ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ในฐานะประธาน“ชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” รุกขับเคลื่อน “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน-คำนวนคาร์บอนเครดิต”
๑๙ มกราคม ๒๕๖๒

          เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๐๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานการประชุมชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และประธานชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด ประจำปี ๒๕๖๒ โดยมีผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประธานและกรรมการแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัดจากทุกจังหวัด กว่า ๒๐๐ คน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ๕๕๐๑ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยก่อนหน้านั้นในเวลา ๑๒.๐๐ น. ได้เยี่ยมชมแปลงปลูกผักสาธิต โดยใช้สารบำรุงดินที่ได้จากการทำถังขยะเปียกของชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ณ บริเวณสนามหญ้าด้านข้างพระที่นั่งนงคราญสโมสร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

          ดร.วันดี กล่าวว่า สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ เป็นศูนย์กลางขององค์กรสตรีทั่วประเทศ สำหรับชมรมวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานความคิดและร่วมกันดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ สาธารณกุศล รวมถึงส่งเสริม สนับสนุน ร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาของเด็กและเยาวชน ส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในพลังของแม่บ้านในการเป็นจิตอาสาห่วงใยสิ่งแวดล้อม ห่วงใยสังคม และชุมชน โดยเชิญชวนให้แม่บ้านนำหลักการ 3Rs หรือ 3ช : Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) ไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการขยะต้นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดี โดยร่วมกับชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด จัดทำถังขยะเปียกในครัวเรือนของตนเอง และช่วยรณรงค์สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะและตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ โดยเชิญชวนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) เพื่อร่วมมือกันดูแลครอบครัวของตนเองให้รู้จักการคัดแยกขยะเปียก ขยะแห้ง และขยะพิษ โดยให้เป็นผู้นำในการสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในครอบครัว ชุมชน ตำบล และหมู่บ้าน ในการมีส่วนร่วมด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ

          ดร.วันดี ยังได้รายงานผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา (ปี ๒๕๖๑) และได้ย้ำถึงเป้าหมายกิจกรรมประจำปี ๒๕๖๒ ให้สมาชิกชมรมแม่บ้านฯ ได้ร่วมกันขับเคลื่อน โดยมี ๔ โครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการบริหารจัดการขยะเศษอาหาร เพื่อทำเป็นสารบำรุงดิน ผ่านการจัดทำ “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายจากการนำสารบำรุงดินที่ได้จากการทำถังขยะเปียกมาใช้ในการปลูกผักสวนครัว หรือประโยชน์ด้านเกษตรกรรมอื่นๆ และที่สำคัญช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนในพื้นที่ ในการลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้น ทั้งยังสามารถเพิ่มรายได้ทางตรง คือรายได้จากการจำหน่ายสารบำรุงดินอีกด้วย ต่อมาคือ โครงการประกวดผลสำเร็จชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด ในการบริหารจัดการขยะเศษอาหารจากครัวเรือน โดยจะมีการสุ่มตรวจและมอบรางวัลให้กับชมรมแม่บ้านฯ ที่มีการรายงานข้อมูลคนแยกขยะเศษอาหาร และจำนวนถังขยะเปียกที่มากที่สุด และร่วมในกระบวนการถอดบทเรียนเลือกชมรมแม่บ้านฯ ที่มีแนวทางการบริหารจัดการที่ดีที่สุด (Best Practice) โดยจะเชิญชวนกรรมการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจด้วย

          นอกจากนี้ ยังมีการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และลดมลภาวะที่เป็นพิษต่อสภาวะแวดล้อม (Carbon Credit) ซึ่งที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ร่วมกับชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด และ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ จัดทำโครงการวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการจัดทำถังขยะเปียก ในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยลงพื้นที่ ๔ จังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ(จังหวัดลำพูน) ภาคกลาง(จังหวัดลพบุรี) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(จังหวัดเลย) และภาคใต้(จังหวัดสงขลา) ดำเนินการเก็บตัวอย่างวัดปริมาณขยะจริงของครัวเรือนที่ร่วมโครงการฯ จำนวน ๒,๔๐๐ ครัวเรือน ทั้งยังเก็บตัวอย่างในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนในสังกัด อปท. จำนวน ๔๐ และ ๒๐ แห่งตามลำดับเป็นเวลา ๑ เดือน เพื่อวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยของปริมาณขยะเศษอาหารต่อคน เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของ สถ. ในการลดภาระการจัดการขยะของส่วนรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารปรับปรุงดิน

          ซึ่งในอนาคตนี้ การจัดทำถังขยะอินทรีย์ หรือถังขยะเปียกครัวเรือน สามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการดำเนินโครงการถังขยะเปียกรักษ์โลก และสามารถขึ้นทะเบียนรับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทยตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change :UNFCCC) เพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ซึ่งหากการดำเนินการนี้เกิดผลสำเร็จ ก็จะเป็นการสร้างรายได้ในอนาคตอีกด้วยนั่นเอง ดร.วันดี กล่าวในตอนท้าย