๓๕๑ . กรมการพัฒนาชุมชน จับมือ สภาสตรีแห่งชาติ เชิดชูผ้าไหมยกดอกลำพูน รณรงค์สตรีลำพูน สวมใส่ผ้าไทย สืบสานภูมิปัญญา
๐๕ มกราคม ๒๕๖๓

วันที่ ๕ มกราคม  ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ น.  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน กับจังหวัดลำพูน นำโดย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีจามเทวีศรีหริภุญไชย และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ดร.นิรันดร์ ด่านไพบูลย์  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน  โดยมีคณะกรรมการพัฒนาสตรีระดับอำเภอ และคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับตำบล จาก ๘  อำเภอของจังหวัดลำพูน ร่วมในพิธีฯ รวมทั้งสิ้น ๑๕๐  คน ณ หอประชุมพระเทพรัตนนายก วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลต้นธง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

การลงนามบันทึกข้อตกลงความความร่วมมือ ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ” มีวัตถุประสงค์ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยการอนุรักษ์ ส่งเสริมลำพูนผ้าไหมไทยยกดอก อันมีอัตลักษณ์และทรงคุณค่า เป็นศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และให้ทั่วโลกได้

ชื่นชม อีกทั้งช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายด้วยผ้าไทย โดยเน้นในกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างหน่วยงานของรัฐให้ใช้ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งทุกคนได้มีส่วนร่วมสืบสาน อนุรักษ์ผ้าท้องถิ่นไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน และที่สำคัญเพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเสริมสร้างรายได้ให้กลุ่มสตรีในท้องถิ่น

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าวว่า ภารกิจของสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์กิจกรรมหลักจะเป็นเรื่องของสตรี มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพอาชีพสืบสานโครงการตามพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเมื่อได้ทำโครงการอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน ทำให้เข้าใจถึงกรรมวิธีการผลิตการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นงานทรงคุณค่าและเป็นงานภูมิปัญญาที่สืบทอดสู่รุ่นหลานดังนั้นหาก ๓๕  ล้านคน หันมาใส่ผ้าไทยโดยซื้อคนละ ๑๐ เมตร ราคาเมตรละ ๓๐๐ บาท ก็จะเกิดรายได้หมุนเวียนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท กลับสู่ชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสตรีช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากสู่ความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวต่อว่า กรมการพัฒนาชุมชน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรื้อฟื้นผ้าไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓ ที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ทรงให้ชาวบ้านทอผ้าเพื่อไปตัดชุดฉลองพระองค์และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนให้ชาวบ้านเริ่มอาชีพทอผ้า ถือเป็นอาชีพเสริมจากการทำการเกษตรกรรม ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ และพระปรีชาชาญ ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทำให้ผ้าไทยทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้ายได้กลับคืนสู่สังคมไทย ได้รับความนิยมจากคนไทยและคนต่างชาติ กรมการพัฒนาชุมชนมีภารกิจหลักในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน ในเศรษฐกิจฐากรากระดับครัวเรือน ชุมชน เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นความยากจน สามารถช่วยเหลือตนเองได้ อาชีพทอผ้าเป็นอาชีพที่ทำได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ประกอบอาชีพได้ที่บ้าน ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐาน

 

ในส่วนของนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้กล่าวต้อนรับและมีความยินดี ที่ได้รับเกียรติจากสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกรมการพัฒนาชุมชนที่ให้เกียรติมาเยี่ยมจังหวัดลำพูนและจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ในวันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จังหวัดลำพูน เดิมคือ นครหริภุญชัย ที่มีพระนางจามเทวี เป็นปฐมกษัตริย์ มีประวัติความเป็นมา ทั้งสั่งสมวัฒนธรรม ภูมิปัญญา มายาวนานกว่า 1,300 ปี ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น จนปัจจุบัน งานหัตถกรรมผ้าทอของจังหวัดลำพูนมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น และมีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ นั่นคือ ผ้าทอยกดอก จนทำให้จังหวัดลำพูน เป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกแหล่งสำคัญของประเทศไทย โดยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ มีอาทิ ลายดอกพิกุล ลายกลีบลำดวน ลายใบเทศ ลายเม็ดมะยม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น สำหรับลวดลายโบราณดั้งเดิมและถือว่ายังเป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ ลายดอกพิกุล ซึ่งปัจจุบันได้มีการคิดลวดลายให้หลากหลายขึ้น เช่น พิกุลเครือ พิกุลมีขอบ พิกุลก้านแย่ง พิกุลเชิงใหญ่ พิกุลถมเกสร พิกุลเล็ก พิกุลใหญ่ พิกุลสมเด็จ พิกุลกลม เป็นต้น ซึ่งแต่ละลายจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ลักษณะเด่นของผ้ายกดอก คือในผืนผ้าจะมีลวดลายในตัว โดยผิวสัมผัสมีความนูนที่แตกต่างกันไปตามลวดลาย ซึ่งส่วนใหญ่ลายจะใช้ฝ้ายหรือไหมสีเดียวกันตลอดทั้งผืน บางครั้งอาจมีการจกฝ้ายเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความเด่นของลวดลาย จึงนับได้ว่าถ้าหากประชาชนโดยทั่วไป หันมานิยมใส่ผ้าไทย จะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่กลุ่มอาชีพทอผ้าชาวลำพูนได้เป็นอย่างมาก

สุดท้ายนางอาภัสรา  ธงพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาตร์การพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดลำพูน ได้กล่าวว่า ในการร่วมมือกัน ด้วย โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” จะช่วยกันสนับสนุน รณรงค์ให้ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และพนักงานบริษัท ได้สวมใส่ผ้าไทยในทุก ๆ วัน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพทอผ้าแก่สตรีทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มสตรีของจังหวัดลำพูน ที่ซึ่งได้รับถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษอยู่แล้ว โดยกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติฯ มีการเดินหน้ารณรงค์โครงการนี้ ขยายผลไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ ดังนั้น ถ้าทุกคนได้ร่วมมือร่วมใจกันใส่ผ้าไทย แต่ละคนจะได้ซื้อผ้าไทย ส่งผลให้กลุ่มทอผ้าได้มีรายได้ จากการทอผ้า ทำให้ครอบครัวอบอุ่น สร้างชุมชนเข้มแข็ง และพึ่งตนเองได้ อย่างยั่งยืน

 

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ: กองประชาสัมพันธ์ กรมการพัฒนาชุมชน

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ

ดาวน์โหลด