ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ มอบหมายให้เลขาธิการสภาสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการและผู้แทนองค์กรสมาชิกเยี่ยมชมศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน จังหวัดตราด
๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๑

                เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ เวลา  ๑๕.๓๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มอบหมายให้ พลเรือตรีหญิง ศรีศุภรณ์ รุธิรวัฒน์ เลขาธิการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นางประยูร เหล่าสายเชื้อ นางศิริรัตน์ ธำรงธีระกุล นางอรุณศรี จงเจียมจิตต์ กรรมการอำนวยการ นางเยาวมาลย์ วัชระเรืองศรี นางรัศรินทร์ ลัดใหม่กุลวัฒน์ กรรมการบริหาร และนางสุดารัตน์ นาคามดี นายกสมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน กรุงเทพมหานครฯ และสมาชิก เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ในรัชกาลที่ ๙ โดยมีนายสุวรรณ พิมลแสงสุริยา ผู้จัดการศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยบรรยายสรุปและนำชมพิพิธภัณฑ์ในศูนย์ฯ พร้อมทั้งกล่าวถึง ความเป็นมาของการจัดแสดงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชาวกัมพูชาอพยพระหว่างปี พ.ศ.๒๕๒๒-๒๕๒๙  ณ  ศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน จังหวัดตราด

                นายสุวรรณ พิมลแสงสุริยา ผู้จัดการศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน ได้บรรยายสรุปด้วยความรู้สะเทือนใจนำ้ตาคลอเบ้า ต่อการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ได้พบเห็นเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้เจ็บป่วยชาวกัมพูชาที่อพยพเข้าเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เล่าว่า ย้อนกลับเวลาไปเมื่อปี ๒๕๒๒ เกิดสงครามกลางเมืองในกัมพูชา ทำให้ชาวเขมรต้องลี้ภัยเข้ามาในไทยผ่านชายแดนที่เขาล้าน จังหวัดตราด ชาย หญิง คนชรา และเด็ก จำนวนรวมกว่าสองแสนคนล้วนมีสภาพบอบช้ำจากการเดินเท้า ขาดอาหาร และป่วยไข้แต่ด้วยข้อตกลงทางการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้รัฐบาลไทยในเวลานั้นจำต้องส่งทหารผลักดันผู้ลี้ภัยขึ้นเขากลับไป หรือลงสู่ทะเลสากล

                เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ในรัชกาลที่ ๙ ทรงตัดสินพระทัย ในฐานะสภานายิกาสภากาชาดไทย เข้าช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม จัดตั้งค่ายผู้ลี้ภัย สร้างเรือนนอน โรงอาหาร สถานพยาบาล ที่เลี้ยงเด็กและโรงเรียนสอนหนังสือ รวมทั้งพระราชทานพระพุทธรูปหลวงพ่อแดงให้เป็นที่พึ่งทางใจของผู้พลัดถิ่น เมื่อเหตุการณ์สงบ ผู้ลี้ภัยบางส่วนเดินทางกลับประเทศ บางส่วนได้รับการช่วยเหลือไปพำนักในต่างประเทศ โดยผู้ลี้ภัยทุกคนล้วนซาบซึ้งในพระเมตตา อีกทั้งรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอื่น

                เหตุการณ์ผ่านไป หลายปีแล้ว เพื่อไม่ให้คนไทยลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้น และที่สำคัญได้เรียนรู้ถึงความสูญเสียยามบ้านเมืองวุ่นวาย ด้วยผู้คนขัดแย้งกันเอง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาราชการุณย์ขึ้นมาในบริเวณค่ายผู้ลี้ภัยเดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งมหาราชินี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ปี ๒๕๓๕ อาคารหลังเล็กชั้นเดียวซ่อนตัวอยู่ในหมู่แมกไม้และเนินดิน ผังอาคารรูปจัตุรัส หลังคาดาดฟ้าคอนกรีต สำหรับขึ้นไปชมทัศนียภาพโดยรอบ มีชายคากันแดดฝนแบบไทย ตรงกลางเปิดเป็นช่องแสงกระจกรูปหัวเม็ด ที่ยอมให้แสงธรรมชาติผ่านลงไปในอาคารตอนกลางวัน และส่องแสงจากภายในคล้ายประทีปตอนกลางคืน

                ทุกวันนี้มีแต่ผู้สัญจรผ่านเส้นทางนั้น จะสังเกตเห็นอนุสรณ์สถานที่สวยงาม ได้รับรางวัลเหรียญทองสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี ๒๕๓๖  ทุกวันนี้ผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ร้ายในครั้งนั้นจะรู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระราชกรณียกิจที่ยิ่งใหญ่ ต่อมนุษยชาติ ด้วยพระราชปณิธานที่แน่วแน่