UNFCCC เชิญ CEO SPCG (ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ) โชว์วิสัยทัศน์บนเวทีโลก “ดร.วันดี” ชูไทยเป็นผู้นำความมั่นคงด้านพลังงานอาเซียน หนุนนโยบายรัฐเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน-ทดแทน ช่วยลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน ในงาน COP 22 ที่ประเทศ โมร็อกโก
เมื่อวันที่ ๑๔ – ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG และ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๕ (พ.ศ.๒๕๕๘ – ๒๕๖๑) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเสวนา ในเวทีการประชุมประเทศทั่วโลก สหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC ในหัวข้อ “2016 Momentum for Change: Women for Results Event” ในงาน 22nd Conference of the Parties หรือ COP 22 ณ เมืองมาร์ราเกซ ประเทศโมร็อกโก
โดยการประชุม COP 22 ในครั้งนี้ จะเสวนาในหัวข้อ ความเท่าเทียมทางเพศ, การเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิงเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และการดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการแสดงให้เห็นถึง ผู้หญิงที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ซึ่ง ดร.วันดี เป็นผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกและพัฒนา โซลาร์ฟาร์ม ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทยและในประชาคมอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นการนำพลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้า ทำให้เกิดประโยชน์ ตามนโยบายของ UNFCCC ที่เล็งเห็นว่า “พลังงานทางเลือก (Renewable Energy)” เป็นหนทางแก้ไขปัญหาโลกร้อนจากภาวะเรือนกระจกที่ดีที่สุดทางหนึ่ง
การเสวนา ดำเนินโดย Lorena Aguilar,Global Senior Gender Adviser, International Union for the Conservation of Nature และมี Patricia Espinosa, Executive Secretary, UNFCCC เป็นผู้กล่าวเปิด.....
สำหรับรายชื่อผู้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “2016 Momentum for Change: Women for Results Event” บทบาทของสตรีที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการช่วยลดสภาวะโลกร้อน เพื่อให้เกิดการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ตามเป้าหมาย ๑๗ ข้อ ของ UN ให้บรรลุตามเป้าหมาย สิ้นสุดความยากจน ปกป้องโลก และให้มวลมนุษยชาติมีความกินดีอยู่ดี เวทีเสวนาประกอบด้วย.....
๑. Lilianne Ploumen, Minister for Foreign Trade and Development Cooperation, Government of The Netherlands แสดงวิสัยทัศน์ ถึงบทบาทหน้าที่ผู้หญิงและผู้ชายที่ต้องร่วมกันทำในทุกกิจกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ เน้นให้ความสำคัญในความเท่าเทียมระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย
๒. Julie Bishop, Minister for Foreign Affairs, Government of Australia แสดงวิสัยทัศน์ ถึงการสนับสนุนกิจกรรมการส่งเสริมด้านการลดโลกร้อน ด้วยการจัดสรรงบประมาณให้แก่กลุ่ม องค์กรเอกชนที่ทำกิจกรรมโดยไม่หวังผลกำไร ส่งเสริมเรื่องการศึกษา ความรู้แก่เยาวชนเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม
๓. Nawal Al Hosany, Director of Sustainability & Brand, Masdar and Programme Director of WiSER แสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องการเสริมสร้างศักยภาพสตรีให้มีบทบาทมากขึ้นในสังคม ในด้านการศึกษา การเมือง เพื่อให้สตรีมีบทบาทในการพัฒนาตนเอง
๔. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) และ
ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๕ (พ.ศ.๒๕๕๘ – ๒๕๖๑)
๕. Jacqueline Novogratz, CEO, Acumen แสดงวิสัยทัศน์ว่า เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจจำหน่ายระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับใช้ในครัวเรือน โดยการให้สตรีที่เป็นแม่บ้านช่วยทำประชาสัมพันธ์และจำหน่ายทั่วแอฟริกา ซึ่งเป็นการส่งเสริมการสร้างงานแก่สตรี ช่วยให้ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ ยกระดับคุณภาพชีวิตกว่า 70 ล้านคน
๖. Lakshmi Puri, Deputy Executive Director, UN Women แสดงวิสัยทัศน์ว่า UN ได้เผยแพร่นโยบาย Sustainable Development Goals จำนวน 17 ข้อ สำหรับเป็นแนวทางการพัฒนาแก่ทุกประเทศเพื่อขจัดความยากจนให้สิ้นไป และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียมของสตรีและ ยุติการกระทำรุนแรงต่อสตรี
๗. Laurence Tubiana, Climate Champion, Government of France (TBC)
๘. Hakima El Haite, Delegate Minister in Charge of Environment, Climate Champion, Government of Morocco (TBC)
ดร.วันดี แสดงวิสัยทัศน์ในเวที COP 22 ว่า เมื่อปี ค.ศ.2010 ยุคที่ คุณปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เชิญชวนให้เอกชนมาลงทุนทำพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า แต่ไม่มีรายใดกล้าลงทุน จึงได้เดินทางไปหาแหล่งเงินกู้จากที่อื่น ๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ จนได้ ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ มาปล่อยกู้ให้ ฝ่ายไทย คือ ธนาคารกสิกร พัฒนาโซลาร์ฟาร์มจนประสบความสำเร็จทั้ง 36 โครงการ ทำให้รัฐบาลในยุคต่อๆ มา จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ส่งเสริมการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นไฟฟ้า และกลายเป็นหนึ่งในระบบไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพลังงานไทย ช่วยสร้างงาน ลดสภาวะโลกร้อน ทั้งยังขยายโอกาสทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการเอกชนอื่น ๆ เข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนเป็นจำนวนมาก เกิดการลงทุนในประเทศหลายแสนล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานตามมาอีกมากมาย
ดังนั้นจึงเป็นเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งว่า สังคมไทยนั้นสตรีมีบทบาทสำคัญทั้งในบ้านและนอกบ้าน ผู้หญิงไทยไม่เพียงมีสถานะทางสังคมที่เท่าเทียมกับผู้ชายเท่านั้น แต่โดยแก่นแท้ยังมีสถานะที่เหนือกว่าผู้ชายไทย โดยเฉพาะในบ้านด้วย จึงขอเชิญชวนให้ผู้หญิงทั่วโลก ช่วยกันเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงโลกเราให้ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งเรื่องโลกหรือสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเรื่องพลังงานหมุนเวียน และ พลังงานทดแทนที่เป็นประโยชน์ ในการช่วยลดโลกร้อน สิ่งสำคัญที่จะทำให้เป็นจริงได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน คือ รัฐบาลต้องมีนโยบายช่วยชี้นำสังคมที่แน่วแน่ ชัดเจนเหมือนที่เกิดขึ้นในเยอรมัน หรือ ประเทศต่าง ๆในยุโรป และในไทยที่เป็นอยู่ควบคู่กับการให้การเรียนรู้ต่อสังคมและผู้หญิง ถือเป็นแกนหลักที่ช่วยได้มาก ขอเพียงแต่เราช่วยกันทำให้เกิดขึ้น โลกจะมีความมั่นคงสวยงามเพื่อคนรุ่นต่อ ๆ ไปได้มีความสุขกับสิ่งแวดล้อมที่ดี