ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ในฐานะประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่ จ.สงขลา ติดตามการขับเคลื่อนโครงการ "ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน" เพื่อประเทศไทยไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าจากขยะ พร้อมนำข้อมูลประเมินผลการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เวลา ๐๘.๓๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายธนา ยันตรโกวิท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด้านนโยบายและแผน และผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ตรวจติดตามโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก จากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน โดยมีนายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายพนมเทียน เส้งวั่น ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นางกัลยา บุญญามณี ประธานชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัดสงขลา นายเจือ กิ้มอั้น นายกเทศมนตรีตำบลพะวง นายสุพล สุขหอม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรัตภูมิ และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่เข้าร่วม ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลพะวง จากนั้นเดินทางไปยังครัวเรือนตัวอย่างในพื้นที่ เพื่อติดตามการดำเนินงานการจัดเก็บข้อมูลขยะเปียกครัวเรือน ณ บ้านห้วยขัน เทศบาลตำบลพะวง จ.สงขลา
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ กล่าวด้วยว่า ในฐานะเครือข่ายจิตอาสา ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังสตรีหรือพลังแม่บ้านในการเป็นจิตอาสาห่วงใยสิ่งแวดล้อม ห่วงใยสังคม และชุมชน ได้รับมอบนโยบายและเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะ โดยการคัดแยกขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ ครัวเรือน ซึ่งแม่บ้านเป็นผู้ใกล้ชิดที่สุด โดยทำการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป และต้องช่วยรณรงค์สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นได้มามีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ และตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ตนเองและชุมชน ทั้งยังเป็นการช่วยลดรายจ่ายจากการนำสารบำรุงดินที่ได้จากการทำถังขยะเปียกมาใช้ในการปลูกผักสวนครัว หรือประโยชน์ด้านเกษตรกรรมอื่นๆ ได้ด้วย และที่สำคัญช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะเป็นการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง