ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ในฐานะ CEO SPCG ได้รับเกียรติจาก สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล (BPW International) เชิญร่วมเสวนาในงาน BPW International Asia Pacific Regional Conference 2018
๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๑

                    เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ได้รับเกียรติบรรยาย ภายใต้หัวข้อ “Green Growth Strategies for Better Business & Better World”  ซึ่งงานในครั้งนี้จัดขึ้นโดย สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล ร่วมกับ สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ

                   ด้วยสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล (BPW International) ซึ่งเป็นองค์กรสตรีนานาชาติที่มีสมาชิกเป็นสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพกว่า ๑๐๐ ประเทศทั่วโลก โดยสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้รับคัดเลือกจากสมาชิกทั่วโลกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก (BPW International Asia Pacific Regional Conference 2018) ระหว่างวันที่ ๓๐ ตุลาคม - ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมส่งเสริมพลังสตรีสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามนโยบายขององค์กรสหประชาชาติ โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาร่วมนำเสนอต้นแบบ แนวทาง หรือ โครงการที่สตรีนักธุรกิจและวิชาชีพนานาชาติประสบความสำเร็จในการพัฒนาพลังของสตรี โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกลยุทธ์เพื่อดำเนินการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกันเพิ่มความเข้มแข็งของเครือข่ายสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพให้เกิดการขยายผลไปทั่วโลก การประชุมครั้งนี้มีสมาชิกสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพ กว่า ๖๐๐ ท่าน จาก ๓๐ ประเทศ เข้าร่วมประชุม

การเสวนาภายใต้หัวข้อ “Green Growth Strategies for Better Business & Better World” มีวิทยากรผู้ร่วมเสวนา ๔ ท่าน ดังนี้

๑. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน)

๒. ดร.อเมนี่ แอสฟอร์ (Dr. Amany Asfour) จากประเทศอียิปต์ ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล (BPW International)

๓. คุณเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

๔. ดร.ชนม์ชนก วีรวรรณ อดีตประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล (BPW International ) ประธานโครงการ Outstanding Women Leader for Green Growth Awards

                    ดร.วันดี กล่าวว่า หลังเกษียณจากการทำงานในปี ๒๕๕๓ กระทรวงพลังงานมีนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียนเปิดให้เอกชนสามารถพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทุกประเภท (แสงอาทิตย์, น้ำ และ ลม) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานโดยมี ดร. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในตอนนั้น ดร.วันดี จึงได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจ จึงได้จัดทำ Business Model ขึ้นมาด้วยความตั้งมั่น และตั้งใจผลักดันธุรกิจนี้จนประสบความสำเร็จ โดยเริ่มพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งแรกเมื่อ ปี ๒๕๕๓ หลังจากที่เกษียณอายุไปเมื่อปี ๒๕๔๙ และประสบปัญหาอย่างมากในการหาสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการเนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อน ทำให้สถาบันการเงินไม่มีข้อมูลด้านความเสี่ยง ต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงการกว่า ๑ ปี ต้องใช้ที่ปรึกษาการเงิน ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ที่ปรึกษาด้านประกันภัย ซึ่งทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงด้านการลงทุน ธนาคารกสิกรไทยเป็นสถาบันการเงินที่ช่วยสนันสนุนทางด้านการเงินด้วยโดยมีอัตราหนี้สินต่อทุนที่ ๖๐:๔๐ โดยเริ่มการลงทุนจากโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกที่โคราช เริ่มผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และส่งเข้าระบบจำหน่ายไฟ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ โดยธนาคารให้มีระยะเวลาประเมิน ๖ เดือนก่อนเริ่มพัฒนาโครงการที่ ๒ ผลปรากฎใน ๓ เดือนแรกว่าการผลิตไฟฟ้าดีกว่าเป้าหมายกว่า ๓๐% ทำให้ธนาคารเห็นโอกาสที่จะช่วยบริษัทพัฒนาโครงการที่เหลือที่ต้องใช้เงินลงทุนกว่า ๒๔,๐๐๐ ล้านบาท บริษัทได้รับการสนับสนุนจาก  International Finance Corporation Member of World Bank Group ร่วมทุนในโครงการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มที่เหลือและร่วมให้ความสนันสนุนทางด้านการเงิน ตลอดจนนำเงินกู้ Climate Technology fund มาร่วมให้กู้กับสถาบันการเงินอื่นๆ อีก ๖ แห่ง ภายใต้การจัดการของธนาคารกสิกรไทย นอกจากนั้นบริษัทได้ควบรวมกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และระดมเงินทุน จนประสบความสำเร็จ

                  ดร.วันดี ในฐานะผู้บุกเบิกโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทยและอาเซียน ปัจจุบันมีโครงการโซลาร์ฟาร์ม ทั้งสิ้น ๓๖ โครงการ มีกำลังการผลิตกว่า ๒๖๐ เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จแรกด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย