๓๗๘. ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน และ จังหวัดนครราชสีมา จับมือสืบสาน รณรงค์ใส่ผ้าไทย เชิดชูอัตลักษณ์ คุณค่าผ้าท้องถิ่น สร้างรายได้สู่ชุมชน
๐๒ มีนาคม ๒๕๖๓

วันจันทร์ที่  ๒  มีนาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๓๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์  สกุลลิขเรศสีมา พร้อมด้วย ประธานแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดนครราชสีมา นางณัฎฐินีภรณ์ จันทรโณทัย  และหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กรสตรีซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ในจังหวัดนครราชสีมา  ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย ในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมลงนาม จำนวน  ๔๕ หน่วยงาน และมีนายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา และ นางอรุณรัตน์ ชิงชนะ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมเป็นพยาน โดยก่อนลงนามได้มีการแสดงโชว์อัตลักษณ์ผ้าไทยของจังหวัดนครราชสีมา ด้วยการเดินแฟชั่นโชว์ผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดนครราชสีมา จากหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ผู้นำกลุ่มองค์กรสตรี ภาคเอกชน ร่วมแสดงแบบอย่างสวยงาม  ณ ศูนย์ประชุมโคราช ฮอลล์ ชั้น ๔ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

 

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า  สภาสตรีแห่งชาติฯได้ดำเนินการโครงการสืบสานอนุรักษ์สินผ้ากฐินไทยดำรงไว้ในแผ่นดินโดยร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยโดยท่าน สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกันดำเนินโครงการตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา โดยมีความมุ่งหมายให้ทุกคนในประเทศนี้ ได้สืบสานรณรงค์ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานการใส่ผ้าไทย และได้ร่วมลงนามกับกรมการพัฒนาชุมชน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ได้ทรงมีเมตตาต่อปวงชนชาวไทย  ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยพระปรีชาชาญ พระวิริยะอุตสาหะ ได้รื้อฟื้นผ้าไทยดังในวิดิทัศน์ที่ได้รับชมไป เรื่องของผ้าไทยเป็นวัฒนธรรมของไทย ชนชาติใดในโลกที่มีความเจริญก็จะมีวัฒนธรรมของตนเองโดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในยุคปัจจุบัน โดยทั่วโลกได้รับผลกระทบ ไวรัสโควิช ๑๙ เชื้อไวรัสโคโรน่าที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้พวกเราต้องมาพัฒนาสภาพศักยภาพของตนเองในทุกมิติ หากว่าพี่น้องประชาชนคนไทยเพียงแค่ครึ่งหนึ่ง ของประเทศจำนวน ๓๕,๐๐๐,๐๐๐ คน หันมาสวมใส่ผ้าไทยในทุกวันเหมือนอย่างเช่นจังหวัดนครราชสีมาในวันนี้ ทุกคนช่วยกันซื้อผ้าไทยเพิ่ม จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อลือนามในเรื่องของผ้าไหมสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าไหมจากปักธงชัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านจิมทอมสัน โดยได้เลือกอำเภอปักธงชัยเป็นที่ตั้ง โดยโครงการนี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกท่าน ซึ่งในวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่การจรดปากกาลงในกระดาษและมานั่งลงนามในบันทึกข้อตกลงเท่านั้น พวกเราทุกคนจะมาสัญญากันด้วยใจ และไปปฏิบัติด้วยการกระทำ ในเรื่องของการรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย

ในวันนี้หากไทยไม่ช่วยไทยแล้วใครจะช่วยเรา ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ โดยขอให้เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ เริ่มต้นจากคนในครอบครัว ทุกบ้านเชิญชวนรณรงค์ให้ลูกหลานได้สวมใส่ผ้าไทย ดังคำที่ท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้กล่าวไว้ว่า จะถูกหรือแพงขอให้เป็นผ้าไทย ก็ล้วนแต่เป็นกระบวนการผลิตที่เกิดจากประเทศของเราทั้งสิ้น เป็นฝีมือเป็นภูมิปัญญาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำเภอปักธงชัยซึ่งมีแหล่งผลิตผ้าไหมที่สวยงาม ได้เคยพาภริยาเอกอัครราชทูตจีนเข้ามาชมผ้าที่อำเภอปักธงชัย ตามคำกล่าวต้อนรับของท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาที่ได้กล่าวถึงเส้นทางสายไหมที่จะผ่านทางรถไฟฟ้า โดยได้ให้ทางอำเภอปักธงชัยทอผ้าลายดอกโบตั๋น ใช้ไหม เกิดการผลิตและจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก สิ่งสำคัญขอให้เริ่มจากตัวเราก่อน อยากให้สตรีจังหวัดนครราชสีมาทุกท่าน รักษาอัตลักษณ์ผ้าไทยของจังหวัดนครราชสีมา ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และใส่ผ้าไทยทุกวัน เชื่อว่าทุกคนจะต้องซื้อผ้าเพิ่มอย่างน้อยคนละ ๑๐ เมตร หากสตรี ๓๕ ล้านคน ใส่ผ้าไทยคนละ ๑๐ เมตร รวม ๓๕๐ ล้านเมตร เมตรละ ๓๐๐ บาท เราจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนทันที 1 แสนล้านบาท นอกจากเราจะช่วยรักษาวัฒนธรรมแล้ว เรายังช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก คือ เศรษฐกิจครัวเรือน เมื่อเศรษฐกิจครัวเรือนเข้มแข็งเศรษฐกิจ โดยรวมก็เข้มแข็งไปด้วย การลงนามในวันนี้ขอให้ทุกท่าน ขอให้จดความทรงจำหน้าที่ไว้ในใจ ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมในวันนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมของเรานั้น เป็นการถวายความจงรักภักดี สภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์กำหนดจัดงานวันสตรีไทยในทุกปีคือวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งสมเด็จพระราชินีพระบรมราชชินีพันปีหลวง ได้พระราชทานไว้ ซึ่งปีที่แล้วเป็นปีแรกที่สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ได้เสด็จเป็นองค์ประธาน พวกเราร่วมกันถวายพระเกียรติ โดยสวมใส่ผ้าไหมไทยสีม่วงทั้งงาน สิ่งสำคัญของเราคือการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และหวังว่าผ้าไหมของจังหวัดนครราชสีมา จะได้เผยแพร่ไปทั่วประเทศขอให้พวกเราช่วยรณรงค์ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุกบาททุกสตางค์ก็กลับมาอยู่กับครอบครัว ชุมชน ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ดังเจตนารมณ์ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยต่อไป

 

 

ด้านนางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในนามผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา วันนี้รู้สึกดีใจที่ได้กลับมาที่นี่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนหน้านี้ดิฉันเคยดำรงตำแหน่งพัฒนาการจังหวัดที่นี่ ทราบดีว่าจังหวัดนครราชสีมามีผ้าไทยที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละอำเภอ สิ่งที่อยากเห็นคือการที่ลูกหลานได้รับการถ่ายทอดฝีมือภูมิปัญญา ไม่ใช่แค่การนำมาสวมใส่ เราไม่จำเป็นต้องเป็นต้นน้ำเราเป็นกลางน้ำก็ได้ สิ่งที่สำคัญ คือ ปลายน้ำเราก็จะมีโอกาสที่สนับสนุนคนทอผ้า ซึ่งเป็นอาชีพที่สำคัญเพราะได้ช่วยสืบสานรักษาและต่อยอดมรดกให้อยู่คู่กับลูกหลานและช่วยสร้างความมั่นคงในเรื่องการทอผ้าด้วย เพราะวันหนึ่งไม่แน่อาจเกิดวิกฤต ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เสมอ หากเราสามารถทอผ้าได้เองก็ถือเป็นความมั่นคงของชาติ และขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและท่านประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย ให้ผ้าไทยของจังหวัดนครราชสีมามีให้เป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์

และรู้สึกยินดีกับชาวจังหวัดนครราชสีมาที่ทำให้ผ้าไทยไม่สูญหายไป และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในครั้งนี้

 

ในส่วนของนายศักดิ์สิทธิ์   รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ท่านประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์  จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลาย ในเรื่องผ้าพื้นเมืองซึ่งจะมีอัตลักษณ์ที่สวยงามแตกต่างกันไป เช่น ผ้าซิ่นยวน ของอำเภอสีคิ้ว ผ้าเงี่ยงนางดำของอำเภอสูงเนิน ผ้าไหมลายขอนากน้อยของอำเภอบัวลาย ผ้าลายไขว้ตาล่องของอำเภอลำทะเมนชัย ผ้าลายสีทาสาธรของอำเภอประทาย ผ้าทอซับระวิงของอำเภอครบุรี เป็นต้น ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาได้มีการรณรงค์เรื่องการแต่งกายด้วยผ้าไทยเป็นประจำทุกวันศุกร์ การลงนามจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการประสานความร่วมมือโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”จังหวัดนครราชสีมา ในครั้งนี้ จึงถือเป็นนิมิตรหมายอันดี ที่จะสร้างความร่วมมือให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันในการเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมโดยทั่วกัน

 

สุดท้าย นางอรุณรัตน์  ชิงชนะ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา  ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีการขับเคลื่อนโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้  ในแผ่นดิน” จังหวัดนครราชสีมาได้ตอบรับนโยบายโดยดำเนินการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงตามทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ ในแผ่นดิน” เบื้องต้นเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ และได้ดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ครบทั้ง ๓๒ อำเภอแล้ว

ทำให้จำหน่ายผ้าไทยของจังหวัดนครราชสีมา มีรายได้เพิ่มขึ้น จำนวนทั้งสิ้น ๑๗๑,๔๘๑,๗๐๐ บาท คิดเป็นร้อยละ ๒๒ ของช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการนี้ นอกจากนี้ได้กำหนดจัดกิจกรรมการเดินแบบผ้าไทยการกุศล ในงานฉลองแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี ประจำปี ๒๕๖๒ ภายใต้ชื่อกิจกรรม “วิจิตรผ้าไทยล้ำค่า งามตระการตาผ้าไหมโคราช”  ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๓ โดยมีผู้เดินแบบ ๕๕๐ คู่ และเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการสืบสาน อนุรักษ์ผ้าถิ่นไทย ให้มากยิ่งขึ้น

 

โอกาสนี้ ประธานสภาสตรีแหงชาติฯ ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดการอบรมโครงการ “ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาศักยภาพผู้นำสตรี ด้านการเรียนรู้ และเพิ่มทักษะการเขียนโครงการ” และบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสตรี “พลังสตรี สร้างสุขในชุมชน”  และเยี่ยมชมนิทรรศการ และผลการดำเนินพัฒนาชุมชน ผลิตภัณฑ์ OTOP  เพื่อเป็นกำลังใจให้กลุ่มผู้นำสตรีในจังหวัดนครราชสีมาอีกด้วย

 

ขอบคุณภาพ/ข่าว สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครราชสีมา

ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

 

ดาวน์โหลด