ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ในฐานะ CEO SPCG ได้รับเกียรติจาก World Bank เชิญเป็นวิทยากรในงาน High-level Event on “Building a Better World for Women Entrepreneurs” ณ Four Seasons Hotel, 57 E 57th St, New York City
เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๑ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ได้รับเกียรติบรรยายประสบการณ์ทำงานสร้างความสำเร็จเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ในงาน High-level Event on “Building a Better World for Women Entrepreneurs”ภายใต้หัวข้อ “Lightning talks” ซึ่งงานในครั้งนี้จัดขึ้นโดย United Arab Emirates (UAE) ร่วมกับ World Bank ณ Four Seasons Hotel, 57 E 57th St, New York City
ทั้งนี้ในที่ประชุมมี ๑๔ ประเทศได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนให้ธนาคารโลก เพื่อให้การสนับสนุนสตรีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม (WE-Fi) Women Entrepreneurs Finance Initiative จัดโดยรัฐบาลของปะเทศ United Arab Emirates (UAE) และ World Bank ที่นำโดยสตรีจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้มีเงินทุนไปดำเนินธุรกิจ สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ความช่วยเหลือครั้งนี้เป็นผลมาจากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้จัดประชุม Global Globe ที่นิวยอร์ก จึงได้จัดประชุมเสวนาการช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มธุรกิจของสตรี โดยมีบุคคลสำคัญระดับโลกร่วมการประชุมเป็นจำนวนมาก อาทิ สมเด็จพระราชินีแมกซิม่า ประเทศเนเธอร์แลนด์, นางอิวานกา ทรัมป์ ที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, เจ้าหญิง รีมา บินท์ บันดาร์ บิน สุลต่าน บิน อับดุลลาซิส แอล ซาอุด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น
งานเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการเสริมสร้างพลังอำนาจทางเศรษฐกิจของผู้หญิงผ่านทางผู้ประกอบการ การแบ่งปันความรู้ รวมถึงแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและการเป็นผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจของสตรี
การเสวนาภายใต้หัวข้อ “Lightning talks” มีวิทยากรผู้ร่วมเสวนา ๒ ท่าน ดังนี้
๑. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน)
๒. Ms. Jamila Ben Baba, CEO, Laham Industrie, Mali
ดร.วันดี กล่าวว่า หลังเกษียณจากการทำงานในปี ๒๕๕๓ กระทรวงพลังงานมีนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียนเปิดให้เอกชนสามารถพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทุกประเภท (แสงอาทิตย์, น้ำ และ ลม) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานโดยมี ดร. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในตอนนั้น ดร.วันดี จึงได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจ จึงได้จัดทำ Business Model ขึ้นมาด้วยความตั้งมั่น และตั้งใจผลักดันธุรกิจนี้จนประสบความสำเร็จ โดยเริ่มพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งแรกเมื่อ ปี ๒๕๕๓ หลังจากที่เกษียณอายุไปเมื่อปี ๒๕๔๙ และประสบปัญหาอย่างมากในการหาสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการเนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อน ทำให้สถาบันการเงินไม่มีข้อมูลด้านความเสี่ยง ต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงการกว่า ๑ ปี ต้องใช้ที่ปรึกษาการเงิน ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ที่ปรึกษาด้านประกันภัย ซึ่งทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงด้านการลงทุน ธนาคารกสิกรไทยเป็นสถาบันการเงินที่ช่วยสนันสนุนทางด้านการเงินด้วยโดยมีอัตราหนี้สินต่อทุนที่ ๖๐:๔๐ โดยเริ่มการลงทุนจากโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกที่โคราช เริ่มผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และส่งเข้าระบบจำหน่ายไฟ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ โดยธนาคารให้มีระยะเวลาประเมิน ๖ เดือนก่อนเริ่มพัฒนาโครงการที่ ๒ ผลปรากฎใน ๓ เดือนแรกว่าการผลิตไฟฟ้าดีกว่าเป้าหมายกว่า ๓๐% ทำให้ธนาคารเห็นโอกาสที่จะช่วยบริษัทพัฒนาโครงการที่เหลือที่ต้องใช้เงินลงทุนกว่า ๒๔,๐๐๐ ล้านบาท บริษัทได้รับการสนับสนุนจาก International Finance Corporation Member of World Bank Group ร่วมทุนในโครงการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มที่เหลือและร่วมให้ความสนันสนุนทางด้านการเงิน ตลอดจนนำเงินกู้ Climate Technology fund มาร่วมให้กู้กับสถาบันการเงินอื่นๆ อีก ๖ แห่ง ภายใต้การจัดการของธนาคารกสิกรไทย นอกจากนั้นบริษัทได้ควบรวมกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และระดมเงินทุน จนประสบความสำเร็จ
ดร.วันดี ในฐานะผู้บุกเบิกโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทยและอาเซียน ปัจจุบันมีโครงการโซลาร์ฟาร์ม ทั้งสิ้น ๓๖ โครงการ มีกำลังการผลิตกว่า ๒๖๐ เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จแรกด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย