๓๐๔. สภาสตรีแห่งชาติฯ ชวนชาวเหนือ สวมใส่ผ้าไทยทุกวัน ตามโครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน “แต่งย่องผ้าพื้นเมือง หื้อลือเลืองผ้าถิ่นไทย”
วันที่ 9 ธันวาคม 2562
เวลา 09.00 น.
ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดเชียงใหม่
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” กับ 4 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยผู้ร่วมลงนามของจังหวัดเชียงใหม่ประกอบด้วย นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางสุดาภรณ์ สงวนสัตย์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีล้านนาไทยเชียงใหม่ นายอาทร พิมชะนก พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ นายอดิศร กำเนิดศิริ รองนายกองค์การบริหารจังหวัดเชียงใหม่ คุณวรัญญา เลิศวรกิจพิพัฒน์ นายกสมาคมสตรีนครเชียงใหม่ และผู้แทนหน่วยงานภาคี รวม 11 หน่วยงาน
ในส่วนของจังหวัดลำปาง มีนายชาตรี ธินนท์ พัฒนาการจังหวัดลำปาง นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ วัฒนธรรมจังหวัดลำปาง นางวรุณกาญจน์ และผู้แทนหน่วยงานรวม 4 หน่วยงาน
จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีนางนันทิยา วงศ์วานิชย์ นายกสมาคมสตรีจังหวัดแม่ฮ่องสอน
และจังหวัดลำพูน มีนางอาภัสรา ธงพิทักษ์ รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดลำพูน นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีจามเทวีศรีหริภุญไชย จังหวัดลำพูน วัฒนธรรมจังหวัดลำพูน นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย จังหวัดลำพูน ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดลำพูนและประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูนร่วมลงนาม
ในการนี้ นางสาวศันสนีย์ ทาสม ผู้ตรวจราชการกรม และจ่าเอก สงัด พืชพันธุ์ เลขานุการกรม กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมลงนามด้วย
โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความความร่วมมือ ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน จังหวัดเชียงใหม่” ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทย ศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และเป็นความชื่นชมของชาวโลก และเพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่น เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายด้วยผ้าไทย โดยเน้นในกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างหน่วยงานของรัฐให้ใช้ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเพื่อสืบสาน อนุรักษ์ผ้าท้องถิ่นไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน และสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเสริมสร้างรายได้ให้กลุ่มสตรีในท้องถิ่น ซึ่งมีหน่วยงาน องค์กรภาคีที่ร่วมสนับสนุน ส่งเสริมการแต่งกายด้วย ผ้าไทย จำนวน 20 องค์กร ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และแม่ฮ่องสอน รวมทั้งสิ้น 300 คน เข้าร่วมกิจกรรม ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
***ดร.วันดี กล่าวว่า สภาสตรีแห่งชาติฯ ได้เดินหน้ารณรงค์สวมใส่ผ้าไทยมาแล้ว 23 จังหวัด รวมครั้งนี้ด้วย รวมเป็น 26 จังหวัด เราตั้งเป้าไว้ให้ครบ 76 จังหวัด ที่ผ่านมาได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีทุกจังหวัดมีความตื่นตัวให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี และถ้าหากคนไทยร่วมใจกันแต่งกายด้วยผ้าทอไทยเป็นประจำทุกวัน แค่ 35 ล้านคน/เฉลี่ยซื้อคนละ 10 เมตร จะมีความต้องการผ้าไทย 350 ล้านเมตรๆละ 300.-บาท คิดเป็นเงิน กว่า 100,000 ล้านบาท จะช่วยส่งเสริมการทอผ้าในชุมชน โดยเฉพาะการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่กลุ่มสตรีกว่า 90% มีรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของสตรี ครอบครัว และชุมชน รวมถึง ลดปัญหาการว่างงาน ปัญหาการย้ายถิ่นฐาน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นความภาคภูมิใจของคนไทยให้คงอยู่ต่อไปและถึงตรงนี้อยากจะเชิญชวนชาวสตรีของให้ท่าน ให้ช่วยกันรณรงค์ การใส่ผ้าไทยตั้งแต่คนในบ้าน ญาติมิตรแล้วก็ลูกหลานของเรา เราก็จะช่วยกันให้สตรีในชุมชนของเราเข้มแข็งขึ้น ขอบพระคุณค่ะ
*** นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้มานำเอาแนวทางของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาสนับสนุน ส่งเสริม ให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ซึ่งเราเรียกว่ากลุ่ม OTOP ซึ่งเริ่มจากผ้าไทย แล้วก็ตอนหลังมีพวกช่างเงิน ช่างทอง ช่างแกะสลัก อาหารการกิน เครื่องประดับตกแต่ง ตลอดจนสมุนไพรต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ดีซึ่งที่ผู้คนเห็นแล้วรู้เลยคือผ้าไทย สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ทรงทุ่มเท ทรงวิริยะอุตส่าห์ ทรงเสียสละทุกอย่างในการที่จะ ให้ผ้าไทย มีชีวิตอยู่รอด ซึ่งไม่มีพระองค์ท่าน ผมมั่นใจคนทอผ้าเหลือไม่กี่คนแน่ แต่เพราะมีพระองค์ท่าน ผ้าไทยเลยมีจำนวนมาก คนทอก็มากขึ้น เพราะฉะนั้น เราก็จะขอเดินหน้ารักษา ต่อยอด ด้วยการรณรงค์ให้ใส่ทุกวัน ยกเว้นแต่งเครื่องแบบ แต่งยูนิฟอร์มที่หน่วยงานกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ก็กำหนดไว้วันเดียว ที่เหลือก็พยายามใส่ผ้าไทย ใส่ผ้าไทยกันทุกวัน เมื่อใส่ทุกวัน มันก็ต้องซื้อเพิ่ม ถ้าคน 70 ล้านคน สวมใส่ผ้าไทยจำเป็นต้องซื้อผ้าเพิ่ม คนละชิ้นสองชิ้น ในปีหนึ่งๆ จะต้องมีมูลค่าซื้อขายผ้าไทยเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน เงินหมื่นล้านบาทนี้จะกลับมาสู่ใคร ก็กลับมาสู่ชาวบ้าน ครอบครัวของทั้งคนตัดเย็บ คนทอ คนปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ท้ายที่สุด ลูกหลานของครอบครัวเหล่านั้น จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสที่จะได้สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว มีเงินออมเงินรายได้เพิ่มมากขึ้น ความสำคัญเหล่านี้เราก็เลยมาตกลงจะร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย ซึ่งเป็นโครงการดีๆ ที่อยากขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ครับ
***นายคมสัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมล้านนา เป็นดินแดนที่มีความหลากหลาย มีความผสมผสานทั้งด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว โดยสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สวนพฤกษาศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพปุย พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ดอยหลวงเชียงดาว ม่อนแจ่ม ดอยอ่างขาง สวนสนบ่อแก้ว ผาช่อ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ บ้านแม่กำปอง และถนนคนเดิน โดยจังหวัดเชียงใหม่พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกที่จะมาสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนพบุรีศรีนครพิงค์ตามคำขวัญที่ว่า “ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผาชาติล้วนงามตา งามล้ำค่านครพิงค์” และทำให้ทั่วโลกได้รับรู้ถึงเอกลักษณ์ล้านนาไทย โดยเฉพาะในเรื่องผ้าทอ อันจะนำมาซึ่งโอกาสในการสร้างรายได้ต่อไป
***นางสุดาภรณ์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีล้านนาไทยเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า ภูมิปัญญาในการทอผ้าและการแต่งกายของชาวล้านนาผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าพื้น ไม่มีลวดลาย หรืออาจเป็นลายง่าย ๆ เช่น ลายตาราง ส่วนการทอผ้าที่มีลวดลายสวยงาม ส่วนใหญ่เป็นลายเฉพาะของกลุ่มคน เช่น ลายน้ำไหล ของไทลื้อ ซิ่นลัวะ ซิ่นยาง เป็นต้น ทำให้ผ้าทอของเชียงใหม่มีหลากหลาย ปัจจุบันผ้าทอของเชียงใหม่ที่เป็นที่นิยมมีอยู่หลายแห่ง คือ ผ้าตีนจกแม่แจ่ม ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ และผ้าไหมสันกำแพง เป็นต้น
***โอกาสนี้ นายอาทร พิมชะนก พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะเจ้าภาพการจัดงานครั้งนี้ ได้กล่าวขอบคุณ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาคี ที่ร่วมลงนามในโครงการอันเป็นประโยชน์แก่ชุมชนและวัฒนธรรมไทยในครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ในส่วนของกรมการพัฒนาชุมชน เรายังมีสินค้า OTOP ที่โดดเด่น ได้แก่ ผ้าซิ่นตีนจก เครื่องปั้นศิลาดล เครื่องเงิน เครื่องเขิน ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู ชาผักเชียงดา น้ำผึ้ง เมล็ดกาแฟ ชาสมุนไพรต่างๆ และไม้แกะสลัก ที่สะท้อนถิ่นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ ที่สืบทอดกันรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน ให้สอดคล้องกับเมืองแห่งการท่องเที่ยวอย่างจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้ประทับใจในเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่ได้มาสัมผัส พร้อมทั้งขอสนับสนุนความร่วมมือกับทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือของเรา อันมีเอกลักษณ์ที่คล้ายคลึงกัน ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัฒนธรรมล้านนาสู่สากล
สถานีข่าว พช. CNS รายงาน