๑๘๒. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ถวายผ้ากฐินพระราชทานประจำปี ๒๕๖๕ ณ วัดกลางมิ่งเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด
วันศุกร์ที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ถวายผ้ากฐินพระราชทานประจำปี ๒๕๖๕ เพื่อน้อมนำมาถวายพระสงฆ์จำพรรษาการถ้วนไตรมาส ณ วัดกลางมิ่งเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด (พระอารามหลวง) และเพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยมีพระครูกิตติคุณวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดกลางมิ่งเมือง (พระอารามหลวง) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี ๒๕๖๕ พร้อมด้วย นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ อุบาสก อุบาสิกา และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ด และคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร องค์กรสมาชิก และสมาชิกสมทบ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯเข้าร่วมพิธี ยอดทำบุญกฐินพระราชทาน รวมทั้งสิ้น จำนวน ๑,๗๗๗,๗๘๙ บาท (หนึ่งล้านห้าแสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันเจ็ดร้อยแปดสิบเก้าบาทถ้วน) ณ วัดกลางมิ่งเมือง(พระอารามหลวง) อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด
วัดกลางมิ่งเมือง เดิมชื่อวัดกลาง เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ด บนถนนเจริญพาณิชย์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างก่อนตั้งเมืองร้อยเอ็ด ในขณะนั้นอยู่ในการปกครองของขอม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป "พระพุทธมิ่งเมืองมงคล” ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ๒๐๘๔ พระอุโบสถสร้างขึ้นต้น รัชกาลที่ ๓ เป็นศิลปะแบบล้านช้างขนาดใหญ่ที่สุดและแปลกที่สุด
ในสมัยของนายวิญญู อังคณารักษ์เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้ขอพระราชทานยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๘
ในอดีตเคยใช้วัดกลางมิ่งเมืองเป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำ พิพัฒน์สัตยา ส่วนในปัจจุบัน เป็นสถานที่ศึกษาปริยัติธรรมและสถานที่สอบธรรมสถานชื่อโรงเรียนสุนทรธรรมปริยัติ สังกัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๓ และโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ ฝึกสอนเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔
สถาปัตยกรรมอาคารภายในวัดมี อุโบสถที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย กว้าง ๑๒.๕๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร บริเวณผนังรอบอุโบสถมีลวดลายภาพวาด แสดงถึงพุทธ ประวัติ สวยงาม และมีค่าทางศิลปะ โดยภายในพระอุโบสถแห่งนี้ ประดิษฐานปูชนียวัตถุ ซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถมีนามว่า พระพุทธมิ่งเมือง นอกจากนี้ก็ยังมีอาคารสถาปัตยกรรมอื่นๆภายในวัดอีก เช่น ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๗ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ กุฏิสงฆ์จำนวน ๙ หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒ หลัง และตึก ๗ หลัง และวิหารกว้าง ๖ เมตร ยาว ๓๕ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖เป็นอาคารคอนกรีต เป็นต้น
ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ