๑๒๘. สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเปิดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “ พระบารมีส่องหล้า ต่อยอดการพัฒนาสตรีไทย”
วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๖.๐๐ น. สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเปิดงานวันสตรีไทย ประจำปี ๒๕๖๕ ภายใต้แนวคิด “ พระบารมีส่องหล้า ต่อยอดการพัฒนาสตรีไทย” ณ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ชั้น ๗ ไอคอนสยาม โดยมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันสตรีไทย ประจำปี ๒๕๖๕ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ทำคุณประโยชน์ สตรีไทยดีเด่น ยุวสตรีไทยดีเด่น และเครือข่ายองค์กรสตรีทั่วประเทศ เฝ้าฯรับเสด็จ
การจัดงานวันสตรีไทย ประจำปี ๒๖๕๖ นี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “พระบารมีส่องหล้า ต่อยอดการพัฒนาสตรีไทย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เนื่องในโอกาสวมหามงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ๓ มิถุนายน ๒๕๖๕ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๒ เมษายน ๒๕๖๕ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและความจงรักภักดี เพื่อธำรงไว้ซึ่งวันสตรีไทย อันเป็นพลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาช่วยเหลือสังคม ทั้งนี้ งานวันสตรีไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวมพลังองค์กรสมาชิกสภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ องค์สมาชิก และภาคีเครือข่ายสตรีทั่วประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการพร้อมใจกันทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล อีกทั้งร่วมกันกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของวันสตรีไทย
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับพระราชอาสน์บนเวที จากนั้น นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือวันสตรีไทย ประจำปี ๒๕๖๕ นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันสตรีไทย ประจำปี ๒๕๖๕ ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการจัดงานฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก
จากนั้น นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันสตรีไทย ประจำปี ๒๕๖๕ กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของวันสตรีไทยและวัตถุประสงค์การจัดงานวันสตรีไทย ประจำปี ๒๕๖๕ พลตำรวจตรีหญิง คุณหญิงอัสนีย์ เสาวภาพ ประธานคณะกรรมการตัดสินและสรรหาสตรีไทยดีเด่น กราบบังคมทูลเบิกคณะบุคคลต่าง ๆ ดังนี้ ผู้มีอุปการคุณ จำนวน ๑๐๐ ราย สตรีไทยดีเด่น จำนวน ๒๔๑ คน นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กราบบังคมทูลเบิกเยาวสตรีไทยดีเด่น จำนวน ๒๔ ราย เข้ารับพระราชทานเข็มที่ระลึก และเกียรติบัตร ตามลำดับ
จากนั้น ขบวนอัญเชิญเทียน “วันสตรีไทย ประจำปี ๒๕๖๕” เคลื่อนเข้าสู่บริเวณพิธี นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ทูลเกล้าฯ ถวายเทียนชนวน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงรับเทียนชนวน และทรงจุดเทียนชนวนจากโคมไฟฟ้าที่เจ้าพนักงานพระราชพิธีถือถวาย เสด็จฯ ไปทรงจุดเทียนชัย เปิดงาน “วันสตรีไทย ประจำปี ๒๕๖๕” นางวันดี กล่าวนำถวายสัตย์ปฏิญาณของสตรีไทย
โอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระดำรัสเปิดงานวันสตรีไทย ประจำปี ๒๕๖๕ ความว่า "ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้มาเปิดงานวันสตรีไทย ประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ จัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ขอแสดงความชื่นชมกับสตรีไทยดีเด่นและเยาวสตรีไทยดีเด่นทุกท่านที่ได้รับเกียรติและการยกย่องในครั้งนี้ ตั้งแต่ข้าพเจ้าจำความได้ก็ได้เห็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชอุตสาหะ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เคียงข้างพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนในบรรดาพระราชกรณียกิจนานัปการนี้ ยังมีงานที่ทรงรับเป็นพระราชภาระอย่างสำคัญ นั่นคือ การส่งเสริมให้สตรีไทยในท้องถิ่นต่าง ๆ สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นอาชีพเสริมควบคู่ไปกับอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม ทรงเชื่อมั่นว่าคนไทยทุกคนมีศิลปะอยู่ในสายเลือด และจิตวิญญาณของการเป็นช่างฝีมือ ดังที่ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ ครั้งหนึ่งว่า ทรงภูมิใจเสมอมาว่าคนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพใด อยู่แห่งหนตำบลใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้ได้มีโอกาสฝึกฝน ก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็นเด่นชัด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สืบสาน รักษา และสร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ทั้งให้หาครูและผู้เชี่ยวชาญมาช่วยฝึกอบรม รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาผลงานร่วมกับชาวบ้านในท้องถิ่นทั่วภูมิภาคของประเทศจนกลายเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เพิ่มให้แก่ทุกครัวเรือน นับเป็นต้นกำเนิดของโครงการศิลปาชีพพิเศษ และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในปัจจุบัน
พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ บำเพ็ญมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานนั้น ล้วนมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต ฐานะความเป็นอยู่ ตลอดจนบทบาทและสถานภาพของสตรีไทยให้สูงขึ้น ทรงเป็นทั้งแบบอย่างอันประเสริฐและแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้สตรีไทยตระหนักถึงศักยภาพของตน และสามารถพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่นำไปใช้สร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ตนเอง แก่ครอบครัว แก่สังคม และแก่ประเทศชาติได้
ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษานี้ ข้าพเจ้าจึงขอเชิญชวนให้สตรีไทยและเยาวสตรีไทยทุกคน ตระหนักคุณค่าของตนเองและตั้งใจพยายามพัฒนาตนเองอยู่อย่างเสมอ เพราะเราทุกคนต่างก็มีศักยภาพที่จะเป็นพลังสร้างสรรค์สังคมไทยและพัฒนาชาติบ้านเมืองได้ด้วยกันทั้งสิ้น และจะเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณได้อย่างดีที่สุดสมกับที่ได้ทรงอุทิศพระองค์ ดังพระราชสมัญญา "แม่ของแผ่นดิน" มาโดยตลอด และจะทรงเป็นแม่ในใจของคนไทยตราบชั่วนิรันดร์กาล
จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จไปยังบริเวณจัดนิทรรศการทอดพระเนตรนิทรรศการต่าง ๆ ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นิทรรศการของสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นิทรรศการ ๑๓๐ ปีกระทรวงมหาดไทย และทอดพระเนตรนิทรรศการ และกิจกรรมของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมงาน
เมื่อแล้วเสร็จพิธี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินออกจากทรู ไอคอน ฮอลล์ ไอคอนสยาม กลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ขอบคุณ ข้อมูล สารนิเทศ กระทรวงมหาดไทย
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สภาสตรีแห่งชาติฯ