประจำวัน โดยขณะนี้ ได้มีการพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มของผ้าขาวม้า และอื่น ๆ ให้เกิดกระแสการใช้มากยิ่งขึ้น ขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันในการสวมใส่ผ้าไทย หากเราสตรี มีความมุ่งมั่นในการทำอะไรแล้ว จะไม่มีความล้มเหลวในสิ่งนั้น ในวันนี้ หากไทยไม่ช่วยไทย แล้วใครจะช่วยเรา ขอเชิญชวน องค์กรสตรีได้นำวิกฤติมาสร้างโอกาส ในการแปรรูปผ้าเป็น ผ้าปิดปาก หน้ากากอนามัย

            ขอแนะนำ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาของ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม  นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีประธาน ที่ดำรงตำแหน่งมาแล้ว จำวน ๒๓ คน ๒๖ สมัย โดยข้าพเจ้าได้เป็นประธาน มา ๒ สมัย มีองค์กรสมาชิก มากกว่า ๒๐๐ องค์กร มีการจัดตั้งสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง ในทุกจังหวัด เพื่อเพิ่มบทบาทของสตรี ในปัจจุบัน สตรีมีบทบาท และมีการศึกษาเพิ่มมากขึ้น และมีตำแหน่งสำคัญในสังคม ควบคู่กับบทบาทของผู้หญิง จากนี้ เป็นต้นไปขอให้รณรงค์การใส่ผ้าไทยในทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าถูก แพง และ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน จัดประกวดผ้า     อัตลักษณ์ ขอจังหวัดฉะเชิงเทราได้พัฒนาต่อยอดการทอผ้า ดังเช่น จังหวัดพิจิตร ที่ได้สร้างลวดลายผ้า และขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันสวมใส่ผ้าไทยตาม โครงการ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน

 

             นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน  กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือและสนับสนุนการจัดทำโครงการเพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงอยู่และเพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทย และยังสนับสนุนส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีท้องถิ่นและกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมให้ข้าราชการในสังกัดใส่ผ้าไทยทุกวันด้วย

 

 นายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้กล่าวว่าจังหวัดฉะเชิงเทรามีเจตจำนงและแจ้งส่วนราชการ กลุ่ม/องค์กร เครือข่ายในจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมกันแต่งกายชุดผ้าไทยทั่วทั้งจังหวัดในวันปฏิบัติราชการและตามโอกาสที่เหมาะสมรวมถึงสนับสนุนให้มีการขยายกลุ่มทอผ้าในหมู่บ้านที่สามารถทอผ้าได้เพื่อเป็นการร่วมสืบสาน สนับสนุนและเป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ทั้งนี้ได้นายสรายุทธ ยังได้กล่าวขอบคุณสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรมการพัฒนาชุมชน และส่วนราชการทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันจัดโครงการ”สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ด้วย

 

นางสุรวดี เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จะร่วมดำเนินการตามโครงการฯ จังหวัดฉะเชิงเทรามีสิ่งดี ๆ มากมาย ขอให้พวกเราได้สืบสาน และนำมาต่อยอด เพื่อให้ผ้าไหมของเราได้เป็นที่ประจักษ์ เป็นสิ่งที่พวกเราจะได้ภาคภูมิใจ

 

สุดท้าย นางสาวฉัตรประอร นิยม พัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ในส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทรานำโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาครัฐ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน คณะกรรมการพัฒนาสตรีและคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจาก ๑๑ อำเภอ เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน ๓๐๐ คน มีการจัดนิทรรศการผ้าไทย การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP และผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัด และการประกวดร้องเพลงมาร์ชพัฒนาชุมชน

 

ชอบคุณภาพ/ข่าว สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

ดาวน์โหลด