๒๖๘.สมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ปี ๒๕๖๒ วัดศาลาปูนวรวิหาร ยอดบุญ ๑,๓๒๙,๐๐๐ ล้านบาท
พระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานประจำปี ๒๕๖๒ วัดศาลาปูนวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อน้อมนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส
วันเสาร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ นายกสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำคณะกรรมการและสมาชิก สมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี ฯ อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานใน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวาย ณ วัดศาลาปูนวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดศาลาปูนวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดโบราณตั้งอยู่ริมคลองเมือง พระนครศรีอยุธยา ( แม่น้ำลพบุรีเดิม )ฝั่งตรงกันข้ามกับเกาะเมืองห่างจากปากคลองหัวแหลมประมาณ ๑๐ เส้น มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๒๘ ไร่ อาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อ คลองมหานาค ทิศใต้ ติดต่อ คลองเมือง ทิศตะวันออก ติดต่อ ที่ดินราษฏร ทิศตะวันตก ติดต่อวัดพรหมนิวาสวรวิหาร ( วัดขุนยวน ) วัดศาลาปูนเป็นที่สถิตของ พระราชาคณะตำแหน่งพระธรรมราชา สืบต่อกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๖ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ วัดศาลาปูนเป็นที่สถิตของพระราชาคณะชั้นสมเด็จคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( พุก ) ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะเพียงรูปเดียวที่ได้รับพระราชทานตั้งขึ้นในเขตหัวเมืองชั้นนอก
พระอุโบสถวัดศาลาปูนนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระประธานในอุโบสถวัดไร่ขิงมาก่อน เนื่องจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( พุก ) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาปูน และเป็นชาวเมืองนครชัยศรี ได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ วัดไร่ขิง หอไตรปิฎก มีความงดงามเป็นเอกมีคุณค่าทางศิลปกรรมสมัยอยุธยา หน้าบันประดับปูนปั้นรูปนารายณ์ทรงครุฑเหยียบนาค เป็นอาคารที่เก็บพระไตรปิฎก พระคัมภีร์และใบลาน ซึ่งเป็นหนังสือสำคัญของพระพุทธศาสนาคือ หอสมุดของพระภิกษุสงฆ์นั่นเอง ธรรมาสน์ เป็นศิลปกรรมเครื่องไม้จำหลักในสมัยอยุธยาตอนต้น รูปทรงงดงาม จำลองมาจากพระแท่นประทับของพระมหากษัตริย์ มีช่อฟ้า ใบระกา บราสี หางหงส์ ซุ้มรังไก่ ยอดเหมปราสาทเช่นเดียวกับปราสาทจริงๆ สังเค็ด เป็นธรรมาสน์สำหรับพระสงฆ์ขึ้นไปเทศน์พร้อมๆ กันหลายองค์ แต่ไม่เกิน ๔ องค์ ซึ่งเรียกการเทศน์แบบนี้ว่าปุจฉาวิสัชนา ธรรมาสน์จึงต้องขยายยาวออกไป ส่วนหลังคานิยมทำเป็นหลังคาปราสาทซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ คล้ายหลังคาโบสถ์ สังเค็ดของวุดศาลาปูนเก่าแก่ที่สุด และงดงามที่สุด แต่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา
ขอบคุณข้อมูลประวัติวัดศาลาปูนวรวิหาร: Website Thailand Temple
ภาพ :สมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข่าว: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ