๑,๐๑๓. ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖ จัดประชุมใหญ่สามัญ ชูผลงานกว่า ๑,๐๐๐ กิจกรรม ขอบคุณที่ปรึกษาและขอบคุณความร่วมมือร่วมใจจากองค์กรสมาชิก จำนวน ๒๑๕ องค์กร ทั่วประเทศ และแสดงความยินดี กับประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ สมัยที่ ๒๗ คนใหม่
๐๙ เมษายน ๒๕๖๕

วันพฤหัสบดีที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น.ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีสมาคมแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๖ (พ.ศ ๒๕๖๑ - ๒๕๖๕ ) เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ ๔๒ ประจำปี ๒๕๖๕ โดยผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน   ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๖ อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์อุปถัมภิกาสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ก่อนการเริ่มประชุม    ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ที่ปรึกษาและอดีตประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ดร.เรือนแก้ว กุยยกานนท์ แบรนด์ท นางยุวดี นิ่มสมบุญ นางเยาวเรศ ชินวัตร พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร และองค์กรสมาชิก จำนวน ๒๑๕ องค์กร อาทิ สมาคมสตรีไทยแห่งประเทศไทยฯ สมาคมสโมสรวัฒนธรรมหญิง สมาคมสตรีเพื่อสตรี สายปัญญาสมาคม สมาคมแม่บ้านอาสาสมัครแห่งประเทศไทย สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย สมุทรปราการ สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี สมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนไทยจังหวัดบุรีรัมย์ สมาคมสวัสดิการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จังหวัดเพชรบุรี สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยเชียงใหม่ สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน จังหวัดูเก็ต เป็นต้น เข้าร่วมประชุมตามระเบียบวาระ ๑ – ๗ โดยระเบียบวาระที่ ๖ เป็นเรื่องพิจารณาเห็นชอบระเบียบสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ และในช่วงเวลา ๑๔.๓๐ น. นายกสมาคม หรือผู้แทนสมาคมองค์กรสมาชิกสามัญที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง ลงทะเบียนตามระเบียบวาระที่ ๗ จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการอำนวยการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์  สมัยที่ ๒๗  ณ  ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น ๔ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น

 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ก่อตั้งโดยท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๙๙ และหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร เป็นประธานสภาสตรีฯสมัยแรก มีวัตถุประสงค์ต้องการให้สตรีในจังหวัดต่างๆได้มีโอกาสสังสรรค์สโมสรแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อพัฒนาตนเองและครอบครัว และได้มอบหมายให้พระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นจัดตั้ง สโมสรวัฒนธรรมหญิง ขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อมาเปลี่ยนเป็น สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง โดยส่วนใหญ่ภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายกสมาคม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ภิกาสภาสตรีฯ และยังทรงพระราชทานให้วันที่  ๑ สิงหาคม เป็นวันสตรีไทย และพระราชทานดอกกล้วยไม้แคทลียาควีนสิริกิติ์ เป็นดอกไม้สัญญาลักษณ์ของสตรีไทย ทั้งยังพระราชทานหน้าที่สตรีไทยไว้ ๔ ประการ คือ ๑.ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านที่ดี ๒. ทำหน้าที่เป็นแม่ของลูกที่ดี ดูแลให้เติบโตเป็นคนดีของแผ่นดิน ๓.ทำหน้าที่รักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาติให้ไปสู่ลูกหลาน ๔. ต้องพัฒนาตนเองให้เป็นคนทันสมัยเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง

 

ดร.วันดี กล่าวว่าผลการดำเนินงาน สมัยที่ ๒๖ ซึ่งเริ่มปฎิบัติงานมา ตั้งแต่วันที่  ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๑   จนถึงปัจจุบัน มีกว่า  ๑,๐๐๐ กิจกรรม สภาสตรีฯ เทิดทูนไว้ซึ่งสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในปี ๒๕๖๕  นับเป็นปีมิ่งมหามงคลของปวงชนชาวไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะเจริญพระชนมพรรษาครบ ๙๐ พรรษาในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ สภาสตรีฯจัดทำโครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อรณรงค์มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของสตรีทุกมิติ สร้างสรรค์สามัคคี ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม มุ่งมั่นทำความดี มุ่งมั่นเสริมสร้างบทบาท   และสิทธิสตรีให้ได้รับความเสมอภาคระหว่างหญิงชายอย่างเท่าเทียมกัน  เสริมสร้างศักยภาพทางด้านอาชีพ รายได้ คุณภาพชีวิต เพื่อให้สตรีไทยได้มีบทบาทเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมแก่ประเทศชาติ ส่งเสริมสนับสนุนความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมขององค์กรสมาชิกสตรีทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการสร้างความรัก ความสามัคคี เอื้ออาทร ให้ความช่วยเหลือแบ่งปันในสตรี ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพและผลักดันให้มีพระราชบัญญัติสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ  ส่งเสริมการอนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณีไทยอันดีงาม ควบคู่กับการพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน พัฒนาศักยภาพ บทบาทสตรีไทยให้เป็นที่ยอมรับ ก้าวไกลสู่สังคมประชาคมอาเซียน และองค์กรสากล และ เสริมสร้างความมั่นคง สง่างามของอาคารที่ทำงานให้สมศักดิ์ศรี สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ อาทิ

โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ ในแผ่นดิน” สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย  จัดทำ โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ ในแผ่นดิน” โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๙  มิถุนายน ๒๕๖๓  เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน และสภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำเสนอ โดยเชิญชวนคนไทยให้สวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ วัน เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง โดยสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ และองค์กรสมาชิกทั่วประเทศ ร่วมกันเป็นต้นแบบส่งเสริมสวมใส่ผ้าไทยสง่างามในทุกจังหวัด และอีกหลายจังหวัดยังส่งเสริมการทอลายผ้าประจำถิ่นท้องถิ่น และต่อยอดผลิตภัณฑ์มาสู่ตลาดสินค้า OTOP ในระดับประเทศ  ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคณะทำงานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖ ทุกท่าน ในการมีส่วนร่วมให้คนไทยทั้งประเทศ ร่วมมือร่วมใจกันใส่ผ้าทอไทย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าพื้นเมือง เพื่อช่วยกันสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน รักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้ การใส่ผ้าทอไทยทุกผืน ก่อให้เกิดรายได้กระจายไปยังชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสตรีกว่า ๙๐%  รายได้ที่เกิดจากการทอผ้าออกจำหน่ายจะสามารถช่วยสตรียกระดับคุณภาพชีวิต ส่งบุตรหลานให้มีโอกาสเล่าเรียน ดูแลครอบครัวได้เมื่อยามเจ็บป่วย สร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง

สนองแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทย รวมทั้งสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรมการพัฒนาชุมชน ได้สนองแนวพระดำริของ   สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระทัยตั้งมั่น ในการสืบสานรักษาและต่อยอดพระราชปณิธาน  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อสืบสานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของคนไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทยว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อให้ทุกเพศทุกวัย สามารถสวมใส่ได้ทุกวัน

โครงการ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างพลังสตรี สร้างรายได้ให้กลุ่มอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก” สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วม กับกรมการพัฒนาขุมชน พัฒนาศักยภาพลูกหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ในการอบรมโครงการ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างพลังสตรี สร้างรายได้ให้กลุ่มอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก”ขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในช่วงปลายปี ๒๕๖๒  ที่ผ่านมา ผลการบริหารจัดการหนี้ของทั้ง  ๗๖ จังหวัด และกรุงเทพมหานครที่มีร้อยละของการบริหารจัดการหนี้ต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ มีจำนวน ๑๐  จังหวัด ซึ่งในช่วงเวลากว่า ๗ เดือน ผลการบริหารจัดการหนี้ของทั้ง จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ที่มีร้อยละของการบริหารจัดการหนี้ต่ำกว่าร้อยละ มีจำนวน ๔๖ จังหวัด เพิ่มขึ้นจากปลายปีที่ผ่านมาถึง  ๒๖ จังหวัด ทำให้เห็นถึงความตั้งใจ มุ่งมั่น ความรับผิดชอบและตระหนักในความสำคัญของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่ให้โอกาสสตรีทั่วประเทศได้ใช้แหล่งทุนนี้นำไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตรายครัวเรือน รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุน ให้กลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนฯ ที่กู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนฯ ที่ประกอบอาชีพทอผ้า โดยข้อมูลปี ๒๕๖๒ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีหนี้เสียถึงร้อยละ ๕๓ และต่อมาในปี ๒๕๖๔ สามารถลดหนี้เสียลงไปมากถึงร้อยละ ๔๐ คงเหลือเพียงร้อยละ ๑๓ ด้วยความมุ่งมั่นของสตรีทั้งประเทศที่ต้องการรักษากองทุนนี้ โดยในเดือนกันยายน ๒๕๖๕   จะลดหนี้เสียทั้งหมดลงเหลือไม่เกินร้อยละ ๕ เพื่อให้กองทุนนี้เป็นกองทุนหลักที่สตรีไทยทุกคนที่ประสงค์จะประกอบอาชีพ ได้มีเงินทุน จึงถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของสตรีไทยในการรักษากองทุนนี้ให้ยั่งยืนไว้ให้กับลูกหลานของเราสืบไป เป็นต้น

            ในโอกาสสำคัญนี้ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖  ได้กล่าวขอขอบพระคุณท่านที่ปรึกษา อดีตประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ และคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร สมัยที่ ๒๖ และท่านนายกองค์กร องค์กรสมาชิกสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ๒๑๕ องค์กร ทั่วประเทศ ที่ให้คำแนะนำแสดงความคิดเห็นและให้ความร่วมมือในทุกกิจกรรมในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และการที่ได้มาร่วมประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ ๔๒ อย่างพร้อมเพรียงกันในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงพลังอันเข้มแข็งของสตรี ในการร่วมกันขับเคลื่อนส่งเสริมผลักดันพัฒนาศักยภาพของสตรีในทุกมิติ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม โดยนโยบายของสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ คือ การสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

สำหรับการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ ๔๒ ตามระเบียบวาระ ๑ – ๗ โดยระเบียบวาระที่ ๖ เป็นเรื่องพิจารณาเห็นชอบระเบียบสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ และในช่วงเวลา ๑๔.๓๐ น. นายกสมาคม หรือผู้แทนสมาคมองค์กรสมาชิกสามัญที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง ลงทะเบียนตามระเบียบวาระที่ ๗ จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการอำนวยการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์  สมัยที่ ๒๗  ผลปรากฏว่า นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง หมายเลข ๒๘  ได้รับการเลือกตั้ง เป็นประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๗ โดยดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีสมาคมแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (สมัยที่ ๒๖ และ ที่ปรึกษาและอดีตประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ประกอบด้วยฃ ดร.เรือนแก้ว กุยยกานนท์ แบรนด์ท นางยุวดี นิ่มสมบุญ นางเยาวเรศ ชินวัตร ได้มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับ นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ เป็นประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๗ และ คณะกรรมการอำนวยการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๗ ทุกท่าน

 

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

ดาวน์โหลด