๙๕๓. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาเสด็จทอดพระเนตรการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้
๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

 ปลัดกระทรวงมหาดไทย  พร้อมด้วยประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ผู้ว่าราชการจังหวัดผู้แทนจาก ๑๔ จังหวัด ถวายรายงาน และกลุ่มทอผ้า กลุ่มผ้าบาติก เฝ้ารับเสด็จ

   

 วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐  ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตกรรมชุมชนภาคใต้ ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ผู้ว่าราชการจังหวัดผู้แทนจาก 14 จังหวัด ถวายรายงาน และกลุ่มทอผ้า กลุ่มผ้าบาติก เฝ้ารับเสด็จ

 

     โอกาสนี้  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าตามพระวินิจฉัยเมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรการจัดแสดงและสาธิตผลิตภัณฑ์ผ้าทอประจำถิ่นลวดลายต่าง ๆ และหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๔ และมีพระวินิจฉัยในการพัฒนายกระดับผ้าไทยแก่กลุ่มทอผ้า กลุ่มผ้าบาติก ด้วยพระอัจฉริยภาพในด้านการออกแบบและแฟชั่น ต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ ความเป็นธรรมชาติ และการบอกเล่าเรื่องราวประจำภูมิภาค ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยกลุ่มที่มาร่วมงานในวันนี้รวมจำนวน ๕๓ กลุ่ม จากจังหวัดสงขลา ๙  กลุ่ม จังหวัดกระบี่ ๔ กลุ่ม จังหวัดชุมพร ๒ กลุ่ม จังหวัดตรัง ๒ กลุ่ม จังหวัดนครศรีธรรมราช ๗ กลุ่ม จังหวัดนราธิวาส ๑๐ กลุ่ม ปัตตานี ๖ กลุ่ม จังหวัดพังงา ๑ กลุ่ม จังหวัดพัทลุง ๓ กลุ่ม จังหวัดภูเก็ต ๑ กลุ่ม จังหวัดยะลา ๒ กลุ่ม จังหวัดระนอง ๒ กลุ่ม จังหวัดสตูล ๓ กลุ่ม และจังหวัดสุราษฏร์ธานี ๒ กลุ่ม ได้ถวายผลงานให้ทอดพระเนตร ซึ่งทรงมีพระวินิจฉัย พระราชทานคำแนะนำให้แก่กลุ่มทอผ้า ด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ อย่างใกล้ชิด

 

     นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ตนพร้อมด้วยประธานสภาเกษตรแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วยข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และพี่น้องผู้ประกอบการผ้าในจังหวัดภาคใต้ ได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานแนวทางในการพัฒนาผ้าของ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ต่อผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มศิลปาชีพทุกกลุ่มโดยละเอียด อย่างใกล้ชิด จนทำให้ผู้ได้เข้าเฝ้าทุกคนต่างมีความสุขมากเกินจะประมาณการได้ถึงพระบารมีและน้ำพระทัยที่เปี่ยมล้นด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ที่ทรงปรารถนาจะเห็นพสกนิกรของพระองค์มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และทรงเน้นย้ำกำชับให้ตนและประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ตระหนักเสมอว่า "อย่าทิ้งงาน อย่าทิ้งชาวบ้าน" ขอให้ลุยงานหนักในครั้งนี้ก็เช่นกัน โดยเฉพาะทรงมีอาจารย์ปัญญา พูลศิลป์ ชาวจังหวัดสงขลา ที่สะสมผ้าโบราณภาคใต้ไว้นับ ๑,๐๐๐ ผืน โดยทรงแนะนำให้ประมวลรวบรวมผ้าและลวดลายผ้าโบราณ และถอดลวดลายเพื่อเผยแพร่ให้ช่างทอทั่วประเทศได้

 

     "เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา ภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระเมตตาประทานลายพระหัตถ์ว่า “จงฟื้นขึ้นมา  จงตื่นขึ้นมา” พร้อมทั้งลงพระนามกำกับไว้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เป็นเครื่องกระตุ้นให้พวกเราชาวมหาดไทยและอาจารย์ปัญญา พูลศิลป์ ได้มีกำลังใจค้นคว้าหาทางให้ลายผ้าโบราณกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทย สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมสำนึกในพระมหากรุณา และจะมุ่งมั่นขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการผ้าไทย ให้ได้รับการต่อยอดภูมิปัญญา โดยรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น พร้อมทั้งส่งเสริมแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" เพื่อให้เกิดกระแสตื่นตัวในการนิยมสวมใส่ผ้าไทยของประชาชนชาวไทย ในทุกโอกาส ทุกวัน เพื่อให้เม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ของคนไทย ได้กลับคืนไปสู่ประชาชนชาวไทย ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของประเทศชาติอย่างยั่งยืน และจะได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และกรมการพัฒนาชุมชน ติดตามช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เป็นไปตามพระประสงค์ต่อไป" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

 

     ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่าในคราว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๕ ได้พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และตน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้จัดพิธีมอบแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา

 

     ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวต่อว่า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย แต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้งดังนี้ "ลาย S ที่ท้องผ้า" หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น โดย "ลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S" นี้ หมายถึง ความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ "ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ" หมายถึง ความรักของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐  ที่มีต่อปวงชนชาวไทย "ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า" หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข "ลายต้นสนที่เชิงผ้า" หมายถึง พระดำริใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ อันลายต้นสนนี้ เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ "ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า" หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน

 

     "นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชทานคำแนะนำในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธาน ตลอดจนการพัฒนายกระดับผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักสู่สากล ยังความปราบปลื้มให้แก่กลุ่มทอผ้าและพสกนิกรที่มาเฝ้ารับเสด็จ" ดร.วันดีฯ กล่าวเน้นย้ำ

 

     นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้ เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รักษาสมบัติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปหัตถกรรมทอผ้าในแต่ละท้องถิ่นอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป อีกทั้งยังเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์  อัตลักษณ์ศิลปภูมิปัญญาไทยและสร้างความเชื่อมโยงกันในจังหวัดภาคใต้ และประชาสัมพันธ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP โดยมีกิจกรรม ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการภูมิปัญญาผ้าไทยภาคใต้ ผ้าบาติก ผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด 14 จังหวัด  การแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าของกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย เครื่องจักสาน การจัดให้คำปรึกษาแนะนำการยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าและแฟชั่นแถวหน้าของเมืองไทยให้คำแนะนำ

 

ที่มา : กองสารนิเทศ สป.มท.(วันที่ ๑๙ ก.พ. ๒๕๖๕)

ดาวน์โหลด