๑๔๘. สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี สมัยที่ ๖๒ (The sixty-second session of the Commission on the Status of Women : CSW 62) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๒ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบหมายให้ ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี รองประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯและประธานฝ่ายต่างประเทศ นางศิริรัตน์ ธำรงธีระกุล กรรมการอำนวยการและรองประธานฝ่ายต่างประเทศ นางจุฬารัตน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กรรมการฝ่ายต่างประเทศ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ เป็นผู้แทนสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี สมัยที่ ๖๒ (The sixty-second session of the Commission on the Status of Women : CSW 62) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีรายละเอียดงานดังนี้
๑. การเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม CSW 62 ในนามกลุ่มประเทศอาเซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงานด้านสตรีในกรอบประชาคมอาเซียนว่า อาเซียนมีเป้าหมายในการพัฒนาที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเป็นประชาคมแห่งสันติภาพ ความมั่นคง และความยั่งยืน วิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียน ๒๐๒๕ ที่ได้รับการรับรองเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๕ นั้น มีหลักการสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหลักการที่มุ่งมั่นที่จะบูรณาการความเสมอภาคระหว่างเพศในการพัฒนานโยบายต่าง ๆ โดยอาเซียนมีผลงานสำคัญ ๆ ในประเด็นความเสมอภาคระหว่างเพศที่เพิ่งได้รับการรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ ๓๑ ที่ผ่านมา ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ๒๐๒๕ แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมสตรี สันติภาพและความมั่นคงในอาเซียน และวาระว่าด้วยการบูรณาการการเสริมความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของสตรีในอาเซียน โดยการดำเนินงานของอาเซียนมีความก้าวหน้าหลายด้าน เช่น ทำให้สตรีเข้าไปมีบทบาทในภาคเศรษฐกิจ และทำให้เกิดการจ้างแรงงานสตรีมากขึ้น เป็นต้น
๒. การเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลม ในหัวข้อ “ตัวอย่างที่ดีในการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อสตรีในชนบท โดยผ่านการป้องกันความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ การเข้าถึงความยุติธรรม การบริการสาธารณสุข และสวัสดิการสังคม” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการพัฒนาสตรีในชนบททั้งทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาศักยภาพ และการกระจายบริการด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสตรีชนบทอย่างสมบูรณ์ และเป็นรากฐานที่สำคัญเพื่อจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) การให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ (๒) การบริการด้านสาธารณสุข และ (๓) การขจัดความรุนแรงต่อสตรี
๓. กิจกรรมคู่ขนานของประเทศไทย (Side Event) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เป็นประธานและกล่าวเปิดงานกิจกรรมคู่ขนานในหัวข้อการเข้าถึงเทคโนโลยีและการสื่อสาร : เพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้สตรีในชนบทในบริบทอาเซียน (Women’s Access to Technologies and Media : Empowering rural women in the ASEAN region) โดยกล่าวถึงความสำคัญของบทบาทของเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน “ไทยแลนด์ ๔.๐” เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศไทยภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสตรีชนบทในการเข้าถึงทรัพยากร การพัฒนาศักยภาพ การบริการสาธารณสุข และสวัสดิการสังคมได้