๙๒๙. "เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ทรงถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาผ้าไทยจากสีย้อมธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน ในงานเสวนาวิชาการ "การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล" ที่จังหวัดมหาสารคาม
๒๙ มกราคม ๒๕๖๕

วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๕ ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานงานเสวนาวิชาการ “หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยเล่มที่ ๒ (Thai Textiles Trendbook Autumn/Winter 2022-2023)” โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นางพรศรี ตรงศิริ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม รองศาสตราจารย์ ดร.ประกาศ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ข้าราชการ นิสิต กลุ่มทอผ้า และประชาชน เฝ้ารับเสด็จ

 

โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงบรรยายในหัวข้อ “การส่งเสริมการพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” โดยมี นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ประเทศไทย (VOGUE THAILAND) และนายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์ชื่อดังเจ้าของแบรนด์wishrawish ผู้สนองงานผ้าไทยใส่ให้สนุกร่วมบรรยาย

 

จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการและการแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด พระบรมราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในด้านการรักษาสมบัติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปหัตถกรรมทอผ้าในแต่ละท้องถิ่น อนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระดำรัสในงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” เกี่ยวกับเทรนด์บุ๊กเล่มที่ ๒ “Thai Textiles Trend Book Autunm/Winter 2022-2023” ที่นำเสนอกลุ่มโทนสีใน 6 ทิศทางหลัก ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการผลิตและพัฒนาผ้าไทยในตลาดยุคปัจจุบัน มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า เล่มแรกได้แนะนำเรื่องลวดลายผ้าเป็นหลัก สำหรับเล่มที่ ๒ คอลเล็กชั่น Autumn / Winter 2022-2023 หรือเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาวนี้ เน้นนำเสนอเกี่ยวกับโทนสีและใช้วัสดุย้อมสีจากธรรมชาติ ลดการใช้สีเคมีดีต่อคนและสิ่งแวดล้อม ด้วยวัสดุย้อมสีที่มีในท้องถิ่น โดยเฉพาะคราม ซึ่งเป็นสีย้อมเย็นที่ทั่วโลกใช้อย่างแพร่หลาย เมื่อนำไปผสมผสานกับวัสดุย้อมธรรมชาติต่างๆ เช่น ครั่ง เข ดาวเรือง ประดู่ เปลือกมะพร้าว แก่นขนุน จะได้เฉดสีที่หลากหลาย จำแนกเป็นกลุ่มโทนสี ๖ ทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นม่วงแดง น้ำเงินเข้ม เขียว น้ำตาล เหลือง และเทา แล้วกำหนดเป็นสูตรเบอร์สีที่ตรงกับสากล ใช้ทดแทนสีเคมีได้ ซึ่งรวบรวมไว้อย่างพร้อมสรรพในเล่มนี้

นอกจากนี้ ภายในเล่มยังแนะนำ 6 เทคนิคพื้นฐานการผลิตผ้าไทย ได้แก่ ยกดอก ขิด จก ปัก มัดหมี่ ด้น เกาะหรือล้วง และแพตช์เวิร์ก ซึ่งปีนี้เน้น 2 เทคนิคสำคัญคือ แพตช์เวิร์กและการด้น เหมาะกับการผลิตเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นฤดูหนาว อย่างแพตช์เวิร์กหรือการนำชิ้นผ้าหลากสีมาเย็บต่อเข้าด้วยกันจะพบในภาคเหนือ โดยเฉพาะชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่นิยมทำกันมาก ส่วนการด้นมือพบได้หลายภูมิภาค นำมาใช้ผลิตผ้าห่มบุนวมหรือชุดกีฬา เป็นต้น อุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เทรนด์บุ๊กเล่มนี้จะสอนเรื่องการลดใช้ทรัพยากร หรือใช้แล้วต้องปลูกทดแทน ใช้วัสดุที่คุ้นเคยอย่างคุ้มค่าที่สุด ภูมิปัญญาไทยเรื่องการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติจากวัสดุที่มาจากธรรมชาติช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง หวังว่าจะเป็นหนังสือที่อ่านแล้วเพลิดเพลินและเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และดีไซน์ ก่อนจะมีเทรนด์บุ๊กเล่ม ต่อๆ ไป

 

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีรับสั่งเป็นนิจว่า อยากให้จัดงานยังภูมิภาคเริ่มจาก จ.มหาสารคาม พร้อมกับทรงเน้นย้ำว่าคำศัพท์แฟชั่นต้องพูดบ่อยๆ เพื่อให้นักศึกษาที่ทำงานด้านนี้หรือผู้ประกอบการเข้าใจ ซึมซับ และคุ้นเคยให้มากที่สุด ทั้งหมดสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเทรนด์บุ๊กเล่มนี้

 

 

 

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมผ้าทอในแต่ละท้องถิ่น พร้อมพัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น ด้วยองค์ความรู้ใหม่ซึ่งบรรจุอยู่ใน หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย หรือ "Thai Textiles Trend Book Spring / Summer 2022 เล่มแรก" ที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำขึ้น และทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร ทรงค้นคว้าองค์ความรู้ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนด้วยพระองค์เอง

 

หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยฯ เล่มแรก ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ต่อเนื่องมาถึงเล่มที่ 2 ได้แก่ Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2022-2023

 

 

 

 

 

 

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงมีพระราชดำรัสในงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” เกี่ยวกับเทรนด์บุ๊กเล่มที่ ๒ ที่นำเสนอ กลุ่มโทนสีใน ๖ ทิศทางหลัก ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการผลิตและพัฒนาผ้าไทยในตลาดยุคปัจจุบัน มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า

 

เทรนด์บุ๊กเล่มแรกประสบความสำเร็จมาก ในแง่ของผลตอบรับ อุตสาหกรรมสิ่งทอเกิดควากระปรี้กระเปร่าในการผลิต เกิดกระแสและพลังงานที่ดีในการออกแบบ ถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนา ทั้งเรื่องสีและองค์ความรู้ใหม่ๆ รู้สึกปลาบปลื้มที่มีหนังสือวิชาการด้านแฟชั่นอย่างจริงจัง ในการนำไปใช้ทำการเรียนการสอน หรือใช้ประกอบอาชีพ หนังสือเล่มนี้สีสวย ครบรส และจะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป 

 

“เล่มแรกได้แนะนำเรื่องลวดลายผ้าเป็นหลัก สำหรับเล่มที่ 2 คอลเลกชั่น Autumn / Winter 2022-2023 หรือเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาวนี้ เน้นนำเสนอเกี่ยวกับโทนสีและใช้วัสดุย้อมสีจากธรรมชาติ ลดการใช้สีเคมี ดีต่อคนและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า 'Circular Colours'  ซึ่งกำลังเป็นแทนด์โลก

 

พอเรานำมาใช้ จะเรียกว่า Circular Thai  ด้วยวัสดุย้อมสีทีมีในท้องถิ่น โดยเฉพาะ คราม ซึ่งเป็นสีย้อมเย็น ที่ทั่วโลกมีการใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อเมริกา อินเดีย เพียงแต่เฉดสีอาจแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศหรือภูมิประเทศ

 

สำหรับบ้านเรา ครามถือเป็นราชาแห่งการย้อม (King of Dye) และเป็นหัวใจของสีย้อมเลยก็ว่าได้ เมื่อนำไปผสมผสานกับวัสดุย้อมธรรมชาติต่างๆ เช่น ผสมกับ ครั่ง, เข, ดาวเรือง, ประดู่, เปลือกมะพร้าว, แก่นขนุน ก็จะได้เฉดสีที่หลากหลาย จำแนกเป็นกลุ่มโทนสี 6 ทิศทาง ไม่ว่าจะเป็น ม่วงแดง น้ำเงินเข้ม เขียว น้ำตาล เหลือง และ เทา แล้วกำหนดเป็นสูตรเบอร์สีที่ตรงกับสากล ใช้ทดแทนสีเคมีได้ ซึ่งรวบรวมไว้อย่างพร้อมสรรพในเล่มนี้”

 

 

นอกจากนี้ ภายในเล่มยังแนะนำ ๖ เทคนิคพื้นฐานการผลิตผ้าไทย ได้แก่ ยกดอก ขิด จก ปัก มัดหมี่ ด้น เกาะหรือล้วง และ แพตช์เวิร์ค ซึ่งปีนี้ได้เน้น ๒ เทคนิคสำคัญคือ แพตช์เวิร์ค และ การด้น เหมาะกับการผลิตเสื้อผ้าคอลเลกชั่นฤดูหนาว

 

งานแพตช์เวิร์คหรือการนำชิ้นผ้าหลากสีมาเย็บต่อเข้าด้วยกัน จะพบในภาคเหนือ โดยเฉพาะชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่นิยมทำกันมาก ส่วนการด้นมือพบได้ในหลายภูมิภาค นำมาใช้ในการผลิตผ้าห่มบุนวมหรือชุดกีฬา เป็นต้น

 

“อุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เทรนด์บุ๊กเล่มนี้จะสอนเรื่องการลดใช้ทรัพยากร หรือใช้แล้วต้องปลูกทดแทน ใช้วัสดุที่คุ้นเคยอย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อลดการเกิดของเสีย ซึ่งภูมิปัญญาไทยเรื่องการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติจากวัสดุที่มาจากธรรมชาติช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง หวังว่าจะเป็นหนังสือที่อ่านแล้วเพลิดเพลินและเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และดีไซน์ ก่อนจะมีเทรนด์บุ๊กเล่มต่อๆ ไป”

 

"เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ทรงถ่ายทอดองค์ความรู้ผ้าไทยสู่สากลที่มหาสารคามเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการฯ

 

ทั้งนี้ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงมีรับสั่งเป็นนิจว่า อยากให้มีการจัดงานยังภูมิภาคเริ่มจากจังหวัดมหาสารคาม พร้อมกับทรงเน้นย้ำว่าคำศัพท์แฟชั่นต้องพูดบ่อยๆ เพื่อให้นักศึกษาที่ทำงานด้านนี้หรือผู้ประกอบการได้เข้าใจ ซึมซับ และคุ้นเคยให้มากที่สุด และทั้งหมดสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเทรนด์บุ๊กเล่มนี้

 

 

ปรับเปลี่ยนวิธีทำงาน มีการแยกเฉดสีสำหรับการย้อม หรืออย่างลายผ้าบางลายเมื่อมีการชี้แนะแนวทางให้ก็มีการดัดแปลงจากลายดั้งเดิมให้สอดคล้องกับตลาด มีความร่วมสมัยยิ่งขึ้น

 

สำหรับแบรนด์จุฑาทิพเราเน้นความร่วมสมัย วัยรุ่นใส่ได้ นอกจากนี้ยังคงแนวคิดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแบรนด์เรื่องการใช้สีธรรมชาติในการย้อมเป็นหลัก

 

ย้อนกลับไปเมื่อราว ๘ ปีก่อนมีไม่กี่รายที่เลือกสกัดสีจากธรรมชาติในการย้อมผ้า และเราก็เป็นหนึ่งตัวอย่างที่เลือกสีธรรมชาติ เพราะมองเห็นว่าดีต่อสุขภาพของคนย้อมผ้าและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการต้มหรือกำจัดทิ้ง ใบไม้หรือเปลือกไม้ที่นำมาย้อมก็นำไปเป็นปุ๋ยได้ด้วย และเท่าที่สังเกตผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติเมื่อนำไปวางขายมักได้ผลตอบรับค่อนข้างดี ลูกค้านิยมชมชอบ เป็นผลมาจากการดำเนินตามพระราชดำริของเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ ที่ทรงให้แนวทางเกี่ยวกับการจัดกลุ่มเฉดสี ทำให้เราสามารถพัฒนาได้ตรงกับความต้องการของตลาด

 

เรื่องสีย้อมธรรมชาตินี้นอกจากเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาแล้วยังเกิดจากการหัดสังเกต อย่างสีดำภูมิปัญญาดั้งเดิมได้จากมะเกลือ แต่ยุคนี้มีการทดลองพบว่าเปลือกมะพร้าวหรือใบยูคาลิปตัสก็ให้สีดำได้เช่นกัน เราพยายามปลุกเร้าชุมชนว่าวัตถุดิบมีอยู่รอบตัว เพียงนำมาทดลอง เมื่อได้ผลก็แทบไม่ต้องหาซื้อเลย ถ้ามองให้เป็นโอกาสก็จะมีทางเลือกมากขึ้น"

 

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือแบบ e-book ได้ทาง เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และที่  link : Thai Textiles Trend book  หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โทร.0 2247 0013 ต่อ 4305 และ 4319 - 4321 ในวันและเวลาราชการ

 

เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

ดาวน์โหลด