๓๒. นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ได้รับเชิญร่วมประกอบพิธี "พิธีบายศรีสู่ขวัญ” ให้บุตรชายสมาชิกสมาค ออกไปทำหน้าที่ชายชาติทหาร เพื่อเรียกขวัญ ให้เป็นสิริมงคล ตามวัฒนธรรมอันดีงามของภาคอีสาน
๐๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕

วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๕ นางกอบแก้ว คงน้อย  นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ พร้อมคณะกรรมการและสมาชิกสมาคม  ไปร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ หลานชายคุณอุดร รัตน์ประเสริฐกุล ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี พิธีบายศรีสู่ขวัญ และรำเรียกขวัญ เป็นวัฒนธรรมอันดีงามของภาคอีสาน จัดทำขึ้นเพื่อเรียกขวัญและให้กำลังใจหลานชายที่จะต้องจากไปทำหน้าที่ชายชาติทหารที่กรุงเทพมหานคร จัดทำขึ้นที่ร้านฉำฉาคาเฟ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

ประเพณีการสู่ขวัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องขวัญหรือจิตใจอันก่อให้เกิดกำลังใจที่ดีขึ้น ชาวอีสานเห็นความสำคัญทางด้านจิตใจมาก ในการดำเนินชีวิตแต่ละช่วง มักมีการสู่ขวัญควบคู่กันเสมอ จึงพบเห็นการสู่ขวัญทุกท้องถิ่นในภาคอีสาน

 

การสู่ขวัญ เรียกอีกอย่างว่า การสูดขวัญ หรือการสูดขวน เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่คน หรือเสริมสิริมงคลแก่บ้านเรือน ล้อเลื่อน เกวียน วัว รถ เป็นต้น การสู่ขวัญจึงเป็นพิธีกรรมหนึ่ง ที่ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบำรุงขวัญถือเป็นการรวมสิริแห่งโภคทรัพย์

 

ในพิธีสู่ขวัญ บางทีเรียกว่า พิธีบายศรี พิธีสูดขวัญ หรือบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวอีสาน และนิยมทำกัน แทบทุกโอกาส จะมีการทำบายศรีประกอบในพิธี โดยเป็นบายศรีแบบดั้งเดิมหรือแบบประยุกต์ ซึ่งการทำบายศรีแบบประยุกต์นี้ จะทำตามจินตนาการของผู้ทำบายศรีให้เกิดความสวยงามวิจิตรพิสดารและสอดคล้องกับความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ โดยชาวอีสานยังคงยึดถือและปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน

 

รายงาน : สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี

เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์สภาสตรีแห่งชาติฯ

ดาวน์โหลด