สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดงานวันสตรีไทย ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ ภายใต้แนวคิด “สตรีไทย ก้าวไกลด้วยพระบารมี”
เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๗.๓๐ น. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปทรงเปิดงาน “วันสตรีไทย” ประจำปี ๒๕๖๑ ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงกอปรด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อพสกนิกรชาวไทย ด้วยทรงประกอบพระราชกรณียกิจคู่พระบารมี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงนำความร่มเย็นสุขสวัสดิ์มาสู่ประเทศชาติและพสกนิกรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชกรณียกิจเพื่อสตรีไทยอย่างเหลือล้นพ้นประมาณ อีกทั้งพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้วันที่ ๑ สิงหาคม เป็น“วันสตรีไทย” และให้ใช้ “ดอกกล้วยไม้คัทลียาควีนสิริกิติ์” เป็น ดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันสตรีไทย ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๖ เป็นต้นมาตราบเท่าทุกวันนี้ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และภาคีเครือข่าย ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ จึงร่วมกันจัดงาน “วันสตรีไทย” สืบเนื่องมาเป็นประจำทุกปีในปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ นี้ ได้กำหนดจัดงาน “วันสตรีไทย” ภายใต้แนวคิด “สตรีไทย ก้าวไกลด้วยพระบารมี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูรในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๖ พรรษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พระอุปถัมภิกาสภาสตรีแห่งชาติ ฯ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๖ พรรษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๖๓ พรรษา อีกทั้งเพื่อธำรงไว้ซึ่งวันสตรีไทยอันแสดงถึงพลังสตรีไทยที่สามารถเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือสังคมและเชิดชูเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาติให้ยั่งยืนสืบไป
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปทรงเปิดงาน “วันสตรีไทย” ประจำปี ๒๕๖๑ การจัดงานครั้งนี้ สภาสตรีแห่งชาติ ฯ พร้อมด้วยองค์กรสมาชิก ๒๑๑ องค์กร และภาคีเครือข่ายรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ อย่างหาที่สุดมิได้ จึงได้จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๖ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญดังนี้
๑. การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งสภาสตรีแห่งชาติฯ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญภาพพระราชกรณียกิจบางส่วนของแต่ละภาคมาจัดแสดงในวันสตรีไทย และสัญจรไปยังภาคต่างๆ ๕ ภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณและเพื่อจารึกพระเกียรติคุณไว้ให้ยั่งยืนสืบไป โดยนิทรรศการดังกล่าวได้นำเสนอพระราชกรณียกิจที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงมุ่งมั่นในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการอุปถัมภ์บำรุงพสกนิกร ให้มีความอยู่ดี กินดี อาทิ พระราชกรณียกิจในภาคตะวันเฉียงเหนือ ทรงส่งเสริมการทอผ้าแพรวาผ้าไหมมัดหมี่ให้กลับคืนสู่ความนิยมและสร้างรายได้เสริมที่สำคัญให้แก่ราษฎร พระราชกรณียกิจในภาคกลาง มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อสร้างอาชีพแก่ราษฎรและพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูหัตถกรรมแบบไทยโบราณซึ่งกำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลาให้กลับมาแพร่หลาย โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น พระราชกรณียกิจในภาคตะวันออก ทรงช่วยเหลือราษฎรผู้ยากไร้ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงราษฎรในประเทศเพื่อนบ้านที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นในประเทศไทยกรณีการจัดตั้งศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด และโครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล พระราชกรณียกิจในภาคเหนือโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ เพื่อราษฎรสามารถดำรงชีพอยู่ในพื้นที่ทำกินเดิมได้อย่างมีความสุขมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคทั้งปีและมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติ พระราชกรณียกิจในภาคใต้โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีแหล่งทำการประมงสำหรับชาวประมงขนาดเล็กเพิ่มขึ้น และการส่งเสริมอาชีพย่านลิเภา เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญภาพฉลองพระองค์ชุดไทยพระราชนิยม ได้แก่ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยศิวาลัย และชุดไทยจักรพรรดิ ดอกไม้ในพระนามาภิไธย จำนวน ๔ ชนิด ได้แก่ กล้วยไม้คัทลียาควีนสิริกิติ์ กุหลาบควีนสิริกิติ์ ดอนญ่าควีนสิริกิติ์ และบัวควีนสิริกิติ์ และด้วยพระเกียรติคุณแห่งพระราชกรณียกิจอเนกประการอันเป็นที่ทราบอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนอกประเทศทั่วโลก จึงมีผู้ขอทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติยศเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณกันเป็นอันมาก ดังตัวอย่างที่เชิญมาจัดแสดงในนิทรรศนี้ ได้แก่ เหรียญเซเรส เหรียญทองเฉลิมพระเกียรติคุณรางวัลหลุยส์ ปาสเตอร์ เป็นต้น
๒. การจัดทำพระฉายาลักษณ์พระราชทาน ซึ่งสภาสตรีแห่งชาติฯ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดทำขึ้น เพื่อมอบแก่สตรีไทย และประชาชนทั่วไปไว้บูชาเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลต่อครอบครัวและวงศ์ตระกูลอันแสดงออกถึงความจงรักภักดีสืบไป
๓. การประชุมเสวนาเรื่อง “สตรีไทย ก้าวไกลด้วยพระบารมี” เวลา ๐๙.๓๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดเสวนา “สตรีไทย ก้าวไกลด้วยพระบารมี”เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๖ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ โดยการถ่ายทอดประสบการณ์จากบุคคลที่ได้รับ พระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่าน ส่งผลให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ครูผ้า ครูหลวง และเพื่อให้สตรีไทยและประชาชนทุกภาคสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ โดยมีวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้ดำเนินการสนองแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองในการดำเนินโครงการฟาร์มตัวอย่างบ้านอิฐ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง และโครงการฟาร์มตัวอย่างบ้านยางกลาง หมู่ที่ ๓ ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทองนายสุวรรณ พิมลแสงสุริยา ผู้จัดการศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย บ้านเขาล้าน จังหวัดตราด ในการถ่ายทอดประสบการณ์กรณีชาวบ้านหนีสงครามตอนเขมรแตกและการจัดตั้งศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด นางคำสอน สระทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้ดำเนินการสนองแนวพระราชดำริ ในฐานะครูหลวงด้านการทอผ้า ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณส่งผลให้ราษฎรมีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลังจากนั้นจะจัดนิทรรศการสัญจรไปยังภูมิภาคต่างๆ ๕ ภูมิภาค จัดการประชุมเสวนาเชิงปฏิบัติการ ๕ ครั้ง ร่วมกับองค์กรสมาชิกแต่ละภาค และประชาชนในพื้นที่ ดังนี้
๓.๑) พระราชกรณียกิจในภาคกลาง ได้แก่ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และ ฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ จังหวัดอ่างทอง สัญจรไปที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๓.๒) พระราชกรณียกิจในภาคเหนือ โครงการการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง และ โครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติ สัญจรไปที่ จังหวัดเชียงใหม่
๓.๓) พระราชกรณียกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การส่งเสริมอาชีพราษฎรโดยการส่งเสริมการทอผ้าแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่ สัญจรไปที่ จังหวัดอุบลราชธานี
๓.๔) พระราชกรณียกิจในภาคตะวันออก ศูนย์ราชการุณย์เขาล้าน จังหวัดตราด และโครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล สัญจรไปที่ จังหวัดตราด
๓.๕) พระราชกรณียกิจในภาคใต้ โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส โดยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) และการส่งเสริมอาชีพราษฎรในการจักสานย่านลิเภา สัญจรไปที่ จังหวัดสงขลา
โดยผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ ๙๐๐ คน ประกอบด้วย คณะกรรมการสภาสตรีแห่งชาติฯ สมาชิกสมทบ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ทั้งสมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ และองค์กรสตรีที่ยังมิได้เป็นสมาชิก และประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้ภายในงานมีการจัดกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำโครงการเชิดชูเกียรติสตรีไทยดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๑ เพื่อเข้ารับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติสตรีไทยดีเด่น โดยพิจารณาคัดเลือกสตรีไทยดีเด่นจากจังหวัด องค์กรสมาชิกสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ และการสรรหาโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั่วประเทศ จำนวน ๑๕๐ รายและเยาวสตรีไทยดีเด่น จำนวน ๒๕ ราย ซึ่งแบ่งประเภทเยาวสตรีไทยดีเด่นออกเป็น ๒ ประเภท คือ เยาวสตรีสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านการแข่งขันมารยาทไทย รำไทย ฝีปากไทย ฝีมือไทย และเยาวสตรีสืบสานวรรณกรรมไทยโดยการประกวดเรียงความ นอกจากนี้ยังมีการออกบูธแสดงสินค้าจากภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ อาทิ กรมกิจการสตรีสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ มูลนิธิสายใจไทย ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฝีมือคนพิการ สำนักส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น