สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดกิจกรรมร้องเพลงชาติไทย เนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย และครบรอบ ๑๐๐ ปี ธงชาติไทย : ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐
เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๐๐ น. นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๕๘ –๒๕๖๑) พร้อมด้วย นางเบญจมาศ ปริญญาพล รองประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ นางจิตรี จิวะสันติการ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ฯ นางสาวเบญจมาศ รุจิรวงศ์ ประธานคณะกรรมการสมาชิกสมทบสภาสตรีแห่งชาติฯ คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการสมาชิกสมทบ สมาชิกสมทบ และองค์กรสมาชิก ได้จัดกิจกรรมร้องเพลงชาติไทย เนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย และครบรอบ ๑๐๐ ปี ธงชาติไทย ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาของธงชาติไทย จาก นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี มาจัดแสดงให้สมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ได้ชมด้วย ณ หอประชุมมนังคศิลา โดยมีประวัติความเป็นมาดังนี้
๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ เป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปี ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระราชทานธงไตรรงค์ ให้เป็นธงชาติของประเทศไทย เพื่อเป็นการรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน และเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญในฐานะที่ธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์แห่งการร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวของคนไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ ๒๘ กันยายนของทุกปี เป็น “วันพระราชทานธงชาติไทย” ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาติที่มิใช่วันหยุดราชการ โดยให้เริ่มตั้งแต่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปีเป็นต้นไป ดังนั้น เนื่องในโอกาสของการเฉลิมฉลองวันพระราชทานธงชาติไทยที่จะจัดขึ้นเป็นปีแรก รัฐบาลจึงจัดให้มีพิธีเชิญธงชาติขึ้นสู่เสาในเวลา ๐๘.๐๐ น.
ธงชาตินับเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของแต่ละชาติ ที่พอมองเห็นก็สามารถจะบอกได้ทันทีว่าเป็นสัญลักษณ์ของชาติใด นอกจากนี้ ธงชาติมักมีเรื่องราว มีความเป็นมาที่มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณีอันสำคัญของแต่ละชาติอย่างแนบแน่น ทำให้ธงชาติกลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมาย ความลึกซึ้ง และทุกประเทศถือว่าเป็นของสูงที่ควรแก่การหวงแหนและเคารพ ตามประวัติศาสตร์เรื่องธงชาติที่บันทึกไว้ประเทศไทยของเรามีการใช้ธงชาติ เป็นสัญลักษณ์ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นธงสีแดงประดับไว้ตามเรือเดินสมุทรต่างๆ จากนั้นก็วิวัฒนาการมาเป็นธงจักรสีขาวในผืนผ้าแดง มาจนถึงธงช้างสีขาวบนผ้าสีแดง ในยุคของกรุงรัตนโกสินทร์ จนมาถึงรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ จึงได้มีพระราชดำริเปลี่ยนมาเป็นธงไตรรงค์ดังเช่นปัจจุบันเพื่อความเป็นสากล ทรงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย และทรงใช้พระนามแฝง “วรรณะสมิต” อธิบายถึงความหมายของสีทั้ง ๓ ลงตีพิมพ์ในหนังสือ “ดุสิตสมิต” ฉบับพิเศษ ๒๔๖๑ มีข้อความดังนี้
“ขอร่ำ รำพรรณบรรยาย ความคิดเครื่องหมายแห่งสีทั้งสามงามถนัด
ขาว คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์และธรรมะคุ้มจิตไทย
แดง คือโลหิตไซร้ ซึ่งยอมสละได้เพื่อรักษะชาติศาสนา
น้ำเงิน คือสีโสภา อันจอมประชา ธ โปรดเป็นของส่วนองค์
จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึงเป็นสีธงที่รักแห่งชาวไทย
ทหารอวตารนำไป ยงยุทธวิชัยวิชิตก็ชูเกียรติสยาม”
จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา ๑๐๐ ปี ที่ธงไตรรงค์ได้ทำหน้าที่ในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วโลก