๑,๐๒๑. สมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนจากจังหวัดกาญจนบุรี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับพัฒนาชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดโครงการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการพัฒนาสตรี มุ่งสู่การเป็นผู้นำสตรี ๒๐๒๒ โดยได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานเปิดงาน

วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๕๐ น.ที่ห้องบุษราคัม องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดกาญจนบุรีมุ่งสู่การเป็นผู้นำสตรี ๒๐๒๒ พร้อมด้วย นางรชยา ภูมิสวัสดิ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดกาญจนบุรี นางรัชนี โพธิสัตยา พัฒนาการจังหวัดกาญจนบุรี นายพิสิษฐ์ กาญจนภิญพงศ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมฯ โดย นางกิมไน้ สิริพฤกษา นายกสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนจากจังหวัดกาญจนบุรี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดกาญจนบุรีเป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานฯ และคณะกรรมการพัฒนาสตรีทุกระดับ และกลุ่มอาชีพสตรี เข้าร่วมจำนวน ๔๐๐ คน
สืบเนื่องจากคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดโครงการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดกาญจนบุรีมุ่งสู่การเป็นผู้นำสตรี ๒๐๒๒ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการพัฒนาสตรีในทุกระดับของจังหวัดกาญจนบุรีให้สามารถปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบันและเป็นไปตามแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด
ทั้งนี้ นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้มอบนโยบายในการพัฒนาสตรีเพื่อเผชิญความท้าทาย เน้นการส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายของคนในสังคม การเสริมพลังและเพิ่มบทบาทของสตรีสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่สตรีทุกกลุ่มและประชาชนทุกช่วงวัยในหมู่บ้านและตำบล โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาล การวางมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันคุ้มครองหรือช่วยเหลือสตรีที่มีความเสี่ยงต่อภัยทุกชนิด เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และสร้างความเข้มแข็งของกลไกสตรีและพัฒนาสตรีในทุกระดับ ให้สตรีได้มีบทบาททางสังคมและมีความเข้มแข็งมากขึ้น
นอกจากนี้ยังได้มอบรางวัลจากกิจกรรมการประกวด “อาหารพื้นบ้าน สานศิลป์ ถิ่นกาญจน์” เมนู น้ำพริกเผาเมืองขุนแผน ซึ่งทีมน้ำพริกเผาขุนแผนแสนสะท้าน จากอำเภอไทรโยค ได้รับรางวัลชนะเลิศ ส่วนกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “แนวทางการขับเคลื่อนงานสตรีตามภารกิจกรมการพัฒนาชุมชน” เวทีเสวนาในหัวข้อ “บทบาทสตรี วิถีใหม่ ๒๐๒๒ ” การแสดงนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ ในหัวข้อเรื่อง ๓ สร้าง สู่สุขในชุมชนที่ยั่งยืน ผ้าพื้นถิ่นไทย..ใส่ให้สนุก และการเรียนรู้ด้านอาชีพของสตรีที่น่าสนใจ จากกลุ่มอาชีพสตรี ๑๓ อำเภอ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี


ฝ่ายประชาสัมพันธ์สภาสตรีแห่งชาติฯ

๑,๐๒๐. สภาสตรีแห่งชาติฯ จัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วม ระหว่าง สมัยที่ ๒๖ และสมัยที่ ๒๗ เทิดทูนไว้ซึ่งสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ชูนโยบาย พัฒนาศักยภาพสตรีทุกมิติ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรสมาชิก และสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่

วันนี้ (วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๕ ) เวลา ๑๔.๐๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๖ และ นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๗ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วม ระหว่าง สมัยที่ ๒๖ และสมัยที่ ๒๗ โดยได้รับเกียรติจาก นางยุวดี นิ่มสมบุญ ที่ปรึกษาประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ เข้าร่วมประชุมพร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วม ระหว่าง สมัยที่ ๒๖ และสมัยที่ ๒๗ ณ สภาสตรีแห่งชาติฯ อาคารบ้านพระกรุณานิวาสน์ ถนนสุโขทัยเขตดุสิต กรุงเทพฯ

สำหรับระเบียบวาระการประชุมในวันนี้ ประกอบด้วย เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ ในเรื่องภารกิจและความรับผิดชอบของสภาสตรีแห่งชาติฯ โดยรวม และเรื่องการเตรียมการจัดงานวันสตรีไทย ประจำปี ๒๕๖๕ นอกจากนี้เปิดโอกาสให้ คณะกรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖ สนทนาแลกเปลี่ยนประการณ์ท่ามกลางบรรยากาศ ความรักความสามัคคี ระหว่าง กรรมการอำนวยการ สมัยที่ ๒๖ และสมัยที่ ๒๗ และแสดงความชื่นชม กับ คณะกรรมการอำนวยการชุดใหม่ ทั้ง ๑๙ ท่าน ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรสมาชิก มีความสามารถจากหลากหลายอาชีพ และมีคุณสมบัติความพร้อม ความเสียสละ เข้ามาร่วมขับเคลื่อนดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
เทิดทูนไว้ซึ่งสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และมีความมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของสตรีทุกมิติ สร้างสรรค์สามัคคี ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม มุ่งมั่นทำความดี มุ่งมั่นเสริมสร้างบทบาท และสิทธิสตรีให้ได้รับความเสมอภาคระหว่างหญิงชายอย่างเท่าเทียมกัน เสริมสร้างศักยภาพทางด้านอาชีพ รายได้ คุณภาพชีวิต เพื่อให้สตรีไทยได้มีบทบาทเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ แก่สังคมและประเทศชาติ รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมขององค์กรสมาชิกสตรีทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการสร้างความรัก ความสามัคคี เอื้ออาทร ให้ความช่วยเหลือแบ่งปันในสตรี ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพและผลักดันให้มีพระราชบัญญัติสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ส่งเสริมการอนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณีไทยอันดีงาม ควบคู่กับการพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน พัฒนาศักยภาพ บทบาทสตรีไทยให้เป็นที่ยอมรับ ก้าวไกลสู่สังคมประชาคมอาเซียน และองค์กรสากล เสริมสร้างความมั่นคง สง่างามของอาคารที่ทำงานให้สมศักดิ์ศรี สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้เป็นศูนย์กลางประสานงานส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรสมาชิกสตรีทั่วประเทศ ที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และเชิดชู ส่งเสริม สนับสนุน และธำรงวันสตรีไทย ที่เป็นประโยชน์ต่อสตรีและสังคมสืบไป

ฝ่ายประชาสัมพันธ์สภาสตรีแห่งชาติฯ

๑,๐๑๙. สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกิจกรรม เชิดชูเกียรติและเฉลิมฉลองในวาระ ๒๐๐ ปีชาตกาล พระยาศรีสุนทรโวหารฯ และอัญเชิญพระพุทธโสธรจำลอง ประดิษฐานที่หอพระพุทธโสธร

๑๖ เมษายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๓๐ ที่พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานเปิดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เชิดชูเกียรติและเฉลิมฉลองในวาระ ๒๐๐ ปีชาตกาล พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) บุคคลสำคัญของโลก และอัญเชิญพระพุทธโสธรจำลองขนาด ๒๙ นิ้ว โดยมีพระครูปลัดธรรมนุวัตร (หลวงพ่อช้าง เตชปญฺโญ.) เจ้าอาวาสวัดจุกเฌอ เจ้าคณะตำบลบางไผ่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา นางจันทรรัตน์ ไตรติลานันท์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมภายในงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ร่วมพิธีทุกคนต้องผ่านจุดคัดกรอง ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ ด้วย
โดยกิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วย พิธีอัญเชิญหลวงพ่อโสธรจำลอง ขนาดหน้าตัก ๒๙ นิ้ว ประดิษฐานที่หอพระพุทธโสธร ตั้งอยู่ภายในบริเวณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดนำส่วนราชการ และประชาชน ร่วมสรงน้ำ พระพุทธโสธรจำลอง
ซึ่งกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เชิดชูเกียรติและเฉลิมฉลองในวาระ ๒๐๐ปีชาตกาล พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) บุคคลสำคัญของโลก ร่วมถึงการประกวดสุดยอดพระเครื่องจากชมรมศิษยานุศิษย์หลวงพ่อช้างวัดจุกเฌอ และชมรมพระเครื่องเมืองแปดริ้ว จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๖-๑๗ เมษายน ๒๕๖๕ นี้ ที่พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา (จวนผู้ว่าราชการจังหวัด) โดยยามกลางคืนมีการประดับไฟ และการสาดแสงสี เพื่อเปลี่ยนสีอาคาร เป็นสีฟ้า สีเขียว มรังมเรือง เหมือนหลุดเข้าไปในยุคสมัยกลางกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงการออกร้านสินค้าโอทอป และอาหารอร่อยของดีเมืองแปดริ้ว และมีดนตรีบรรเลงกล่อมคลอสบาย ๆ ภายในงานอีกด้วย

รายงานข่าว : สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา
เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์สภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖

๑,๐๑๘. สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันสงกรานต์ ปี ๒๕๖๕ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในวันขึ้นปีใหม่ไทย

วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๕ เวลา ๐๗.๑๕ น. ที่บริเวณศาลาจัตุรมุข หน้าศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราพร้อมด้วย นางจันทร์รัตน์ ไตรติลานันท์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตร เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย และเป็นการร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยประเพณีวันสงกรานต์ ปี ๒๕๖๕ โดยมี พระราชภาวนาพิธาน เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา และ เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม วรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร นายพูลทรัพย์ สมบูรณ์ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายกลยุทธ ฉายแสง นายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ทหาร ตำรวจ พ่อค้า และประชาชนชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง จำนวน ๑๔๗ รูป เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในวันขึ้นปีใหม่ไทย ภายใต้มาตรการ ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ อย่างเคร่งครัด

รายงานข่าว : สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา
เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์สภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖

๑,๐๑๗. สมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี และ สมาคมสตรีศรีอยุธยา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ เข้าร่วมพิธีสมโภชพระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงวรวิหาร (ซำปอกง) เนื่องในโอกาสหลวงพ่อโตก่อสร้างครบ ๖๙๘ ปี

วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๕ ณ พระวิหารพระพุทธไตรรัตนนายก วัดพนัญเชิงวรวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมมธโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีสมโภชพระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงวรวิหาร (ซำปอกง) และนางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นางพรทิพย์ ตั้งกีรติ นายกสมาคมกองทุนสวัสดิการเพื่อสตรี และนางมุกดา ธิษณ์ธนากร นายกสมาคมสตรีศรีอยุธยา นำคณะกรรมการบริหาร และสมาชิกพร้อมด้วยภาคีเครือข่าย เข้าร่วมพิธีทำบุญสมโภชพระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) ครบ รอบ ๖๙๘ ปี วัดพนัญเชิงวรวิหาร พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ และพุทธศาสนิกชน สำหรับการจัดงานสมโภชพระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงวรวิหาร กำหนดจัดเป็นประจำ ทุกปี ในช่วงวันปีใหม่ไทยหรือวันสงกรานต์ เพื่อรำลึกถึงการก่อสร้างองค์หลวงพ่อโต พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยอดีตกาลจนถึงปัจจุบัน ณ พระวิหารพระพุทธไตรรัตนนายก วัดพนัญเชิงวรวิหาร


หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง ได้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๘๖๗ จนถึง ณ ปัจจุบัน ๖๙๘ ปี เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา หน้าตักกว้าง ๒๐ เมตรเศษ สูง ๑๙ เมตร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย เคยได้รับความเสียหายในสมัยเสียกรุง แต่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด

จนกระทั่งในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ ได้โปรดเกล้าให้บูรณะใหม่หมดทั้งองค์ และพระราชทานนามใหม่ว่า พระพุทธไตรรัตนนายก เรียกกันเป็นสามัญว่า หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง หรือ ที่ชาวจีนเรียกว่า ซำปอกง ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร วัดพนัญเชิงวรวิหาร ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก ตรงข้ามกับมุมตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

ฝ่ายประชาสัมพันธ์สภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖

๑,๐๑๖. สมาคมสตรีอาเซียนกาฬสินธุ์ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ เยี่ยมให้กำลังใจ และสอนการเคลื่อนไหวให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและครอบครัว ตามโครงการ “ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” ในพื้นที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๕ นางธิดา ชูโชตินายกสมาคมอาเซียนกาฬสินธุ์ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ และอุปนายกฯ คุณนันทพร ศรีวรารักษ์ พร้อมด้วย ดร.นิภา อาจาริยาภิบาล คุณรมิดา เลิศเจตนารมย์ นางญาณิศา มั่งสุวรรณ นางณฑนา สุภัควนิช เยี่ยมให้กำลังใจ และสอนการเคลื่อนไหวให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและครอบครัว จำนวน ๒ ราย ที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยและญาติมีกำลังใจในการรักษาดูแลสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติในการดำรงชีวิตต่อไป

ฝ่ายประชาสัมพันธ์สภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖

๑,๐๑๕. สภาสตรีแห่งชาติฯ สูญเสียบุคคลสำคัญ "ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช" ประธานสภาสตรีแห่งชาติแห่งชาติฯ สมัยที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๒) โดยสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม ที่ศาลาพีชานนท์ วัดธาตุทอง

วันนี้ ( ๑๐ เมษายน ๒๕๖๓) เวลา ๑๘.๓๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคงจุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๖๑- ๒๕๖๕) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๗ ( พ.ศ. ๒๕๖๕- ๒๕๖๘) พร้อมด้วยที่ปรึกษาสภาสตรีแห่งชาติฯซี่งเป็นอดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ นางยุวดี นิ่มสมบุญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๐ (พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๔๖) นางสุพัฒนา อาทรไผท ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๘) นำคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร พร้อมด้วยองค์กรสมาชิก ร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช ประธานสภาสตรีแห่งชาติแห่งชาติฯ สมัยที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๒) ณ ศาลาพีชานนท์ (ศาลา ๒ ) วัดธาตุทอง แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช ถึงแก่กรรมในวัย ๙๐ ปี เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๕ ครอบครัวจัดสวดพระอภิธรรม ที่ศาลาพีชานนท์ วัดธาตุทอง จนถึงวันจันทร์ที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๕ และบรรจุ
(สำหรับกำหนดการพระราชทานเพลิงเจ้าภาพจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป)

ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช (สกุลเดิม ยุกตะเสวี) เกิดเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๔) เป็นประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิราชประชาสมาศัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเป็นประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๒

สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย และสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความสนใจภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก ทำให้เป็นผู้ที่แตกฉานทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เยาว์วัย

ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เป็นผู้บุกเบิกและสร้างตำนานบทบาทสตรีไทยในเวทีโลกและสังคมไทย ทั้งยังทำงานเพื่อการกุศล ช่วยงานมูลนิธิต่างๆ มาโดยตลอด ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ในองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรรมการบริหารมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานสมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิกและเอเชียอาคเนย์
ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับศาสตราจารย์ นายแพทย์กษาน จาติกวณิช มีลูกสาว ๑ คนคือ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา


ฝ่ายประชาสัมพันธ์สภาสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖

๑,๐๑๔. สามองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ในจังหวัดอุดรธานี จับมือ ชิมกาแฟ ร้าน Cafe de Penya ส่งเสริมการท่องเที่ยว เมืองอุดรธานี ตามโครงการ "เพื่อนช่วยเพื่อน"

วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕ นางดาวศิริ อยู่ประเสริฐ ที่ปรึกษา ๓ องค์กร รศ.ดร.กฤตติกา แสนโภชน์ นายกสมาคมแม่ดีเด่นแห่งชาติ จังหวัดอุดรธานี นางกอบแก้ว คงน้อย นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี พญ.เฉลิมวรรณ ศศิประภา นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย อุดรธานี พร้อมคณะกรรมการและสมาชิก ๓ องค์กร ร่วมเยี่ยมและชิมกาแฟร้านกาแฟร้าน Cafe de Penya เพื่อให้กำลังใจ และประชาสัมพัฯธ์ ร้านกาแฟของนางเพ็ญปรียา ประสันนาการ กรรมการ ๓ องค์กรสมาชิกสาสตรีแห่งชาติฯ ในโครงการ"เพื่อนช่วยเพื่อน" ที่นางเพ็ญปรียา ประสันนาการเปิดร้านกาแฟ โดยมีนายแพทย์สมิต ประสันนาการ สามี ดูแลให้ต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ณ Cafe de Penya ใกล้คลินิกหมอสมิต ถนนพรหมประกาย ทางไปสนามบินนานาชาติอุดรธานี



ฝ่ายประชาสัมพันธ์สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ สมัยที่ ๒๖

๑,๐๑๓. ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖ จัดประชุมใหญ่สามัญ ชูผลงานกว่า ๑,๐๐๐ กิจกรรม ขอบคุณที่ปรึกษาและขอบคุณความร่วมมือร่วมใจจากองค์กรสมาชิก จำนวน ๒๑๕ องค์กร ทั่วประเทศ และแสดงความยินดี กับประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ สมัยที่ ๒๗ คนใหม่

วันพฤหัสบดีที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น.ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีสมาคมแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๖ (พ.ศ ๒๕๖๑ - ๒๕๖๕ ) เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ ๔๒ ประจำปี ๒๕๖๕ โดยผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๖ อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์อุปถัมภิกาสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ก่อนการเริ่มประชุม ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ที่ปรึกษาและอดีตประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ดร.เรือนแก้ว กุยยกานนท์ แบรนด์ท นางยุวดี นิ่มสมบุญ นางเยาวเรศ ชินวัตร พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร และองค์กรสมาชิก จำนวน ๒๑๕ องค์กร อาทิ สมาคมสตรีไทยแห่งประเทศไทยฯ สมาคมสโมสรวัฒนธรรมหญิง สมาคมสตรีเพื่อสตรี สายปัญญาสมาคม สมาคมแม่บ้านอาสาสมัครแห่งประเทศไทย สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย สมุทรปราการ สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดอุดรธานี สมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนไทยจังหวัดบุรีรัมย์ สมาคมสวัสดิการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จังหวัดเพชรบุรี สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยเชียงใหม่ สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน จังหวัดูเก็ต เป็นต้น เข้าร่วมประชุมตามระเบียบวาระ ๑ – ๗ โดยระเบียบวาระที่ ๖ เป็นเรื่องพิจารณาเห็นชอบระเบียบสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ และในช่วงเวลา ๑๔.๓๐ น. นายกสมาคม หรือผู้แทนสมาคมองค์กรสมาชิกสามัญที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง ลงทะเบียนตามระเบียบวาระที่ ๗ จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการอำนวยการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๗ ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น ๔ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ก่อตั้งโดยท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๙๙ และหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร เป็นประธานสภาสตรีฯสมัยแรก มีวัตถุประสงค์ต้องการให้สตรีในจังหวัดต่างๆได้มีโอกาสสังสรรค์สโมสรแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อพัฒนาตนเองและครอบครัว และได้มอบหมายให้พระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นจัดตั้ง สโมสรวัฒนธรรมหญิง ขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อมาเปลี่ยนเป็น สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง โดยส่วนใหญ่ภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายกสมาคม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ภิกาสภาสตรีฯ และยังทรงพระราชทานให้วันที่ ๑ สิงหาคม เป็นวันสตรีไทย และพระราชทานดอกกล้วยไม้แคทลียาควีนสิริกิติ์ เป็นดอกไม้สัญญาลักษณ์ของสตรีไทย ทั้งยังพระราชทานหน้าที่สตรีไทยไว้ ๔ ประการ คือ ๑.ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านที่ดี ๒. ทำหน้าที่เป็นแม่ของลูกที่ดี ดูแลให้เติบโตเป็นคนดีของแผ่นดิน ๓.ทำหน้าที่รักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาติให้ไปสู่ลูกหลาน ๔. ต้องพัฒนาตนเองให้เป็นคนทันสมัยเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ดร.วันดี กล่าวว่าผลการดำเนินงาน สมัยที่ ๒๖ ซึ่งเริ่มปฎิบัติงานมา ตั้งแต่วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๑ จนถึงปัจจุบัน มีกว่า ๑,๐๐๐ กิจกรรม สภาสตรีฯ เทิดทูนไว้ซึ่งสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในปี ๒๕๖๕ นับเป็นปีมิ่งมหามงคลของปวงชนชาวไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะเจริญพระชนมพรรษาครบ ๙๐ พรรษาในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ สภาสตรีฯจัดทำโครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อรณรงค์มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของสตรีทุกมิติ สร้างสรรค์สามัคคี ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม มุ่งมั่นทำความดี มุ่งมั่นเสริมสร้างบทบาท และสิทธิสตรีให้ได้รับความเสมอภาคระหว่างหญิงชายอย่างเท่าเทียมกัน เสริมสร้างศักยภาพทางด้านอาชีพ รายได้ คุณภาพชีวิต เพื่อให้สตรีไทยได้มีบทบาทเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมแก่ประเทศชาติ ส่งเสริมสนับสนุนความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมขององค์กรสมาชิกสตรีทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการสร้างความรัก ความสามัคคี เอื้ออาทร ให้ความช่วยเหลือแบ่งปันในสตรี ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพและผลักดันให้มีพระราชบัญญัติสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ส่งเสริมการอนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณีไทยอันดีงาม ควบคู่กับการพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน พัฒนาศักยภาพ บทบาทสตรีไทยให้เป็นที่ยอมรับ ก้าวไกลสู่สังคมประชาคมอาเซียน และองค์กรสากล และ เสริมสร้างความมั่นคง สง่างามของอาคารที่ทำงานให้สมศักดิ์ศรี สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ อาทิ
โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ ในแผ่นดิน” สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดทำ โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ ในแผ่นดิน” โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน และสภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำเสนอ โดยเชิญชวนคนไทยให้สวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ วัน เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง โดยสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ และองค์กรสมาชิกทั่วประเทศ ร่วมกันเป็นต้นแบบส่งเสริมสวมใส่ผ้าไทยสง่างามในทุกจังหวัด และอีกหลายจังหวัดยังส่งเสริมการทอลายผ้าประจำถิ่นท้องถิ่น และต่อยอดผลิตภัณฑ์มาสู่ตลาดสินค้า OTOP ในระดับประเทศ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคณะทำงานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖ ทุกท่าน ในการมีส่วนร่วมให้คนไทยทั้งประเทศ ร่วมมือร่วมใจกันใส่ผ้าทอไทย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าพื้นเมือง เพื่อช่วยกันสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน รักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้ การใส่ผ้าทอไทยทุกผืน ก่อให้เกิดรายได้กระจายไปยังชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสตรีกว่า ๙๐% รายได้ที่เกิดจากการทอผ้าออกจำหน่ายจะสามารถช่วยสตรียกระดับคุณภาพชีวิต ส่งบุตรหลานให้มีโอกาสเล่าเรียน ดูแลครอบครัวได้เมื่อยามเจ็บป่วย สร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง
สนองแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทย รวมทั้งสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรมการพัฒนาชุมชน ได้สนองแนวพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระทัยตั้งมั่น ในการสืบสานรักษาและต่อยอดพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อสืบสานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของคนไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทยว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อให้ทุกเพศทุกวัย สามารถสวมใส่ได้ทุกวัน
โครงการ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างพลังสตรี สร้างรายได้ให้กลุ่มอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก” สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วม กับกรมการพัฒนาขุมชน พัฒนาศักยภาพลูกหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ในการอบรมโครงการ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างพลังสตรี สร้างรายได้ให้กลุ่มอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก”ขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในช่วงปลายปี ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ผลการบริหารจัดการหนี้ของทั้ง ๗๖ จังหวัด และกรุงเทพมหานครที่มีร้อยละของการบริหารจัดการหนี้ต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ มีจำนวน ๑๐ จังหวัด ซึ่งในช่วงเวลากว่า ๗ เดือน ผลการบริหารจัดการหนี้ของทั้ง จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ที่มีร้อยละของการบริหารจัดการหนี้ต่ำกว่าร้อยละ มีจำนวน ๔๖ จังหวัด เพิ่มขึ้นจากปลายปีที่ผ่านมาถึง ๒๖ จังหวัด ทำให้เห็นถึงความตั้งใจ มุ่งมั่น ความรับผิดชอบและตระหนักในความสำคัญของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่ให้โอกาสสตรีทั่วประเทศได้ใช้แหล่งทุนนี้นำไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตรายครัวเรือน รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุน ให้กลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนฯ ที่กู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนฯ ที่ประกอบอาชีพทอผ้า โดยข้อมูลปี ๒๕๖๒ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีหนี้เสียถึงร้อยละ ๕๓ และต่อมาในปี ๒๕๖๔ สามารถลดหนี้เสียลงไปมากถึงร้อยละ ๔๐ คงเหลือเพียงร้อยละ ๑๓ ด้วยความมุ่งมั่นของสตรีทั้งประเทศที่ต้องการรักษากองทุนนี้ โดยในเดือนกันยายน ๒๕๖๕ จะลดหนี้เสียทั้งหมดลงเหลือไม่เกินร้อยละ ๕ เพื่อให้กองทุนนี้เป็นกองทุนหลักที่สตรีไทยทุกคนที่ประสงค์จะประกอบอาชีพ ได้มีเงินทุน จึงถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของสตรีไทยในการรักษากองทุนนี้ให้ยั่งยืนไว้ให้กับลูกหลานของเราสืบไป เป็นต้น
ในโอกาสสำคัญนี้ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๖ ได้กล่าวขอขอบพระคุณท่านที่ปรึกษา อดีตประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ และคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหาร สมัยที่ ๒๖ และท่านนายกองค์กร องค์กรสมาชิกสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ๒๑๕ องค์กร ทั่วประเทศ ที่ให้คำแนะนำแสดงความคิดเห็นและให้ความร่วมมือในทุกกิจกรรมในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และการที่ได้มาร่วมประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ ๔๒ อย่างพร้อมเพรียงกันในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงพลังอันเข้มแข็งของสตรี ในการร่วมกันขับเคลื่อนส่งเสริมผลักดันพัฒนาศักยภาพของสตรีในทุกมิติ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม โดยนโยบายของสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ คือ การสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
สำหรับการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ ๔๒ ตามระเบียบวาระ ๑ – ๗ โดยระเบียบวาระที่ ๖ เป็นเรื่องพิจารณาเห็นชอบระเบียบสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ และในช่วงเวลา ๑๔.๓๐ น. นายกสมาคม หรือผู้แทนสมาคมองค์กรสมาชิกสามัญที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง ลงทะเบียนตามระเบียบวาระที่ ๗ จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการอำนวยการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๗ ผลปรากฏว่า นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง หมายเลข ๒๘ ได้รับการเลือกตั้ง เป็นประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๗ โดยดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีสมาคมแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (สมัยที่ ๒๖ และ ที่ปรึกษาและอดีตประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ประกอบด้วยฃ ดร.เรือนแก้ว กุยยกานนท์ แบรนด์ท นางยุวดี นิ่มสมบุญ นางเยาวเรศ ชินวัตร ได้มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับ นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ เป็นประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ ๒๗ และ คณะกรรมการอำนวยการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ สมัยที่ ๒๗ ทุกท่าน

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

๑,๐๑๒ สมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนไทยจังหวัดบุรีรัมย์ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมงาน “รวมพลังสตรีบุรีรัมย์ยุคใหม่ ร่วมมือ ร่วมใจ นำผ้าไทยประยุกต์ใส่ให้สนุก” ขานรับนโยบายสภาสตรีแห่งชาติฯ

วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น.นางอรพิน ไกรรณภูมิ นายกสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนไทยจังหวัดบุรีรัมย์ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ และประธานชมรมแม่ดีเด่นแห่งชาติจังหวัดบุรีรัมย์ มอบหมายให้นางกนกวรรณ วงศ์ทองศรี รองนายกสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนไทยจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคม ร่วมเป็นเกียรติ งาน “รวมพลังสตรีบุรีรัมย์ยุคใหม่ ร่วมมือ ร่วมใจ นำผ้าไทยประยุกต์ใส่ให้สนุก” โดยมีนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธาน ในพิธี และในการนี้คณะกรรมการสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนไทยจังหวัดบุรีรัมย์ได้ร่วมแสดงแบบผ้า ที่เป็นผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ตามกิจกรรม“รวมพลังสตรีบุรีรัมย์ยุคใหม่ ร่วมมือ ร่วมใจ นำผ้าไทยประยุกต์ใส่ให้สนุก” อีกด้วย ณ ห้องประชุมโรงแรมเดอ ศิตา ปริ้นเซส อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

รายงานข่าว : สมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนไทยจังหวัดบุรีรัมย์
เรียบเรียงข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ