ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ในฐานะ CEO SPCG ได้รับเกียรติจาก ISTIC ร่วมเป็นวิทยากรขึ้นพูดในงาน 3rd Biennial International Conference on Women in Science, Technology & Innovation ณ โรงแรม Seri Pacific เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
เมื่อวันที่ ๑๕-๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๕ (พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๑) ในฐานะประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ได้รับเกียรติจาก ISTIC เชิญเป็นวิทยากรและร่วมเสวนา ในหัวข้อ “Innovative Solutions by Woman for UN Sustainable Development Goals ๒๐๑๖-๒๐๓๐” ในงาน 3rd Biennial International Conference on Women in Science, Technology & Innovation เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ISTIC เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้ UNESCO ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือของนานาชาติทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม เพื่อให้ทั่วโลกเคารพในความยุติธรรม กฎหมาย สิทธิและเสรีภาพที่มนุษย์พึงมี โดยไม่ถือชาติ เพศ ภาษาหรือศาสนา ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งการประชุม ในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อที่จะแชร์ประสบการณ์ความสำเร็จในนวัตกรรมใหม่ๆที่สามารถช่วยเรื่องปัญหาสุขภาพของผู้หญิงและเรื่องธุรกิจการพัฒนาที่ยั่งยืนในนิยามของสหประชาชาติ โดยจะเสวนาใน ๕ หัวข้อใหญ่ คือ ๑. Education and Culture ๒. Science and Health ๓. Engineering and Technology ๔. Social Innovation/ Entrepreneurship ๕. SDG & Youths
โดย ISTIC ได้เล็งเห็นถึงบทบาทของ ดร.วันดี ซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาคุณภาพสตรีในทุกๆด้าน ในฐานะประธานประสตรีแห่งชาติฯ และยังเป็นสตรีที่บุกเบิก พัฒนา โครงการโซลาร์ฟาร์ม ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทยและในประชาคมอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นการนำพลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้า ทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ ลดสภาวะโลกร้อนและส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยังยืนในเรื่องพลังงานต่อสิ่งแวดล้อม
การเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก Dato’ Dr. Samsudin Tugiman, Chairman of ISTIC Governing Board เป็นผู้กล่าวเปิดงานและดำเนินรายการโดย Dr. Asma Abdullah, Intercultural Specialist, Malaysia สำหรับรายชื่อผู้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อที่ ๔ “Social Innovation/Entrepreneurship”ประกอบด้วย
๑. Dr.Wandee Khunchornyakon Juljarern, Chairperson and CEO, SPCG Public Company Limited and President of The National Council of Women of Thailand (NCWT)
๒. Ms.Hema Vallabh, Social Entrepreneur, Engineer, Co-Founder at WomHub/WomEng and Founder at The Passionate Professional, South Africa
๓. Ms.Shahnas Oli Mohamed, Managing Director, Natural Wellness Industries Sdn, Bhd., Malaysia.
ดร.วันดี ได้กล่าวถึง การเริ่มต้นโครงการโซลาร์ฟาร์มว่า รัฐบาลสมัยที่ ดร. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน รวมทั้งได้เปิดโอกาส ให้เอกชนเข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท
ดังนั้นจึงได้เลือกทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะเป็นพลังงานหมุนเวียน และเป็นพลังงานสะอาด ไม่มีมลภาวะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยลดสภาวะโลกร้อน จึงได้ตระหนักและเห็นโอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจนี้ให้ประสบความสำเร็จ จึงได้คิดค้น Business Model ขึ้น และร่วมมือพัฒนาโครงการโดยแรกเริ่มได้รับเงินสนับสนุนจาก IFC (International Finance Corporation) ซึ่งมี บทบาทสำคัญในการช่วยให้โครงการแห่งแรกคือ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (โคราช ๑) จำกัด ตั้งอยู่ที่ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ของ SPCG ประสบความสำเร็จ ด้วยการสนับสนุนด้านเงินลงทุนจาก กองทุน Clean Technology Fund บริษัทได้นำมาผสมผสานกับ เงินกู้ของสถาบันการเงิน เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงิน รวมถึงบริษัทมีพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งคือ KYOCERA Corporation ประเทศญี่ปุ่นที่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ก่อตั้งมายาวนานกว่า ๖๐ ปี มีประวัติการผลิตแผงมากว่า ๓๕ ปี รับประกันคุณภาพการผลิตไฟฟ้ายาวนานถึง ๒๕ ปี
Kyocera ก่อตั้งโดย ดร.อินาโมริ คาซึโอะ ซึ่งเป็นผู้ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเชิญมาให้ฟื้นฟู เจแปน แอร์ไลน์ จากล้มละลายมาสู่ การเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นเป็นต้นแบบของ SPCG ในการพัฒนาองค์กร โดยยึดหลักการทำงานตาม สูตรแห่งปรัชญา ๑๒ ประการ และหลักแห่งความสำเร็จ SUCCESS = Ability x Effort x Attitude ทำให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาโครงการจนประสบความสำเร็จ
SPCG ได้พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือที่เรียกว่า โซลาร์ฟาร์ม จำนวน ๓๖ โครงการแล้วเสร็จ รวมกำลังการผลิตกว่า ๒๖๐ เมกะวัตต์ อยู่ในพื้นที่ ๑๐ จังหวัด ของประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานและกระจายรายได้สู่ชุมชน นอกจากนี้โซลาร์ฟาร์มทั้ง ๓๖ แห่ง ยังสามารถช่วยลดสภาวะโลกร้อนเทียบเท่ากับลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลกประมาณ
๒๐๐ ,๐๐๐ ตัน CO2ต่อปี
จากนั้น SPCG ได้ต่อยอดความสำเร็จมาสู่ธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ภายใต้ บริษัท โซล่าร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ SPR Solar Roof ซึ่งใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์และอุปกรณ์แบบเดียวกันทั้งหมดกับที่ใช้ในโซลาร์ฟาร์ม เพื่อสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และมาตรฐานความปลอดภัยอย่างสูงสุด เพื่อให้บรรลุผลตามนโยบายคุณภาพของบริษัท คือ “Best Value, Best Design, Best Output and Best Service To All of Customer”
นอกจากนี้ ดร.วันดี ได้กล่าวถึงบทบาทในการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาสตรีไทยในฐานะประธานสตรีแห่งชาติฯ ว่า สังคมไทยนั้นสตรีมีบทบาทสำคัญทั้งในบ้านและนอกบ้าน ผู้หญิงไทยไม่เพียงมีสถานะทางสังคมที่เท่าเทียมกับผู้ชายเท่านั้น แต่โดยแก่นแท้ยังมีสถานะที่เหนือกว่าผู้ชายไทย โดยเฉพาะในบ้านด้วย จึงขอเชิญชวนให้ผู้หญิงทั่วโลก ช่วยกันเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงโลกเราให้ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งเรื่องโลกหรือสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเรื่องพลังงานหมุนเวียน และ พลังงานทดแทนที่เป็นประโยชน์ ในการช่วยลดโลกร้อน สิ่งสำคัญที่จะทำให้เป็นจริงได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน คือ รัฐบาลต้องมีนโยบายช่วยชี้นำสังคมที่แน่วแน่ ชัดเจนเหมือนที่เกิดขึ้นในเยอรมัน หรือ ประเทศต่าง ๆในยุโรป และในไทยที่เป็นอยู่ควบคู่กับการให้การเรียนรู้ต่อสังคมและผู้หญิง ถือเป็นแกนหลักที่ช่วยได้มาก ขอเพียงแต่เราช่วยกันทำให้เกิดขึ้น โลกจะมีความมั่นคงสวยงามเพื่อคนรุ่นต่อ ๆ ไปได้มีความสุขกับสิ่งแวดล้อมที่ดี
“สภาสตรีแห่งชาติฯเป็นศูนย์กลางประสานงาน ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรสตรีทั่วประเทศ เชิดชู ส่งเสริม สนันสนุนเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมให้สืบทอดต่อไป ตลอดจน การปฏิบัติงานที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ สถานะภาพและสมรรถภาพของสตรีไทย โดยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมสตรีไทยทุกๆด้านอย่างต่อเนื่อง เช่น การเชิดชูสตรีดีเด่นประจำปี เพื่อเป็นการตอบแทนคุณความดีที่ได้สร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม และการสนันสนุนการสร้างอาชีพของสตรีไทยในทั่วทุกภูมิภาค เป็นต้น” ดร.วันดี กล่าว
ดร.วันดี ยังได้น้อมนำพระราชดำรัสใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง
รัชกาลที่9 ที่ทรงตรัสว่า “ขาดทุน คือกำไร ( Our Loss Is Our Gain ) การเสียคือการได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุข เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้” พระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔
นอกจากนี้ ดร.วันดี ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือทางสายกลาง มาปฎิบัติใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวัน